อำเภอท่าแซะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอท่าแซะ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Tha Sae
ภาพเขียนสีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่บนผนังถ้ำอ้ายเตย์ วัดเทพเจริญ (วัดถ้ำรับร่อ)
ภาพเขียนสีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อยู่บนผนังถ้ำอ้ายเตย์ วัดเทพเจริญ (วัดถ้ำรับร่อ)
คำขวัญ: 
พ่อตาหินช้างเรืองเดช เข้าเขตประตูภาคใต้
ไหว้เสด็จในกรม ชมถ้ำเก่าแก่ แหล่งเผยแพร่
วัฒนธรรม น้ำตกงามธรรมชาติ แดนยุทธศาสตร์ 491
แผนที่จังหวัดชุมพร เน้นอำเภอท่าแซะ
แผนที่จังหวัดชุมพร เน้นอำเภอท่าแซะ
พิกัด: 10°39′54″N 99°10′24″E / 10.66500°N 99.17333°E / 10.66500; 99.17333
ประเทศ ไทย
จังหวัดชุมพร
พื้นที่
 • ทั้งหมด1,485.0 ตร.กม. (573.4 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด86,622 คน
 • ความหนาแน่น58.33 คน/ตร.กม. (151.1 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 86140, 86190 (เฉพาะตำบลหินแก้วและหมู่ที่ 1-9, 11-18, 20-22 ตำบลรับร่อ)
รหัสภูมิศาสตร์8602
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอท่าแซะ หมู่ที่ 6
ถนนเพชรเกษม ตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 86140
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ท่าแซะ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชุมพร และเป็นอำเภอเดียวของจังหวัดชุมพรที่่มีอาณาเขตติดกับประเทศพม่า เป็นอำเภอที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดชุมพร

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอท่าแซะมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้

ประวัติ[แก้]

เมืองท่าแซะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองชุมพรจึงเป็นสมรภูมิรับศึกจากพม่าที่เข้าตีเมืองทุกครั้ง เมืองท่าแซะปรากฏตามคำบอกเล่าของชาวกรุงเก่า ตามพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่าเมืองท่าแซะเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นเมืองจัตวา เมืองหน้าด่านขึ้นตรงกับเมืองชุมพรซึ่งเป็นเมืองตรี ผู้ครองเมืองท่าแซะมีบรรดาศักดิ์ว่า พระเทพไชยบุรินทร์

เมืองท่าแซะตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดการปรับปรุงท้องที่เป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ให้ลดฐานะเมืองท่าแซะ เมืองปะทิว เมืองกำเนิดนพคุณ เป็นอำเภอขึ้นต่อมณฑลชุมพร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเทพไชยบุรินทร์ (คล้าย ฐิตะฐาน) ดำรงตำแหน่งกรมการอำเภอ (นายอำเภอ) คนแรก ขณะนั้นที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ระหว่างวัดแหลมยางกับวัดยางฆ้อ พ.ศ. 2462 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศแจ้งความวันที่ 19 สิงหาคม พ. ศ. 2462 ให้ยุบอำเภอท่าแซะเป็นกิ่งอำเภอท่าแซะโอนการปกครองขึ้นกับอำเภอปะทิว โดยอ้างว่าท้องที่อำเภอท่าแซะโดยมากยังเป็นป่าเขา การงานมีน้อย หมู่บ้านและตำบลมีตั้งค่อนไปทางอำเภอปะทิว ทางไปมาสะดวก อำเภอปะทิวมีคนมากการทำมาหากินกำลังเจริญ พ.ศ. 2464 ย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านแหลมยางมาตั้งที่บ้านตะโหนกการ้อง (จุดที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรในปัจจุบัน) ต่อมาทางราชการเห็นว่าท่าแซะมีท้องที่กว้างขวาง มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่า และมีประชาชนอยู่หนาแน่น ทางราชการโดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ ณ วันที่ 8 ตุลาคม พ. ศ. 2483 ยกฐานะกิ่งอำเภอท่าแซะเป็นอำเภอท่าแซะอีกครั้งหนึ่งจนปัจจุบัน

อำเภอท่าแซะเป็นเมืองหน้าด่านของเมืองชุมพรในสมัยโบราณ ในการรณรงค์สงครามไทยกับพม่าทุกๆ ปีจะต้องมีการเตรียมตัวป้องกันการรุกรานของพม่าข้าศึกเพราะข้าศึกจะมาตีเมืองชุมพรได้ต้องเดินผ่านอำเภอท่าแซะ ท่าแซะจึงเป็นสมรภูมิรับศึกฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้สถานที่ต่างๆ มีชื่อเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ ตำบลทัพรอ (กองทัพพม่าเดินทัพพม่าผ่านมาทางพื้นที่นี้ก็รอทัพไว้ จึงเรียกนามตำบลนี้ว่า ทัพรอ ต่อมาได้เรียกพื้นที่เป็น รับร่อ ในปัจจุบัน)

