ฮิปโปโปเตมัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮิปโปโปเตมัส
ฮิปโปโปเตมัสในสวนสัตว์
ส่วนหัวเมื่อแช่อยู่ในน้ำ
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix II (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับใหญ่: Cetartiodactyla
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Hippopotamidae
สกุล: Hippopotamus
สปีชีส์: H.  amphibius
ชื่อทวินาม
Hippopotamus amphibius
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ สีแดงคือการกระจายพันธุ์ในอดีต ส่วนสีเขียวคือการกระจายพันธุ์ในปัจจุบัน

ฮิปโปโปเตมัส หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ฮิปโป (อังกฤษ: Hippopotamus; Hippo) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชชนิดหนึ่ง ในอันดับสัตว์กีบคู่ จัดอยู่ในวงศ์ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamidae) โดยเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดของวงศ์นี้ที่ยังสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน (อีกชนิดนั้นคือ ฮิปโปโปเตมัสแคระ (Choeropsis liberiensis) ที่พบในป่าดิบชื้นของแอฟริกาตะวันตก[3])

ชื่อ "ฮิปโปโปเตมิก" มาจากภาษากรีกคำว่า ἵππος (hippos) หมายถึง "ม้า" และ ποταμός (potamos) หมายถึง "แม่น้ำ" รวมแล้วหมายถึง "ม้าแม่น้ำ" หรือ "ม้าน้ำ" (ἱπποπόταμος) เนื่องจากมีส่วนหัวคล้ายม้ามาก โดยเฉพาะยามเมื่ออยู่ในน้ำ[4][5]

ลักษณะ[แก้]

ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างอ้วนกลมใหญ่เทอะทะเหมือนหมู มีจุดเด่น คือ มีส่วนหัวใหญ่และปากกว้างมาก ภายในปากมีเขี้ยวล่างยาวโค้งมาก ที่มีความยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร (1.3 ฟุต) และยาวได้มากที่สุด 50 เซนติเมตร (1.6 ฟุต) ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้และป้องกันตัว โดยเฉพาะในตัวผู้ที่มีความดุร้ายก้าวร้าว ผิวหนังหนามีต่อมเมือกเคลือบอยู่ ตัวมันเองเลยต้องอยู่ใต้น้ำตลอดเวลาเพื่อให้ผิวของมันชุ่มชื้น ไม่ยังงั้นผิวของมันจะแตก ลำตัวมีขนสั้นและน้อยมาก จมูก, หู และตาอยู่ตอนบนของหัว เพื่อสะดวกยามเมื่ออยู่ในน้ำ น้ำหนักตัวหนักมากได้ถึง 2–4 ตัน นับว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนบก รองจากช้างและ แรด เหงื่อของฮิปโปโปเตมัสมีลักษณะเป็นเมือกสีแดงอ่อน คล้ายเลือดเคลือบอยู่เพื่อป้องกันแมลงและเพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา[6] ฮิปโปโปเตมัสสามารถดำน้ำได้มากถึง 5 นาที

ฮิปโปโปเตมัส กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา โดยพบได้ตั้งแต่ตอนใต้ของสะฮาราลงไป แม้จะเป็นสัตว์บก แต่ฮิปโปโปเตมัสมักจะอาศัยอยู่ในน้ำในเวลากลางวัน โดยพบได้ทั้งแม่น้ำ, หนองน้ำ, ทะเลสาบ หรือปลักโคลน แต่จริงๆแล้วฮิปโปว่ายน้ำไม้ได้แต่ใช้การเดินใต้น้ำแทนและดำน้ำได้เก่งมาก สามารถเดินท่องไปในใต้น้ำ เป็นสัตว์ที่อยู่รวมเป็นฝูง ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่เมื่อถ่ายมูลแล้ว จะถ่ายออกมาเป็นจำนวนมากในน้ำ เมื่อถ่ายแล้วจะมีปลากินพืชจำพวกปลาตะเพียนหรือปลาหมอสีตามมากิน หรือแม้กระทั่งตอดตามผิวหนังเพื่อกำจัดปรสิตให้[7] ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน โดยจะขึ้นจากน้ำมาหากินบนบก อาหารได้แก่ หญ้านานาชนิด รวมทั้งพืชน้ำ เช่น กกและอ้อ กินหญ้าโดยใช้ริมฝีปากที่แข็งงับแล้วดึงให้ขาดทั้งกอ[6] โดยกินอาหารวันละประมาณ 40 กิโลกรัม ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดน้ำหนักและร่างกาย และมีระยะทางหากินไกลประมาณ 6 กิโลเมตร[8] เขี้ยวของฮิปโป ยาวมากที่สุดถึง 50 เซนติเมตร เจ้าฮิปโปไม่ได้ใช้เขี้ยวสำหรับกินอาหารหรอกนะ มันใช้สำหรับการต่อสู้โดยเฉพาะ

