หลอดทดลอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หลอดทดลอง
หลอดทดลองขนาดเล็กสองหลอดถือด้วยแคลมพ์สปริง
ชื่ออื่นหลอดเพาะเชื้อ
การใช้ปฏิกิริยาเคมี
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องVacutainer
Boiling tube
Centrifuge tube

หลอดทดลอง (อังกฤษ: test tube) เป็นเครื่องแก้วที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทำด้วยหลอดแก้วหรือพลาสติกสีใส ความยาวประมาณนิ้วมือ มีปากเปิดด้านบนและส่วนใหญ่มีก้นกลมมน หลอดทดลองนั้นมีหลายขนาด ความกว้างมีตั้งแต่ 10 ถึง 20 มม. ส่วนความยาวมีตั้งแต่ 50 ถึง 200 มม.[1] ส่วนใหญ่ด้านบนมีปากที่บานออกเพื่อช่วยในการเทของเหลว และยังช่วยในการแยกหลอดทดลองออกจากหลอดเพาะเชื้อ (culture tube) ซึ่งมีปากตรงหรือเป็นเกลียวเพื่อปิดฝาอีก[2] หลอดทดลองมีทั้งแบบก้นเป็นทรงแบน ทรงกลม หรือ ทรงกรวย นอกจากนี้หลอดทดลองบางอันยังผลิตขึ้นมาเพื่อให้เข้ากับจุกปิดแบบแก้ว หรือฝาเกลียว บนหลอดทดลองมักมีจุดที่เป็นผิวด้านสำหรับทำเครื่องหมายด้วยดินสอ หรือจุดที่เคลือบเงาไว้สำหรับการเขียน

การใช้[แก้]

Louis Lumière กับกล้องจุลทรรศน์ และหลอดทดลอง

หลอดทดลองถูกใช้อย่างแพร่หลายในหมู่นักเคมี เพื่อบรรจุ ผสม หรือ ให้ความร้อนแก่สารเคมีที่เป็นของแข็งหรือของเหลว โดยเฉพาะในการทดลองเชิงคุณภาพ (qualitative experiments) ก้นที่กลมและหลอดที่ตั้งตรง ให้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยลดมวลที่สูญเสียเวลาเท ทำความสะอาดง่ายขึ้น และทำให้การเฝ้าดูสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในได้ง่ายขึ้น หลอดที่ยาวและปากที่แคบช่วยลดการกระจายตัวของก๊าซและไอน้ำสู่สิ่งแวดล้อม

หลอดทดลองซึ่งบรรจุน้ำไว้จนเต็มยังสามารถนำไปคว่ำบนบีกเกอร์ที่เต็มไปด้วยน้ำเพื่อเก็บกักก๊าซ เช่น ในการสาธิตการแยกหรือสกัดสารเคมีด้วยกระแสไฟฟ้า (electrolysis) นอกจากยังมีหลอดทดลองขนาดใหญ่สำหรับต้มของเหลวโดยเฉพาะซึ่งเรียกว่า boiling tube

ตัวอย่างเลือดมนุษย์สำหรับ การตรวจเลือด

โดยปกติแล้วหลอดเพาะเชื้อจะถูกใช้ในชีววิทยาเพื่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด เช่น รา แบคทีเรีย ต้นอ่อน เนื้อเยื่อพืช และ อื่นๆ โดยทางการแพทย์หลอดเพาะเชื้อยังถูกใช้เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดหรือของเหลวอืน ๆ

ส่วนหลอดทดลองที่มีจุกปิดนั้นส่วนใหญ่แล้วถูกใช้เป็นที่เก็บชั่วคราวสำหรับสารเคมีหรือตัวอย่างทางชีววิทยา

หลอดทดลองมักจะถูกวางบนที่วางหลอดทดลองหรือถูกยึดโดยแคลมพ์ (clamp) หรือ คีมเหล็ก (tong) ที่วางหลอดทดลองบางแบบนั้นยังถูกออกแบบมาให้ยึดหลอดทดลองในแนวนอนจนเกือบขนานกับพื้นเพื่อเพิ่มปริมาณของพื้นผิวของอาหารเลี้ยงเชื้ออีกด้วย

นอกจากนี้บางทียังมีการใช้หลอดทดลองนอกห้องปฏิบัติการ เช่น ใช้เป็นแจกันใส่ดอกไม้หรือแม้แต่ใช้ใส่เครื่องปรุงอาหาร 

การผลิต[แก้]

โดยปกติแล้วหลอดทดลองสำหรับฟิสิกส์และเคมีนั้นทำมาจากแก้วเพราะความทนทานต่อความร้อนและสารเคมี และยังใช้ได้เป็นเวลานาน หลอดทีทำมาจากแก้วบอโรซิลิเกต (borosilicate glass) มีคุณสมบัติทนความร้อนได้หลายร้อยองศาเซสเซียส

หลอดเพาะเชื้อปกติจะทำจากพลาสติกใสเช่น พอลิสไตรีน หรือ พอลิพรอพิลีน (polypropylene) โดยการฉีดเข้าไปในแม่พิมพ์[3] และส่วนใหญ่จะทิ้งเมื่อใช้เสร็จ

หลอดทดลองบางทีอาจมากับสารที่เตรียมไว้แล้วในหลอด ตัวอย่างเช่น หลอดหัวฟ้า (blue top tube) ซึ่งคือหลอดทดลองขนาด 5 มล. บรรจุด้วยโซเดียมซิเตรทที่ทำงานเป็นสารต้านการจับตัวเป็นก้อนและใช้สำหรับการเก็บตัวอย่าง[4] 

อ้างอิง[แก้]

  1. MiniScience.com catalog: Test Tube เก็บถาวร 2008-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, accessed March 27, 2009
  2. Thomas Scott (transl., 1996), Concise Encyclopedia: Biology.
  3. M. Jeremy Ashcraft, General Manager, Lake Charles Manufacturing (2007).
  4. TheFreeDictionary > blue top tube Citing: McGraw-Hill Concise Dictionary of Modern Medicine. 2002 by The McGraw-Hill Companies, Inc.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]