สมเด็จพระราชาธิบดีอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิซมาอิล นาซีรุดดิน
إسماعيل ناصرالدين
พระบรมฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการ ช่วง ค.ศ. 1965 -1970
ยังดีเปอร์ตวนอากง
ครองราชย์21 กันยายน พ.ศ. 2508 – 20 กันยายน พ.ศ. 2513
ราชาภิเษก11 เมษายน พ.ศ. 2509
ก่อนหน้ารายาปูตราแห่งปะลิส
ถัดไปสุลต่านอับดุล ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์
นายกรัฐมนตรีตุนกู อับดุล ระฮ์มัน
สุลต่านแห่งรัฐตรังกานู
ครองราชย์16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522
ราชาภิเษก6 มิถุนายน พ.ศ. 2492
ก่อนหน้าสุลต่านอาลี ชะฮ์
ถัดไปสุลต่านมะฮ์มุด
พระราชสมภพ27 มกราคม พ.ศ. 2450
กัวลาเตอเริงกานู บริติชมาลายา
สวรรคต20 กันยายน พ.ศ. 2522 (72 พรรษา)
กัวลาเตอเริงกานู รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย
พระอัครมเหสีเติงกูอินตัน ซาฮาระฮ์ (พ.ศ. 2487–2522)
ราชวงศ์เบินดาฮารา
พระราชบิดาสุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 3
พระราชมารดาจิกไมนูนะฮ์ บินตี อับดุลละฮ์
ศาสนาอิสลาม

สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ (มลายู: Sultan Ismail Nasiruddin Shah, ยาวี: إسماعيل ناصرالدين; 27 มกราคม พ.ศ. 2450 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522) เป็นยังดีเปอร์ตวนอากงพระองค์ที่ 4 ของประเทศมาเลเซีย และเป็นสุลต่านพระองค์ที่ 16 ของรัฐตรังกานู

พระราชประวัติ[แก้]

พระชนม์ชีพช่วงต้น[แก้]

บางแหล่งข้อมูลระบุวันเสด็จพระราชสมภพของสุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ไว้หลายทาง แห่งหนึ่งว่าพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2449[1] อีกแห่งหนึ่งว่า 24 มกราคม พ.ศ. 2450[2] ซึ่งอย่างหลังปรากฏอยู่แพร่หลายกว่า เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่ห้าและเป็นพระราชบุตรหนึ่งในสามพระองค์ที่ยังมีพระชนม์ชีพของสุลต่านไซนัล อาบีดินที่ 3 กับจิกไมมูนะฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ (เสียชีวิต พ.ศ. 2461) สุภาพสตรีชาวสยามที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม[3]

หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมลายูกัวลาเตอเริงกานูแล้ว ทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยมลายูกัวลากังซาร์[4]

สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ถวายตัวเข้าเป็นราชองครักษ์ของสุลต่านซูไลมัน พระเชษฐาต่างพระชนนี และได้เข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ต่อมาใน พ.ศ. 2482 พระองค์เป็นนายทะเบียนของศาลสูงและศาลอุทธรณ์ นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติงานเป็นนายทะเบียนศาลที่ดิน ในปีถัดมาพระองค์ได้รับการแต่งตั้งเป็น เติงกู ซรี ปาดูกา ราจา ครั้น พ.ศ. 2484 พระองค์ขึ้นเป็นผู้พิพากษารัฐตรังกานู และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชเลขาธิการของรัฐตรังกานู[5]

วิกฤตราชบัลลังก์[แก้]

สุลต่านซูไลมันเสด็จสวรรคตด้วยพระโลหิตเป็นพิษเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2485 หน่วยงานฝ่ายบริหารของทหารญี่ปุ่นซึ่งครอบครองมาลายาในขณะนั้น ได้ประกาศให้เติงกูอาลี พระราชโอรสของสุลต่านซูไลมันขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสุลต่านแห่งตรังกานูพระองค์ที่ 15 และเมื่อรัฐบาลไทย นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้รับดินแดนสี่รัฐมาลัยจากจักรวรรดิญี่ปุ่นเรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ก็ได้รับรองสถานภาพการเป็นสุลต่านของอาลีต่อไป[6]

มาลายากลับสู่การปกครองของสหราชอาณาจักรอีกครั้งหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสหราชอาณาจักรไม่ยอมรับสุลต่านอาลี เพราะพระองค์มีหนี้สินล้นพ้นตัว และทรงสนิทสนมกับฝ่ายญี่ปุ่นมากเกินไปในช่วงที่ตกอยู่ในการปกครองของญี่ปุ่น[7] สอดคล้องกับที่สุลต่านอาลีทรงตรัสว่าหน่วยงานฝ่ายบริหารการทหารสหราชอาณาจักรต้องการปลดพระองค์ออก เพราะพระองค์ปฏิเสธที่จะลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาสหภาพมาลายา[8] หน่วยงานฝ่ายบริหารการทหารสหราชอาณาจักรไม่ชอบพอในพระราชอัชฌาสัยส่วนพระองค์ ในกรณีที่พระองค์ปฏิเสธเติงกู เซอรี นีลา อูตามา พระราชธิดาของสุลต่านอาบู บาการ์แห่งปะหัง ซึ่งเป็นพระมเหสีอย่างเป็นทางการ แต่กลับไปอภิเษกสมรสใหม่กับนางบาทบริจาริกาที่เป็นอดีตหญิงนครโสเภณี[9]

