สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี
ประเภทสวนสาธารณะ
ที่ตั้งชายหาดทะเล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
พื้นที่155 ไร่
เปิดตัว21 สิงหาคม พ.ศ. 2537
ผู้ดำเนินการเทศบาลเมืองปัตตานี
สถานะทุกวัน

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานี คือ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษา ลำดับที่ 12 ตั้งอยู่ที่ชายหาดทะเล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่เดิม 155 ไร่ ปัจจุบันสืบเนื่องจากการเจริญงอกงามของป่าชายเลนทำให้ชายหาดงอกได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ละน้อย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2537

หน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลรักษา คือ เทศบาลเมืองปัตตานี ต้นไม้ประจำสวน คือ สารภีทะเล

ลักษณะของสวน[แก้]

ลักษณะพื้นที่เดิมเมื่อแรกสร้าง พื้นที่มีลักษณะเปิดโล่งมองเห็นชายหาดที่เป็นเลนที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน มีต้นแสม โกงกางและพืชป่าชายเลนขึ้นประปราย มีสัตว์ทะเลเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้ได้แลเห็น ทะเลมีลักษณะเปิดโล่ง หากมีพายุรุนแรงหรือคลื่นสูงจะไม่มีสิ่งใดช่วยบรรเทา

ปัจจุบัน จากการสร้างให้เป็นสวน ต้นไม้ป่าชายเลนต่าง ๆ ได้เจริญงอกงามและเติมโตขยายอาณาเขตจับดินเลนให้ตื้นเขินทำให้แผ่นดินงอกเกิดประโยชน์ด้านนิเวศวิทยาเป็นอย่างดียิ่ง สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานีจึงเป็นสวนที่สามารถใช้เป็นที่ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลนและเป็นที่พักพิงและอยู่อาศัยของนกและสัตว์ป่าชายเลนนานาชนิด สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ปัตตานีในปัจจุบันได้กลายเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองตั้งแต่ยามเช้าจนถึงยามเย็น มีผู้คนจำนวนมากมาออกกำลังกายรับอากาศบริสุทธิ์และเพลิดเพลินกับแสงอาทิตย์สีทองยามขึ้นจากขอบฟ้าและสีแดงส้มยามลาลับในตอนเย็น

สวนในพื้นที่ใกล้เคียง[แก้]

บริเวณใกล้เคียงสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์แห่งนี้ยังมีสวนอีก 2 แห่งประชิดอยู่ ได้แก่สวนสาธารณะชื่อ "เจ้าทะเล" ขนาด 23 ไร่ และ "สวนแม่-สวนลูก" ซึ่งเป็นสวนที่สร้างเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในวาระฉลงพระชนมายุ 80 พรรษา

พระราชานุสาวรีย์[แก้]

ภายในสวนมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2537

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]