  • วันที่ 15 ตุลาคม 2483 ยกฐานะตำบลท่าแซะ ตำบลนากระตาม ตำบลคุริง ตำบลท่าข้าม ตำบลรับร่อ ตำบลสลุย และตำบลตะเงาะ กิ่งอำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว ขึ้นเป็น อำเภอท่าแซะ[1]
  • วันที่ 20 กันยายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลท่าแซะ ในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าแซะ[2]
  • วันที่ 28 ธันวาคม 2513 จัดตั้งนิคมสหกรณ์ ในท้องที่ตำบลคุริง ตำบลรับร่อ ตำบลท่าข้าม และตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ[3]
  • วันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 ตั้งตำบลหงษ์เจริญ แยกออกจากตำบลสลุย[4]
  • วันที่ 13 กรกฎาคม 2532 จัดตั้งสุขาภิบาลเนินสันติ ในท้องที่บางส่วนของตำบลท่าแซะ[5]
  • วันที่ 29 กรกฎาคม 2534 ตั้งตำบลหินแก้ว แยกออกจากตำบลรับร่อ[6]
  • วันที่ 15 มกราคม 2536 ตั้งตำบลทรัพย์อนันต์ แยกออกจากตำบลคุริง[7]
  • วันที่ 11 สิงหาคม 2536 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลท่าแซะ เพื่อความเหมาะสมในการบริหารจัดการและการทะนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น[8]
  • วันที่ 22 ธันวาคม 2536 ตั้งตำบลสองพี่น้อง แยกออกจากตำบลสลุย[9]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าแซะ และสุขาภิบาลเนินสันติ เป็นเทศบาลตำบลท่าแซะ และเทศบาลตำบลเนินสันติ ตามลำดับ

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอท่าแซะแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 10 ตำบล 116 หมู่บ้าน ได้แก่

ลำดับ อักษรไทย อักษรโรมัน จำนวนหมู่บ้าน จำนวนประชากร
(ธันวาคม 2565)[10]
แผนที่
1. ท่าแซะ Tha Sae
18
11,247
 
2. คุริง Khuring
7
3,720
3. สลุย Salui
8
8,207
4. นากระตาม Na Kratam
11
4,990
5. รับร่อ Rap Ro
23
20,378
6. ท่าข้าม Tha Kham
15
7,082
7. หงษ์เจริญ Hong Charoen
14
12,156
8. หินแก้ว Hin Kaeo
6
5,025
9. ทรัพย์อนันต์ Sap Anan
7
3,944
10. สองพี่น้อง Song Phi Nong
7
9,938

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอท่าแซะประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลท่าแซะ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าแซะ
  • เทศบาลตำบลเนินสันติ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าแซะ
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าแซะ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าแซะ (นอกเขตเทศบาลตำบลท่าแซะและเทศบาลตำบลเนินสันติ)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคุริง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคุริงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสลุย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสลุยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนากระตาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนากระตามทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลรับร่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลรับร่อทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าข้ามทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหงษ์เจริญ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหงษ์เจริญทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหินแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหินแก้วทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทรัพย์อนันต์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทรัพย์อนันต์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสองพี่น้องทั้งตำบล

แหล่งท่องเที่ยว[แก้]

วนอุทยานน้ำตกกะเปาะ

ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลหงษ์เจริญ วนอุทยานฯ มีเนื้อที่ครอบคลุมประมาณ 7,010 ไร่ น้ำตกกระเปาะเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีต้นน้ำจากเขากะเปาะมีลักษณะคล้ายฝายรูปโค้ง กว้างประมาณ 20 ม. สูง 2 ม. มีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับการพักผ่อนและเล่นน้ำตก และบริเวณสวนป่ามีศาลาพักร้อนและสถานที่สำหรับกางเต็นท์พักแรม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานฯ คอยแนะนำแก่นักท่องเที่ยว ณ ที่ทำการชั่วคราววนอุทยานน้ำตกกะเปาะ การเดินทาง ที่ 467 ถ. เพชรเกษม อยู่ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 30 กม. และห่างจากอ. ท่าแซะประมาณ 13 กม. โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 แยกขวาเข้าไปตามถนนลาดยางอีกประมาณ 2 กม.

วัดเทพเจริญ (ถ้ำรับร่อ)

ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลท่าข้าม บริเวณเชิงเขารับร่อ บริเวณหลังวัดจะมีถ้ำที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง มีถ้ำที่สำคัญ 3 ถ้ำ คือ ถ้ำอ้ายเตย์ ถ้ำพระ ถ้ำไทร ซึ่งแต่ละถ้ำจะมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ ภายในบริเวณถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงานและบ่อน้ำ บริเวณศาลาราษฎร์สามัคคียังเป็นที่ตั้งศพของหลวงปู่ไสยที่มรณภาพแล้วแต่ร่างกายไม่เน่าเปื่อย และยังมีรอยพุทธบาทหินทรายสลักลายมงคล 108 ประการ ซึ่งบริเวณถ้ำมีทางเดินเชื่อมแต่ละถ้ำ มีจุดพักผ่อนชมวิว และยังมีสัตว์เลี้ยงให้ชม การเดินทาง จากตัวเมืองชุมพรไปตามเส้นทางหมายเลข 4 ก่อนถึงตัว อ.ท่าแซะ หลักกม.ที่ 490 เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลาดยางอีกประมาณ 4 กม. และถนนคอนกรีตอีก 1 กม. จะถึงหมู่บ้านท่าข้ามและวัดเทพเจริญ