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 สภารัฐตรังกานูที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 13 คน ประกาศถอดถอนสุลต่านอาลีออกจากตำแหน่ง และสถาปนาเติงกูอิซมาอิล ขึ้นเป็นสุลต่านแห่งตรังกานูแทนที่ และจัดพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ณ พระราชวังมาซียะฮ์ กรุงกัวลาเตอเริงกานู[10] หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้สืบสันดานของสุลต่านอิซมาอิลก็ได้สืบราชสมบัติต่อมาตั้งแต่นั้น ส่วนอดีตสุลต่านอาลียังคงโต้แย้งการถูกถอดจากราชสมบัติของเขาเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2539[11]

สวรรคต[แก้]

สุลต่านอิซมาอิลเสด็จสวรรคตที่พระราชวังบาดารียะฮ์ ปาดังเซอรีเนอการา กรุงกัวลาเตอเริงกานู รัฐตรังกานู เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2522 หลังมีพระอาการประชวรด้วยพระหทัยพิการ พระศพถูกฝังไว้ ณ สุสานหลวงมัสยิดอาบีดิน กรุงกัวลาเตอเริงกานู[12] สุลต่านมะฮ์มุด พระราชโอรส ขึ้นเสวยราชสมบัติตรังกานูสืบมา

ชีวิตส่วนพระองค์[แก้]

สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ อภิเษกสมรสสี่ครั้ง ดังนี้

  1. เจวันอามีนะฮ์ บินตี เจวันจิก (Che Wan Aminah binti Che Wan Chik) มีพระราชธิดาสองพระองค์
  2. เติงกูเตองะฮ์ ซาฮาระฮ์ บินตี เติงกูเซอตียาราจาปาฮัง เติงกูอูมาร์ (Tengku Tengah Zaharah binti Tengku Setia Raja Pahang Tengku Umar) มีพระราชบุตรด้วยกันแปดพระองค์ ภายหลังทรงหย่า
  3. เติงกูอินตัน ซาฮาระฮ์ บินตี เติงกูเซอตียาราจาเตอเริงกานู เติงกูฮีตัม อูมาร์ (Tengku Intan Zaharah binti Tengku Setia Raja Terengganu Tengku Hitam Umar) ไม่มีพระราชบุตรด้วยกัน[13]
  4. เจจาระฮ์ บินตี อับดุลละฮ์ (Che Jarah binti Abdullah) มีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์

สุลต่านอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์เป็นช่างภาพสมัครเล่น[14] ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2466 ถึง 2522 ราจา โมฮามัด ไซนล อิฮ์ซัน ชะฮ์ พระราชนัดดา ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์ในฐานะช่างภาพถูกตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2556[15]

อ้างอิง[แก้]

  1. Finestone, Jeffrey and Shaharil Talib (1994) The Royal Families of South-East Asia Shahindera Sdn Bhd
  2. Buyong Adil (1974) Sejarah Terengganu p 205 DBP
  3. Buyong Adil (1974) p 140
  4. mir.com.my
  5. Buyong Adil (1974) p. 205
  6. Willan, HC (1945) Interviews with the Malay rulers CAB101/69, CAB/HIST/B/4/7
  7. Willan (1945)
  8. Wan Ramli Wan Mohamad (1993) Pengakuan Tengku Ali Mengapa Saya Diturunkan Dari Takhta Terengganu Fajar Bakti, Kuala Lumpur
  9. Willan (1945)
  10. Buyong Adil (1974) p. 205
  11. Wan Ramli Wan Mohamad (1993)
  12. (22 September 1979) New Straits Times
  13. Finestone, Jeffrey and Shaharil Talib (1994)
  14. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2012. สืบค้นเมื่อ 27 January 2020.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  15. HRH Sultan Ismail Nasiruddin Shah: Pioneering Malaysian Photography 1923-71 (ISBN 978-967-11726-0-5)
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชาธิบดีอิซมาอิล นาซีรุดดิน ชะฮ์ ถัดไป
รายาปูตราแห่งปะลิส ยังดีเปอร์ตวนอากง
(21 กันยายน พ.ศ. 2508 – 20 กันยายน พ.ศ. 2513)
สุลต่านอับดุล ฮาลิมแห่งเกอดะฮ์
สุลต่านอาลี ชะฮ์ สุลต่านแห่งรัฐตรังกานู
(16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 – 20 กันยายน พ.ศ. 2522)
สุลต่านมะฮ์มุด