สุวรรณสามชาดก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุวรรณสามชาดก

สุวรรณสามชาดก (อ่านว่า: สุ-วัน-นะ-สาม-ชา-ดก) หรือในพระคาถาเรียกว่า สุวณฺณสามชาตกํ (อ่านว่า: สุ-วัน-นะ-สา-มะ-ชา-ตะ-กัง) เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติของพระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุวรรรณสามดาบส[1] ในการบำเพ็ญเมตตาบารมี[2] โดยสุวรรรณสามดาบสต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งพระเจ้ากบิลยักขราชแผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับแสดงเมตตาจิตต่อ และเทศนาทศพิธราชธรรมให้กบิลยักษ์ฟัง ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรมทำให้พระสุวรรณสามหายเจ็บปวดรอดชีวิตมาได้ และบิดามารดาก็กลับมีจักษุดี[3]

สุวรรณสามชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกขุททนิกายชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ซึ่งพระโคตมพุทธเจ้าตรัสเรื่องสุวรรณสามขณะประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร อารามที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้ออุทยานพระกุมารพระนามว่าเชตสร้างถวาย พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญพระภิกษุรูปหนึ่ง ผู้บิณฑบาตเลี้ยงบิดามารดา เพื่อจะยกย่องพระภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดาด้วยสิ่งของที่ชาวบ้านถวายว่าเป็นพระภิกษุยอดกตัญญู ให้เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุทั้งปวง พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์[4] แล้วตรัสว่า

... ภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย

— พระโคตมพุทธเจ้า

ตรัสดังนี้แล้วทรงประกาศอริยสัจ 4 เพื่อประชุมชาดก เมื่อแสดงเทศนาว่าด้วยอริยสัจ 4 จบ พระภิกษุนั้นได้บรรลุธรรมขั้นโสดาปัตติผล

จากชาดกนี้ "พระราชากบิลยักขราช" ในกาลนั้นกลับชาติมาเกิดเป็น พระอานนท์ "พสุนธรีเทพธิดา" เกิดเป็นภิกษุณีชื่อ อุบลวรรณา "ท้าวสักกเทวราช" เกิดเป็น พระอนุรุทธะ "ทุกูลบัณฑิต" ผู้บิดา เกิดเป็น พระมหากัสสปะ "นางปาริกาดาบสินี" ผู้มารดา เกิดเป็นภิกษุณีชื่อ ภัททกาปิลานี ส่วนสุวรรณสามดาบถ ทรงอุบัติเป็น พระโคตมพุทธเจ้า

เนื้อหา[แก้]

ตามพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒ เนื้อเรื่องสุวรรณสาม ระบุโดยความย่อว่า

"สุวรรรณสามดาบส เป็นบุตรของฤๅษีตาบอด สุวรรรณสามดาบสเลี้ยงท่านทั้งสองนั้นในป่าใหญ่ วันหนึ่ง สุวรรณสามดาบสตักน้ำที่แม่น้ำมิคสัมมตา เพื่อบิดา มารดา แต่แล้วพระเจ้ากบิลยักขราชแผลงศรมาถูก สุวรรรณสามดาบสถามว่า

ใครหนอยิงเราผู้มัวประมาทกำลังแบกหม้อน้ำ ด้วยลูกศร กษัตริย์พราหมณ์ แพศย์ คนไหนยิงเราแล้วแอบอยู่ เนื้อของเราก็กินไม่ได้ ประโยชน์ด้วยหนังก็ไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ คนที่ยิงนี้ เข้าใจว่าเราเป็นผู้ อันจะพึงยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ ท่านเป็นใคร หรือเป็นบุตรใคร เราจะ รู้จักท่านได้อย่างไร ดูกรสหาย เราถามแล้วขอท่านจงบอกเถิด ท่านยิงเราแล้วแอบอยู่ทำไมเล่า