ศาลพ่อตาหินช้าง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลสลุย ศาลพ่อตาหินช้าง เป็นศาลที่ประดิษฐานเทวรูปอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะชองประชาชนทั่วไปที่สัญจรผ่านไปมา เพื่อขอพรต่างๆ และเพื่อให้การเดินทางเป็นไปโดยสวัสดิภาพ และมีร้านค้าชุมชนพ่อตาหินช้าง เป็นระยะทางยาว 1,500 ม. ซึ่งเป็นศูนย์จำหน่วยสินค้าพื้นเมืองและสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เช่น กล้วยเล็บมือนาง และผลไม้ตามฤดูกาล การเดินทาง จากตัวเมืองชุมพรใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 จะอยู่บริเวณริมถนนเพชรเกษมระหว่างหลัก กม. ที่ 453-454

อนุสรณ์สถานด่านทัพต้นไทร (เนิน 491)

ตั้งอยู่บ้านปากด่าน ตำบลหงษ์เจริญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการระดมทุนในการก่อสร้าง เพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่เคารพสักการะของชาวชุมพรและปวงชนชาวไทย ที่ท่านเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของประเทศชาติ การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกันกับ เนิน 491

แนวชายแดนไทย-พม่า ด่านทัพต้นไทร (เนิน 491)

เป็นชื่อเรียกพื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนพรมแดนไทยและสหภาพพม่าตั้งอยู่ในเขตตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ โดยสถานที่แห่งนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของชุมพร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 จากการที่รัฐบาลสหภาพพม่าส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่บริเวณรอบเนิน 491 อันเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย ต่อมารัฐบาลได้ใช้ยุทธวิธีทางการทูตเจรจาจนกองทหารสหภาพพม่าถอนกำลังออกไป ปัจจุบันจังหวัดชุมพรกำลังพัฒนาเนิน 491 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นพักผ่อนหย่อนใจและให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ทางประวัติของไทย

ด่านทัพต้นไทร (เนิน 491) หรือ ด่านจำเริญบ่วงราบ เพื่อเป็นเกียรติภูมิตำรวจไทย วีรกรรมของ ร้อยตำรวจตรีจำเริญ บ่วงราบ หัวหน้ากองปราบปราม สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้ากองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร (หน.พตท.) บุกเข้าเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า ในปี พ.ศ. 2493 ขณะที่ พันตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม ยศขณะนั้น ร้อยตำรวจตรีจำเริญ บ่วงราบ หัวหน้ากองกำลังผสมพลเรือนตำรวจทหาร (หน.พตท.) นำกำลังพลกว่า 100 นาย ข้ามแดนบริเวณ บ้านต้นไทร[11] หรือ ด่านทัพต้นไทร (เนิน 491) เพื่อบุกจับนายแพ้ว อุ้ยนอง ที่ลอบสังหาร นายคุ้ม บ่วงราบ ผู้ปกครองอาณานิคมสยามในเขตตะนาวศรี ผู้เป็นบิดา

การเดินทาง[แก้]

อำเภอท่าแซะเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถเข้าไปเที่ยวชมสภาพธรรมชาติบริเวณแนวชายแดน และในเขตแดนพม่าได้อย่างใกล้ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชายแดนไทยด้านอื่นๆ แต่ทางพม่ายังไม่เปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีระยะทางสู่เนิน 491 อยู่ห่างจากตัวจังหวัดชุมพร ประมาณ 70 กม.

อ้างอิง[แก้]

  1. [1]ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ยกฐานะกิ่งอำเภอท่าแซะ ขึ้นอำเภอปทิว จังหวัดชุมพร ขึ้นเป็นอำเภอ ขนานนามว่า อำเภอท่าแซะ
  2. [2]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  3. [3]พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ ในท้องที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร พ.ศ. ๒๕๑๓
  4. [4]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  5. [5]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลเนินสันติ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  6. [6]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าแซะ กิ่งอำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
  7. [7]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าแซะและอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
  8. [8]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  9. [9]ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
  10. "ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร". stat.bora.dopa.go.th.
  11. บ้านต้นไทร บันทึกตระกูลขุนไกร นายอากร แห่งราชอาณาจักรอยุธยาปลาย

แหล่งข้อมูล[แก้]

  • เปิดตำนาน วีรบุรูษนักรบแห่งคอคอดกระ ดินแดนสองฝั่งทะเล ตอน เจ้าพระยายมราช (ครุฑ)
  • เปิดตำนาน วีรบุรูษนักรบแห่งคอคอดกระ ดินแดนสองฝั่งทะเล ตอน นายคุ้ม บ่วงราบ (เสือคุ้ม) หรือ สมพร
  • บันทึกตระกูลขุนไกร นายอากร แห่งราชอาณาจักรอยุธยา