หมึกสายวงน้ำเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมึกสายวงน้ำเงิน
หมึกสายวงน้ำเงิน ชนิด Hapalochlaena lunulata
ชนิด H. maculosa ซึงเล็กกว่าชนิด H. lunulata ถึง 2-3 เท่า
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
อันดับ: Octopoda
วงศ์: Octopodidae
วงศ์ย่อย: Octopodinae
สกุล: Hapalochlaena
Robson, 1929
ชนิด

หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (อังกฤษ: blue-ringed octopus) เป็นหมึกในสกุล Hapalochlaena ในอันดับหมึกยักษ์ จัดเป็นหมึกขนาดเล็กจำพวกหนึ่ง มีจุดเด่น คือสีสันตามลำตัวที่เป็นจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม ตัดพื้นลำตัวสีขาวหรือเขียว แลดูสวยงามมาก

แต่ทว่า หมึกสายวงน้ำเงินนั้นมีพิษที่ผสมอยู่ในน้ำลายที่มีความร้ายแรงมาก ซึ่งร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ผู้ที่ถูกกัดจะตายภายใน 2-3 นาที ทั้งสามารถฆ่าคนได้ 26 คนในคราวเดียว นับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก[1]

พิษ[แก้]

โดยที่สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า[2] พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิต คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต การปฐมพยาบาลต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย

ต้นกำเนิดของพิษในน้ำลายของหมึกสายวงน้ำเงินเกิดจากผลผลิตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน[3] แบคทีเรียดังกล่าวประกอบด้วย Bacillus และ Pseudomonas พิษเตโตรโดท็อกซินและแบคทีเรียยังพบได้ในไข่ของหมึก สันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการส่งถ่ายความสามารถในการสร้างพิษจากแม่หมึกไปยังลูก โดยพบได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยด้วยซ้ำ

ชนิด[แก้]

หมึกสายวงน้ำเงิน ในปัจจุบันพบทั้งหมด 3 ชนิด (หรืออาจจะ 4 ชนิด) คือ

ขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ จะมีขนาดเท่าลูกกอล์ฟ มีอายุขัยเต็มที่ราว 1 ปี วงจรชีวิตเริ่มต้นจากมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่ว เป็นหมึกมี 8 หนวด โดยหนวดเส้นที่ขาดไปจะสามารถงอกใหม่ได้ ในเวลากลางวัน หมึกสายวงน้ำเงินมักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอย แล้วจะออกหากินในเวลากลางคืน ชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหาอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น

วงจรชีวิต[แก้]

การเรืองแสงของหมึกสายวงน้ำเงินชนิด H. lunulata

จะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวง จำนวน 20-300 ฟอง สำหรับชนิด H. lunulata เพศเมียจะกางหนวดอุ้มไข่ไว้และดูแลไข่จนกระทั่งฟักเป็นตัว ส่วนชนิด H. maculosa เพศเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีรายงานว่าลูกหมึกชนิด H. maculosa ดำรงชีวิตแบบหน้าดิน ขณะที่ H. lunulata ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน แต่จากการทดลองเพาะเลี้ยงลูกหมึกที่ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากบริเวณทะเลจังหวัดระยอง พบว่าเพศเมียอุ้มไข่ แต่ลูกหมึกมีการดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน จึงเป็นไปได้ว่าในน่านน้ำไทยมีหมึกสกุลนี้มากกว่า 1 ชนิด หรืออาจเป็นชนิดใหม่ในทางวิชาการ

ด้วยความสวยงามประกอบกับความที่ตัวเล็ก จึงทำให้ หมึกสายวงน้ำเงินเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ แต่ทว่าด้วยพิษอันร้ายแรงนี้ จึงทำให้กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าหมึกชนิดนี้ในประเทศ แต่ทว่าก็ยังคงมีการลักลอบนำเข้าและเลี้ยงดู ในหน่วยงานราชการก็ยังคงมีการเลี้ยงหมึกสกุลนี้อยู่เพื่อการศึกษา เช่น คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[4]

และในต้นปี ค.ศ. 2016 ก็ปรากฏว่ามีผู้พบหมึกสายวงน้ำเงินปะปนมากับหมึกชนิดอื่น ๆ วางขายบนแผงขายอาหารทะเลในห้างสรรพสินค้าประเภทค้าส่งแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน[5]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย หมึกสายวงน้ำเงินได้ถูกอ้างอิงถึงในนวนิยายชุดเจมส์ บอนด์ ในตอน Octopussy and The Living Daylights ซึ่งตอนหลังได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่แยกออกเป็นคนละภาค[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Discovery.com
  2. พันตำรวจตรี วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน์ พิษหมึกบลูริงและปักเป้า เก็บถาวร 2009-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มศว.
  3. Caldwell, Roy, Dr (1996–2000). "What makes blue-rings so deadly?". สืบค้นเมื่อ 2007-03-19.{{cite web}}: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. หมึกบลูริง จากข่าวสด[ลิงก์เสีย]
  5. "เตือนภัย 'หมึกสายวงฟ้า'พิษถึงตาย". เดลินิวส์. 23 February 2016. สืบค้นเมื่อ 18 April 2016.
  6. "50 Years of 007 - Octopussy". lifebetweenframes.blogspot.com. 4 July 2012. สืบค้นเมื่อ 18 April 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hapalochlaena ที่วิกิสปีชีส์