— สุวรรรณสามดาบส

พระเจ้ากบิลยักขราชจึงตอบ แล้วทรงถามว่าเป็นใคร สุวรรรณสามดาบสจึงตอบ พร้อมบอกให้ช่วยดูแลบิดา มารดาของตน แล้วสลบไป พระเจ้ากบิลยักขราชทรงคร่ำครวญ แล้วทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นไปถึง พระเจ้ากบิลยักขราช เริ่มค่อยๆ บอกกล่าวเรื่องของสุวรรรณสามดาบส เมื่อบิดา มารดาของสุวรรรณสามดาบสรู้ จึงอ้อนวอนให้พระเจ้ากบิลยักขราชพาไปพบลูก แล้วพระเจ้ากบิลยักขราชจึงพาไป เมื่อทั้งสามมาถึง บิดา มารดาของสุวรรรณสามดาบสเห็นสุวรรรณสามดาบสนอนสลบอยู่ ทั้งสองจึงสะอึกสะอื้นด้วยโศกเศร้า คิดว่าลูกของตนสิ้นลมแล้ว ทั้งสองจึงนำสุวรรณสามดาบถขึ้นวางบนตัก ผู้เป็นบิดาก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามดาบถประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามดาบถ บังเอิญผู้เป็นมารดาลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสามดาบถ รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า

ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติประพฤติเพียงดังพรหมมาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้มีปกติ กล่าวคำสัตย์มาแต่กาลก่อน ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้เป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป ลูกสามะนี้มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อบุคคลผู้เจริญ

— นางปาริกาดาบสินี

นางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณเขาคันธมาทน์ ได้ยิน จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

เราเคยอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์มานาน ไม่มีใครอื่น จะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่าสามกุมาร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป ป่าทั้งหมดที่ภูเขาคันธมาทน์ล้วนแต่เป็นไม้หอม ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป

— นางเทพธิดาวสุนธรี

เมื่อนั้นสุวรรรณสามดาบสได้กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระเจ้ากบิลยักขราชทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า

บุคคลใด เลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม แม้เทวดาและมนุษย์ย่อมสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้น บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้เลี้ยงมารดาและบิดานั้นในโลกนี้ บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

— สุวรรรณสามดาบส

พระเจ้ากบิลยักขราชนั้นได้ยิน จึงตรัสปฏิญญาณว่าจะประพฤติตนอยู่ในความดีแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษสุวรรรณสามดาบส แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติบิดา มารดา บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับบิดา มารดา ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมา"[2][3] .

การดัดแปลง[แก้]

สุวรรณสามชาดกได้มีการดัดแปลงเป็นนิทาน ที่ลงบันทึกในใบลาน โดยบันทึกเป็นอักษรมอญ และอักษรพม่า เก็บรักษาในหอสมุดวัดกลาง (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์[5] นอกจากนี้ยังมีการนำมาดัดแปลงเป็นวรรณคดีอีสาน[6] หรือหนังสือบางเล่มนำสุวรรณสามดาบถมาให้ข้อคิดเรื่องความกตัญญู และความเมตตา เช่น หนังสือเรื่อ "สุวรรณสามยอดกตัญญู" ที่เขียนโดย พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตโต[7] เป็นต้น และเป็นการ์ตูนเพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าใจได้ง่าย แต่ส่วนมาก มักจะรวมกับหนังสือการ์ตูนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับทศชาติชาดก

อ้างอิง[แก้]

  1. พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ. เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร. 2542. หน้า 197 - 213
  2. 2.0 2.1 สุวรรณสามชาดก .พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒
  3. 3.0 3.1 สุวรรณสามชาดก. ธรรมะไทย
  4. สุวรรณสาม เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. 27 มิถุนายน 2009. จริยธรรม.คอม
  5. สุวรรณสามชาดก[ลิงก์เสีย]. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
  6. เรื่องที่ 3 วรรณคดีท้องถิ่น. วรรณคดีท้องถิ่น[ลิงก์เสีย]. เล่มที่ 31. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  7. [https://web.archive.org/web/20120830141820/http://www.ebooks.in.th/ebook/3348/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B9_%5B%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%99%5D/ เก็บถาวร 2012-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สุวรรณสามยอดกตัญญู [พระมหาอุเทน]]. ebooks.in.th

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]