อัลเฟรท โรเซินแบร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อัลเฟรท โรเซินแบร์ค
Alfred Rosenberg
โรเซินแบร์คในเครื่องแบบยศ ไรชส์ไลเทอร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดินแดนตะวันออกในยึดครอง
ดำรงตำแหน่ง
17 กรกฎาคม 1941 – 8 พฤษภาคม 1945
หัวหน้ารัฐบาลอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปไม่มี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
อัลเฟรท แอ็นสท์ โรเซินแบร์ค

12 มกราคม ค.ศ. 1893(1893-01-12)
เรวัล เขตผู้ว่าการเอสโตเนีย จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต16 ตุลาคม ค.ศ. 1946(1946-10-16) (53 ปี)
เนือร์นแบร์ค เยอรมนี
พรรคการเมืองพรรคนาซี

อัลเฟรท แอ็นสท์ โรเซินแบร์ค (เยอรมัน: Alfred Ernst Rosenberg) เป็นนักทฤษฏีและนักอุดมคติชาวเยอรมัน เขาเป็นบุคคลมีอิทธิพลในพรรคนาซี โรเซินแบร์คถูกแนะนำให้รู้จักกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นครั้งแรกโดยดีทริช เอ็คคาร์ท (ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกรรมกรเยอรมัน) และต่อมาเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในรัฐบาลเยอรมัน

เขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของลัทธิชาติสังคมนิยม รวมทั้งทฤษฏีเชื้อชาติ, การประหัตประหารชาวยิว, เลเบินส์เราม์, การบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย และการต่อต้านศิลปะสมัยใหม่ที่เสื่อมทราม เขาเป็นผู้ตั้งหน่วยที่ชื่อว่า ชุดเฉพาะกิจไรชส์ไลเทอร์ อัลเฟรท โรเซินแบร์ค (Einsatzstab Reichsleiter Rosenberg) ซึ่งมีหน้าที่ค้นยึดศิลปกรรมและจิตรกรรมของชาวยิวในปารีส และต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดินแดนตะวันออกในยึดครอง

โรเซินแบร์คในตำแหน่งรัฐมนตรีฯ เป็นผู้เสนอต่อฮิตเลอร์ให้แบ่งดินแดนตะวันออกที่มีแผนจะยึดจากสหภาพโซเวียตออกเป็นสี่ภาค ได้แก่ ภาคโอสท์ลันท์ (กลุ่มประเทศบอลติกและเบลารุส), ภาคยูเครน (ยูเครนและดินแดนใกล้เคียง), ภาคเคาคาซุส (พื้นที่คอเคซัส) และภาคมอสเคา (มอสโกและพื้นที่รัสเซีย) ต่อมาเมื่อเยอรมนีทำการรุกรานสหภาพโซเวียต ก็ทำการแบ่งดินแดนตามข้อเสนอของโรเซินแบร์ค เริ่มด้วยภาคโอสท์ลันท์และภาคยูเครน

โรเซินแบร์คมองว่าประชากรทั้งหมดของสหภาพโซเวียตเป็นด้อยมนุษย์ (Untermenschen) เพราะฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์[1] และการจะทำให้ประชากรพวกนี้เป็นมนุษย์ จะต้องล้างลัทธิคอมมิวนิสต์ออกจากหัว อย่างไรก็ตาม โรเซินแบร์คในฐานะนักทฤษฎีเชื้อชาติก็มองว่าชาวสลาฟเป็นหนึ่งในชนชาติอารยัน เพียงแต่อยู่ต่ำกว่าชาวเยอรมัน เขามองว่าชาวสลาฟในดินแดนที่ยึดได้ สมควรได้รับการปฏิบัติที่ไม่เลวร้าย ความคิดนี้ทำให้เขาเกิดความขัดแย้งกับองค์การเอ็สเอ็ส ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวสลาฟและต่อกลุ่มชนที่ไม่ใช่ชาวยิว[2]

เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจากการที่เขาแสดงความปฏิเสธและแสดงความเกลียดชังต่อศาสนาคริสต์ เขามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแนวคิดชาตินิยมศาสนาคริสต์เชิงบวก (Positive Christianity) ของเยอรมันที่เนือร์นแบร์ค เขาถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอบนข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. Irving, David (1996) Goebbels: Mastermind of the Third Reich, London: Focal Point. p. 769. ISBN 1872197132
  2. Kevin P. Spicer, Antisemitism, Christian ambivalence, and the Holocaust, Center for Advanced Holocaust Studies, Indiana University Press, 2007, p. 308