ข้ามไปเนื้อหา

อ็องตวน อ็องรี แบ็กแรล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อ็องตวน อ็องรี แบ็กแรล
อ็องรี แบ็กแรล, นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส
เกิด15 ธันวาคม ค.ศ. 1852(1852-12-15)
ปารีส, จักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง
เสียชีวิต25 สิงหาคม ค.ศ. 1908(1908-08-25) (55 ปี)
Le Croisic, แคว้นเบรอตาญ, สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่สาม
สัญชาติฝรั่งเศส
ศิษย์เก่าÉcole Polytechnique
École des Ponts et Chaussées
มีชื่อเสียงจากผู้ค้นพบกัมมันตภาพรังสี
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์, เคมี
สถาบันที่ทำงานConservatoire des Arts et Metiers
École Polytechnique
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฝรั่งเศส
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกมารี กูว์รี
ลายมือชื่อ
หมายเหตุ
เขาเป็นพ่อของฌ็อง แบ็กแรล, ลูกชายของEdmond Becquerel และหลานชายของAntoine César Becquerel

อ็องตวน อ็องรี แบ็กแรล (ฝรั่งเศส: Antoine Henri Becquerel, /bɛkʀɛl/; 15 ธันวาคม พ.ศ. 2395 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2451) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส เกิดในตระกูลที่มีนักวิทยาศาสตร์ถึง 4 รุ่น ตั้งแต่รุ่นปู่จนกระทั่งรุ่นลูก เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2446 ร่วมกับปีแยร์ กูรี และมารี กูรี หลังจากที่เขาถึงแก่กรรม ชื่อสกุลของเขาได้กลายเป็นหน่วยวัดกัมมันตภาพ ในระบบหน่วยเอสไอ คือ แบ็กแรล เขียนด้วยสัญลักษณ์ Bq

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

อ็องรี แบ็กแรล เกิดที่กรุงปารีส โดยเป็นบุตรของอาแล็กซ็องดร์-แอดมง แบ็กแรล (Alexandre-Edmond Becquerel) ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ที่ศึกษาเกี่ยวกับทัศนศาสตร์ ไฟฟ้า และแม่เหล็ก อ็องรีได้เข้าเรียนในโรงเรียน เอกอลปอลีแต็กนิก (École Polytechnique) ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างฝีมือทหารของฝรั่งเศส และต่อมาก็เข้าเรียนใน เอกอลเดปงเซโชเซ (École des Ponts et Chaussées) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ในด้านชีวิตครอบครัว อ็องรีสมรสกับหลุยส์ เดซีเร ลอรีเยอ (Louise Désirée Lorieux) มีบุตร 1 คน คือ ฌ็อง แบ็กแรล (Jean Becquerel) ซึ่งก็ได้เป็นนักฟิสิกส์เช่นเดียวกับอ็องรี ต่อมา ในปี พ.ศ. 2451 อ็องรีได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (Académie des Sciences) และถึงแก่กรรมที่เลอครัวซี (Le Croisic) ในแคว้นเบรอตาญ ในปีเดียวกันกับที่ได้รับเลือก

ชีวิตการงาน และงานวิจัยที่สำคัญ

[แก้]
ภาพหมอกจากแผ่นฟิล์มที่อ็องรี แบ็กแรลได้ทดลองนำกัมมันตภาพรังสีมาวางบนแผ่นฟิล์มที่ปกปิดอย่างดี แต่ก็ไม่อาจต้านทานการทะลุทะลวงได้

ในปี พ.ศ. 2435 อ็องรีได้เป็นคนที่สามในตระกูลแบ็กแรล ที่ได้เป็นภัณฑารักษ์ส่วนฟิสิกส์ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติฝรั่งเศส (Muséum National d'Histoire Naturelle) อีกสองปีให้หลัง เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้านายช่างประจำกรมการสะพานและทางหลวง

นับจากที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้านายช่าง 2 ปี อ็องรีได้ศึกษาการเรืองแสงอย่างช้า (phosphorescence) ในเกลือยูเรเนียม จนเขาได้พบกัมมันตรังสีเข้าโดยบังเอิญ โดยเขาได้วางโพแทสเซียมยูเรนิลซัลเฟต ซึ่งตกทอดมาจากพ่อของเขา ไว้บนฟิล์มถ่ายรูปและวัสดุดำ จากนั้นนำไปตั้งไว้กลางแดด โดยเขาได้อธิบาย ณ ที่ประชุมวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส มีใจความดังนี้

เมื่อหุ้มฟิล์มถ่ายรูปลูมีแยร์ด้วยกระดาษดำหนา ๆ ซึ่งมีสารพวกโบรไมด์คั่นอยู่ ฟิล์มนั้นจะไม่มีลายหมอก แม้ตั้งไว้กลางแดดจ้า เมื่อวางสารนั้น (โพแทสเซียมยูเรนิลซัลเฟต) บนกระดาษซึ่งทับห่อนั้น จากนั้นนำไปวางไว้กลางแดด แล้วเอาฟิล์มนั้นมาล้าง จะพบว่ามีลายหมอกเป็นสีดำบนภาพเนกะทีฟ (ภาพที่ยังไม่ได้อัด) เมื่อใดที่เอาวัตถุอื่นใดปกปิดสารนั้น แล้วทดลอง ก็ปรากฏรูปวัตถุนั้น ๆ บนฟิล์ม...ดังนั้นจึงสรุปว่า สารนั้นมีกัมมันตรังสีจริง รังสีนั้นผ่านทะลุกระดาษหนา ๆ ได้ และรีดิวซ์เงิน (โลหะ)ได้[2]

จากการค้นพบนี้เอง ทำให้อ็องรีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ร่วมกับสองสามีภรรยาตระกูลกูรี ในปี พ.ศ. 2446

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Fellows of the Royal Society". London: Royal Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 March 2015.
  2. Comptes Rendus 122, 420 (1896), แปลโดย Carmen Giunta. เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]