ข้ามไปเนื้อหา

เกาะบูเว

พิกัด: 54°25′S 3°22′E / 54.42°S 03.36°E / -54.42; 03.36
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เกาะบูเว

ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะบูเว ค.ศ. 1898
ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะบูเว ค.ศ. 1898
ที่ตั้งของเกาะบูเว (ระบุด้วยวงกลมสีแดงในมหาสมุทรแอตแลนติก)
ที่ตั้งของเกาะบูเว (ระบุด้วยวงกลมสีแดงในมหาสมุทรแอตแลนติก)
ประเทศ นอร์เวย์
ผนวกโดยนอร์เวย์23 มกราคม ค.ศ. 1928 (1928-01-23)
สถานะเขตสังกัด27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 (1930-02-27)
ประกาศเป็นเขตสงวน17 ธันวาคม ค.ศ. 1971 (1971-12-17)
การปกครอง
 • ประเภทเขตสังกัดภายใต้ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
 • พระมหากษัตริย์ฮารัลด์ที่ 5
 • ควบคุมโดยกระทรวงยุติธรรมและความมั่นคงสาธารณะ
พื้นที่
 • ทั้งหมด49 ตร.กม. (19 ตร.ไมล์)
 ธารน้ำแข็ง: 93%
ความสูงจุดสูงสุด780 เมตร (2,560 ฟุต)
ประชากร
 • ประมาณ0
รหัส ISO 3166BV
โดเมนบนสุด
^a โดเมนระดับบนสุด .bv ถูกจัดสรรแก่เกาะบูเว แต่ไม่ได้นำมาใช้

เกาะบูเว (อังกฤษ: Bouvet Island /ˈbv/; นอร์เวย์: Bouvetøya[1] [bʉˈvèːœʏɑ][2] บูเวเอยยา) เป็นเกาะภูเขาไฟกึ่งแอนตาร์กติกและเขตสงวนธรรมชาติที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางใต้สุดของเทือกเขากลางสมุทรแอตแลนติก เกาะบูเวเป็นดินแดนในภาวะพึ่งพิงของประเทศนอร์เวย์ ตามด้วยเกาะปีเตอร์ที่ 1 และควีนม็อดแลนด์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของสามเขตสังกัดของนอร์เวย์ และเป็นเขตสังกัดเดียวที่อยู่นอกเหนือภูมิภาคในระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติก

เกาะบูเวเป็นเกาะห่างไกลที่สุดในโลก[3] เพราะที่ตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่คือชายฝั่งพรินเซสอัสตริดของควีนม็อดแลนด์ 1,700 กิโลเมตรทางทิศเหนือ[4] และแผ่นดินใหญ่ที่มีผู้อยู่อาศัยคือแหลมอะกะลัสของประเทศแอฟริกาใต้ 2,200 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้[1][5] เกาะบูเวมีพื้นที่ทั้งหมด 49 ตารางกิโลเมตร[1] ร้อยละ 93 ของพื้นที่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง[6] ศูนย์กลางเป็นปล่องภูเขาไฟรูปโล่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง[7] และจุดสูงสุดอยู่บนยอดเขาโอลาฟ (Olavtoppen) ด้วยความสูง 780 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[6] ชายฝั่งรายล้อมด้วยเกาะโขดหินบางส่วนและเกาะขนาดเล็กกว่าแห่งหนึ่งคือเกาะลาร์ส (Larsøya) ที่ขึ้นฝั่งอย่างง่ายเพียงแห่งเดียวอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือชื่อนีเรยซา (Nyrøysa) สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนเกาะบูเวนั้นมีเพียงแค่นกทะเลและแมวน้ำ[8]

นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ฌ็อง-บาติสต์ ชาร์ล บูเว เดอ โลซีเย พบเกาะบูเวเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1739[9] โดยเขาระบุพิกัดของเกาะคลาดเคลื่อน[10] ทำให้นักสำรวจคนอื่นไม่พบเกาะจนกระทั่งการเดินทางของเจมส์ ลินด์ซีย์ และทอมัส ฮอปเปอร์ ใน ค.ศ. 1808[11] เบนจามิน มอร์เรล ใน ค.ศ. 1822 ผู้สามารถขึ้นฝั่งได้เป็นครั้งแรกตามบันทึกของเขาซึ่งเป็นข้อสงสัยจากนักวิชาการ[12] และจอร์จ นอร์ริส ใน ค.ศ. 1825 ผู้อ้างสิทธิเหนือเกาะเป็นของสหราชอาณาจักร[13][14] และพบเกาะทอมป์สันตั้งอยู่ใกล้เคียง ซึ่งภายหลังถูกเผยว่าเป็นเกาะที่ไม่มีอยู่จริง[15] พวกเขาต่างบันทึกพิกัดของเกาะแตกต่างกัน จนถึงการเดินทางวัลดีวีอาของนักชีววิทยาทางทะเลชาวเยอรมัน คาร์ล คุน ใน ค.ศ. 1898 ได้ระบุพิกัดของเกาะอย่างแม่นยำ[14]

คณะเดินทางนอร์วีเจียครั้งที่หนึ่งอยู่อาศัยระยะยาวบนเกาะครั้งแรกใน ค.ศ. 1927 พร้อมอ้างสิทธิเป็นของนอร์เวย์และตั้งชื่อตามบูเว เดอ โลซีเย[16] สหราชอาณาจักรพิพาทการอ้างสิทธิของนอร์เวย์ก่อนจะสละสิทธิของตน[17] เกาะบูเวถูกประกาศเป็นเขตสังกัดของนอร์เวย์ตามพระราชบัญญัติ ค.ศ. 1930 ภายใต้การควบคุมของกรมกิจการขั้วโลก กระทรวงยุติธรรมและความมั่นคงสาธารณะ[18] พื้นที่ทั้งหมดและน่านน้ำอาณาเขตของเกาะบูเวได้รับการคุ้มครองเป็นเขตสงวนธรรมชาติใน ค.ศ. 1971[19] และพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกจากเบิร์ดไลฟ์อินเตอร์เนชันแนล[20] การสำรวจทางวิทยาศาสตร์บนเกาะเริ่มต้นใน ค.ศ. 1978[21] โดยสถาบันขั้วโลกนอร์เวย์จัดตั้งสถานีวิจัยและสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติบนนีเรยซา และส่งนักวิจัยมาประจำการทุกฤดูร้อน[22]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Bouvetøya". Stadnamn i norske polarområde. Norwegian Polar Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 March 2013.
  2. Berulfsen 1969, p. 51.
  3. "Volcanology Highlights". Global Volcanism Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2012.
  4. Barr 1987, p. 58.
  5. "Bouvetøya". Norwegian Polar Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 April 2012.
  6. 6.0 6.1 Barr 1987, p. 59.
  7. "Bouvet". Global Volcanism Program. Smithsonian Institution.
  8. Huyser 2001, p. 114.
  9. Mills 2003, p. 96.
  10. Mill 1905, p. 47.
  11. Burney 1817, p. 35.
  12. Mills 2003, p. 434-435.
  13. Barr 1987, p. 62.
  14. 14.0 14.1 Barr 1987, p. 63.
  15. "Thompson Island". Global Volcanism Program. Smithsonian Institution. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 September 2012.
  16. Baker 1967, p. 72.
  17. Kyvik 2008, p. 52.
  18. "Lov om Bouvet-øya, Peter I's øy og Dronning Maud Land m.m. (bilandsloven)" (ภาษานอร์เวย์). Lovdata. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 December 2013.
  19. "Forskrift om fredning av Bouvetøya med tilliggende territorialfarvann som naturreservat" (ภาษานอร์เวย์). Lovdata. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 June 2014.
  20. Huyser 2001, p. 113.
  21. Rubin 2005, p. 155.
  22. Molde, Eivind (7 February 2014). "Ny «ekstremstasjon» på Bouvetøya" (ภาษานอร์เวย์). NRK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2023.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

54°25′S 3°22′E / 54.42°S 03.36°E / -54.42; 03.36