ข้ามไปเนื้อหา

หยัด ช้างทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หยัด ช้างทอง
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด24 เมษายน พ.ศ. 2462
จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต8 พฤษภาคม พ.ศ.2539 (77 ปี)
คู่สมรสผิว ทองอยู่
อาชีพข้าราชการนาฏศิลป์ไทย
สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2532 - สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน)

หยัด ช้างทอง (24 เมษายน พ.ศ. 2462 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2539) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) พุทธศักราช 2532

ประวัติ

[แก้]

หยัด ช้างทอง เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2462 ที่บ้านริมคลองประปา แขวงจระเข้น้อย เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของยอด และถนอม ช้างทอง

ฝึกหัดละคร

[แก้]

หยัดเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนวัดรัชดาธิษฐาน จนจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 มีจิตใจชอบการแสดงโขนจึงไม่คิดที่จะศึกษาต่อทางด้านวิชาสามัญ หยัดจึงสมัครเข้าเป็นศิษย์ของพานัส โรหิตาจล ศิลปินโขนผู้มีชื่อเสียงและเป็นศิษย์เอกของพระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต) นาฏศิลปินโขนยักษ์ ตัวเอกในรัชกาลที่ 6 บุตรของทองอยู่ พี่ชายต่างมารดา ของพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) อดีตเจ้ากรมโขนหลวง หยัดได้ฝึกหัดโขนเป็นตัวยักษ์อยู่กับพานัส จนมีความชำนาญในการแสดงโขน สามารถออกโรงแสดงได้ โดยเริ่มตั้งแต่ยักษ์ต่างเมือง เช่น สัทธาสูร มูลพลัม มังกรกัณฐ์ แสงอาทิตย์ จนกระทั่งแสดงเป็นยักษ์ใหญ่ คือเป็นทศกัณฐ์ได้เป็นอย่างดี เป็นที่พอใจของพานัส ผู้เป็นครูเป็นอย่างมาก

เมื่อคณะโขนของพานัส ไปแสดงที่ใดก็ตาม หยัดก็จะติดตามไปแสดงด้วยทุกครั้ง ถ้าไม่มีงานแสดงของตน พานัสก็อนุญาตให้หยัดไปร่วมแสดงโขนกับคณะอื่นได้ การที่หยัดได้มีโอกาสไปแสดงกับโขนคณะอื่นนั้น ทำให้รู้จักมักคุ้นกับเพื่อนศิลปินมากขึ้น ประกอบกับหยัดเป็นคนเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน มีความสามารถในด้านการแสดงสูง จึงเป็นที่พอใจของครูมัลลี คงประภัศร์ หรือที่ศิลปินโขนละครรู้จักกันในนาม “ย่าหมัน” เจ้าของโขนคณะไทยศิริ จึงได้ชักชวนให้หยัดไปสมัครเข้ารับราชการในกรมศิลปากร หยัดจึงนำเรื่องนี้ไปเรียนปรึกษากับพานัส พานัสก็เห็นดีและมีความชื่นชมที่ศิษย์จะได้เข้ารับราชการ มีความเจริญก้าวหน้า จึงสนับสนุนให้หยัดไปสมัครเข้ารับราชการในกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2484 หยัดได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนวิสามัญอยู่ 3 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2487 จึงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งศิลปินจัตวา อัตราเงินเดือน 24 บาท

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นาฏศิลป์โขนเสื่อมลง เนื่องจากขาดผู้สนับสนุนและประชาชนก็หันไปสนใจการแสดงแบบตะวันตกมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาในกรมศิลปากรขณะนั้น จึงให้ศิลปินโขนทั้งหมดแยกย้ายกันไปหัดดนตรีสากล เพื่อจะได้ออกแสดงในงานต่าง ๆ แทนการแสดงโขน หยัดต้องไปหัดเป่าบาสซูน (Bassoon) ซึ่งตนไม่ถนัดและไม่เคยสนใจมาก่อน จึงทำให้เป่าบาสซูนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ต่อมากรมศิลปากรได้ฟื้นฟูการแสดงโขน ละครขึ้นมาใหม่ แล้วนำออกแสดงให้ประชาชนชมทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สัปดาห์ละ 7 รอบ ที่โรงละครศิลปากร ซึ่งตั้งอยู่ข้างพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (โรงละครนี้ได้ถูกไฟไหม้ไปหมด เมื่อคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503) และยังได้ปรับปรุงการเรียนการสอนของโรงเรียนนาฏศิลป (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป) โดยหาครูมาสอนและรับสมัครนักเรียนเพิ่มขึ้น ในระยะนี้หยัดจึงกลับมาแสดงโขนตามเดิม และเป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์โขนฝ่ายยักษ์ให้แก่นักเรียนนาฏศิลป์