เมื่ออ้าปาก
ฮิปโปโปเตมัสเมื่อต่อสู้กัน
ภาพเคลื่อนไหวความเป็นอยู่ในธรรมชาติ

ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่มีอุปนิสัยดุร้ายฉุนเฉียวมาก โดยเฉพาะในช่วงผสมพันธุ์ ตัวผู้จะสู้กันอย่างรุนแรง เมื่อตกใจหรือได้รับบาดเจ็บจะดุร้ายมาก หรือในวันที่อากาศร้อน ฮิปโปโปเตมัสโดยเฉพาะตัวผู้จะดุร้าย และฮิปโปโปเตมัสที่เป็นแม่ลูกอ่อนจะมีอารมณ์ที่ค่อยข้างจะดุร้ายตลอดเวลาด้วยความหวงลูก ฮิปโปโปเตมัสยังเป็นสัตว์ที่อ้าปากได้กว้างที่สุดในโลกอีกด้วย ด้วยสามารถอ้าได้กว้างเกือบถึง 180 องศา[9] และยังเป็นสัตว์ที่มีแรงกัดของกรามมากที่สุดอีกชนิดหนึ่งในอาณาจักรสัตว์โลกทั้งหมดด้วย ด้วยมีแรงมากถึง 1,825 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นับว่าเป็นสัตว์ที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดในทวีปแอฟริกา ชนิดที่มีมนุษย์ต้องได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของฮิปโปโปเตมัสมากกว่าปลาฉลามหรือจระเข้เสียอีก[10] [11]อีกทั้งสัตว์ร้ายขนาดใหญ่ เช่น จระเข้เมื่อเผชิญหน้าต่อฮิปโปโปเตมัสก็ยังต้องเป็นฝ่ายล่าถอยไป[11] และยังมีรายงานว่าแม้กระทั่งฮิปโปโปเตมัสที่เป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์มาตั้งแต่ยังเล็ก ทำร้ายเจ้าของถึงกระทั่งเสียชีวิต[12]

ฮิปโปโปเตมัสตัวผู้จะใช้หางปัดเวลาถ่ายมูลให้กระเด็นไปรอบ ๆ เพื่อบอกอาณาเขต ฮิปโปโปเตมัสผสมพันธุ์ได้ตลอดปีส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์กันในน้ำ ตกลูกครั้งละ 1 ตัว ระยะเวลาตั้งท้องนาน 227–240 วัน (8 เดือน) ตัวเมียมีเต้านม 2 เต้า ลูกฮิปโปโปเตมัสดูดนมในน้ำ หย่านมเมื่ออายุราว 4–8 เดือน ลูกฮิปโปโปเตมัสอาจจะเกิดบนบกหรือในน้ำก็ได้ แรกเกิดมีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 ปอนด์ ตัวเมียเฉลี่ยจะออกลูกประมาณ 2 ปีต่อครั้ง อายุยืนเต็มที่ราว 60–70 ปี[6] [8] ฮิปโปวิ่งเร็วกว่า อูเซนต์ โบลท์(นักวิ่งที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก) อูเซนต์ โบลท์วิ่งได้เร็ว 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ฮิปโปวิ่งได้เร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ฮิปโปโปเตมัสปัจจุบันจัดว่าเป็นสัตว์ที่หายากมากขึ้น ปัจจุบันฮิปโปแคระที่อาศัยอยู่ในอัฟริกาตะวันตก เหลือยู่เพียง 2,000 – 3,000 ตัว

