อุปกิเลส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุปกิเลส (อ่านว่า อุปะกิเหลด, อุบปะกิเหลด) แปลว่า ธรรมชาติที่เข้าไปทำให้ใจเศร้าหมอง, เครื่องทำให้ใจเศร้าหมอง หมายถึง สิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัวไม่แจ่มใส ทำให้ใจหม่นไหม้ ทำให้ใจเสื่อมทราม กล่าวโดยรวมก็คือสิ่งที่ทำให้ใจสกปรก ไม่สะอาดบริสุทธิ์นั่นเอง อุปกิเลส แสดงไว้ 16 ประการคือ

  1. อภิชฌาวิสมโลภะ ความเพ่งเล็งอยากได้ไม่เลือกที่ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้
  2. พยาบาท ความพยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์
  3. โกธะ ความโกรธ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจ
  4. อุปนาหะ ความผูกเจ็บใจ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย
  5. มักขะ ความลบหลู่บุญคุณ ไม่รู้จักบุญคุณ , ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า “คนอกตัญญู”
  6. ปลาสะ (อ่านว่า ปะลาสะ) ความตีเสมอ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่น
  7. อิสสา ความริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
  8. มัจฉริยะ ความตระหนี่หวงแหน แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม
  9. มายา ความปกปิดสภาพธรรมความจริงในตน เช่นการกดความคิดความรู้สึกจริงๆไว้ไม่ให้รู้ชัด การพยายามไม่นึกถึง ไม่ตรงไปตรงมากับตนเอง และ ผู้อื่น
  10. สาเถยยะ ความโอ้อวด
  11. ถัมภะ ความหัวดื้อถือรั้น จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์
  12. สารัมภะ ความแข่งดี แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม
  13. มานะ ความสำคัญตัว ว่าเหนือกว่าเขา เสมอเขา หรือ ต่ำกว่าเขา
  14. อติมานะ ความดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก
  15. มทะ ความมัวเมา ความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี 4 ประการ ได้แก่ 1.เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง 2.เมาในวัย 3.เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค และ 4. เมาในทรัพย์
  16. ปมาทะ ความประมาทเลินเล่อ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก

อุปกิเลส ทั้ง 16 ประการนี้ แม้ประการใดประการหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในใจแล้วก็จะทำให้ใจสกปรกไม่ผ่องใสทันที และจะส่งผลให้เจ้าของใจหมดความสุขกายสบายใจ เกิดความเร่าร้อน หรือเกิดความฮึกเหิมทะนงตัว เต้นไปตามจังหวะที่อุปกิเลสนั้นๆ บงการให้เป็นไป

อ้างอิง[แก้]