เนื่องจากหยัดเป็นผู้ที่สนใจใฝ่หาวิชาความรู้ทางด้านนาฏศิลป์อยู่เสมอ จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ) ศิลปินอาวุโสซึ่งท่านเป็นผู้แสดงโขนในสมัยรัชกาลที่ 6 และนอกจากหลวงวิลาศวงงามแล้ว อร่าม อินทรนัฏ บุตรชายของหลวงวิลาศวงงาม ทศกัณฐ์ผู้มีฝีมือเป็นเอกของกรมศิลปากรก็ได้แนะนำสั่งสอนวิชาการทางด้านนาฏศิลป์ให้แก่หยัดเพิ่มเติมอีกด้วย

ต่อมาเมื่อท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี[1] ได้เข้ามารับราชการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญนาฏศิลป์ไทยของกรมศิลปากร หยัดก็ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านผู้หญิงแผ้ว และได้รับการถ่ายทอดวิชาการด้านนาฏศิลป์โขน ละคร และชุดเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จนหยัดสามารถแสดงละครเป็นตัวเอกได้หลายเรื่อง เช่น ท้าวพันธุมสุริยวงศ์ ในละครเรื่องพระร่วง ชาละวัน ตัวจระเข้ และท้าวรำไพ ในละครเรื่องไกรทอง พระพันวษา และขุนแผน ในละครเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น

ชีวิตครอบครัว

[แก้]

หยัด ช้างทอง สมรสกับผิว ทองอยู่ เมื่อปี พ.ศ. 2490 มีบุตรธิดา 2 คน คือ พเยาว์ พุกบุญมี และยงยุทธ ช้างทอง

เกียรติประวัติ

[แก้]
แผนผังระยะเวลาการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ

หยัดได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับมอบท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นหน้าพาทย์สูงสุดและมีความศักดิ์สิทธิ์ในทางนาฏศิลป์ไทย จากนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ณ โรงละครพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 พร้อมกับศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากรท่านอื่นอีก 3 คน คือ อาคม สายาคม อร่าม อินทรนัฏ และยอแสง ภักดีเทวา[2][3]

ต่อมาอร่าม อาคม และยอแสง ถึงแก่กรรม ผู้ที่จะสามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพจึงเหลือเพียง 2 คน คือนายรงภักดี และหยัด แต่นายรงภักดีก็ชรามากจนไม่สามารถจะรำได้ จึงเหลือเพียงหยัดแต่เพียงผู้เดียวที่ยังสามารถรำได้ แต่ถ้าปล่อยให้กาลเวลาล่วงนานต่อไป หยัดก็จะชราและไม่สามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้นาฏศิลปินโขนฝ่ายยักษ์ของกรมศิลปากรรวม 7 คน เข้ารับการต่อกระบวนรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ในการต่อกระบวนรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ หน้าพระที่นั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ หยัดได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) จนนาฏศิลป์โขนฝ่ายยักษ์ทั้ง 7 คน สามารถรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ หน้าพระที่นั่งได้อย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาด นับว่าหยัด เป็นกำลังอันสำคัญผู้หนึ่งในการต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพในครั้งนั้น

อ้างอิง

[แก้]
  • หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายหยัด ช้างทอง (พ.ศ. 2462 – 2539) ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2532 สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน)
  • จดหมายเหตุพระราชพิธี พระราชทานครอบประธานประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์ องค์พระพิราพ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พุทธศักราช 2527 โดยกรมศิลปากร
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-15. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-07. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.