การจำแนก[แก้]

ฮิปโปโปเตมัสถูกจำแนกออกเป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ตามลักษณะทางสัณฐาน[9]

ในสถานที่เลี้ยง[แก้]

ปัจจุบัน ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่ถูกจัดแสดงตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก หลายตัวกลายเป็นดาวเด่นหรือตัวดึงดูดใจประจำสวนสัตว์ หลายแห่งมีการเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ประสบความสำเร็จ เช่น แม่มะลิ ฮิปโปโปเตมัสตัวเมียที่สวนสัตว์เขาดิน ของประเทศไทย ที่ตกลูกมาแล้วถึง 14 ตัว[13] โดยฮิปโปโปเตมัสจำนวนมากที่สุดที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา อยู่ที่สระน้ำ ภายในสวนสาธารณะฮาเซียนดานาโปน ในประเทศโคลอมเบีย จำนวนทั้งสิ้น 35 ตัว โดยเป็นฮิปโปโปเตมัสที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์เพียง 4 ตัว ที่ปาโบล เอสโกบาร์ นักค้ายาเสพติดชื่อดังในอดีตชาวโคลอมเบีย ซื้อมาจากสวนสัตว์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1980 โดยสวนสาธารณะแห่งนี้เดิมเคยเป็นสวนสัตว์ส่วนตัวของเอสโกบาร์มาก่อน[14]

และในธรรมชาติ สถานที่ ๆ พบฮิปโปโปเตมัสได้มากที่สุด คือ แม่น้ำลูแองวา ในประเทศแซมเบีย ซึ่งเป็นสาขาหลักของแม่น้ำแซมเบซี[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Lewison, R. & Oliver, W. (IUCN SSC Hippo Specialist Subgroup) (2008). Hippopotamus amphibius. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2008-06-30. Database entry includes a brief justification of why this species is of endangered.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ iucn status 19 November 2021
  3. Laws, Richard (1984). Macdonald, D. (บ.ก.). The Encyclopedia of Mammals. New York: Facts on File. pp. 506–511. ISBN 0-87196-871-1.
  4. ἱπποπόταμος, ἵππος, ποταμός. Liddell, Henry George; Scott, Robert; A Greek–English Lexicon at Perseus Project.
  5. "Hippopotamus". Merriam-Webster's Online Dictionary. สืบค้นเมื่อ 2007-07-18.
  6. 6.0 6.1 6.2 "ฮิปโปโปเตมัส". สวนสัตว์เชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-08. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  7. "Hippopotamus". sandiegozoo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-02-08. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  8. 8.0 8.1 8.2 จุดประกาย 7 WILD, อาชาแห่งลุ่มแม่น้ำ. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10514: วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
  9. 9.0 9.1 Eltringham, S.K. (1999). The Hippos. Poyser Natural History Series. Academic Press. ISBN 0-85661-131-X.
  10. "11 นัก 'กัด' สุดแรงที่ไม่มีใครอยากลองดี". animals.spokedark.tv. 24 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-21. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  11. 11.0 11.1 "Hippo Dung Threatens Fish in Kenya River Studied With Crocodile Boats". guardianlv.com/. 28 May 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  12. "เจ้าของถูกฮิปโปที่เลี้ยงไว้ขย้ำจนเสียชีวิตในแอฟริกาใต้". สนุกดอตคอม. 14 November 2011. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  13. "เขาดินเตรียมจัดงานให้ฮิปโป'แม่มะลิ' ฉลองครบรอบวันเกิดอายุ48ปี". แนวหน้า. September 25, 2014. สืบค้นเมื่อ 13 July, 2016. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. หน้า 7, มรดกจากราชายาเสพติด. "โลกาภิวัฒน์ GLOBALLIZATION. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21358: วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hippopotamus amphibius ที่วิกิสปีชีส์