สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
Thailand Volleyball Association
ชื่อย่อTVA
ก่อตั้งพ.ศ. 2502
สํานักงานใหญ่กรุงเทพมหานคร
ภูมิภาคที่รับผิดชอบ
 ไทย
ภาษาทางการ
ภาษาไทย
องค์กรปกครอง
เอวีซี
เอฟไอวีบี
เว็บไซต์http://www.volleyball.or.th/

สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Volleyball Association) เป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ สำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยรับผิดชอบในการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด รวมทั้งให้การสนับสนุนวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ทั้ง ทีมชาย และ ทีมหญิง สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

จากการที่ประเทศไทยได้ริเริ่มและรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games – SEAP Games หรือเซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ได้เลือกกีฬาวอลเลย์บอล (ประเภททีมชาย) เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แข่งขัน แต่ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลมารับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรระดับชาติที่สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียรับรองและต้องเป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และจะเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับฯ อาจารย์แมน พลพยุหคีรี ซึ่งรู้จักกับบุคลากรในกรมพลศึกษามาก เป็นตัวหลักในการจัดตั้งสมาคม จึงได้ชักชวนคณะบุคคล รวม 7 คน ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้น ประกอบด้วย พลเอก สุรจิต จารุเศรณี นายกอง วิสุทธารมณ์ นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ นายเสรี ไตรรัตน์ นายนิคม พลสุวรรณ นายแมน พลพยุหคีรี และนายเฉลิม บุณยะสุนทร โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดตั้งสมาคมและพิจารณาร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้น นายกอง วิสุทธารมณ์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้เป็นผู้แทนดำเนินการ ได้ติดต่อขออนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับอนุญาตให้เป็น สมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Amateur Volleyball Association of Thailand) ตามคำสั่งของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติที่ ต.11/2502 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยมี นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามในใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ และได้จดทะเบียนสมาคมที่กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502[1] โดยมีวัตถุประสงคเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลให้เจริญรุดหน้า และดำเนินการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลในระบบ 6 คน

ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศใช้ข้อบังคับของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นฉบับแรก โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร 7 ตำแหน่ง อยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี คณะกรรมการฯ ชุดนี้ถือเป็นคณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมฯ ประกอบด้วย

  1. พลเอก สุรจิต จารุเศรณี เป็นนายกสมาคมฯ
  2. นายกอง วิสุทธารมณ์ เป็นอุปนายก
  3. นายแมน พลพยุหคีรี เป็นเหรัญญิก
  4. นายเฉลิม บุณยะสุนทร เป็นเลขานุการ
  5. นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นกรรมการ
  6. นายเสรี ไตรรัตน์ เป็นกรรมการ
  7. นายนิคม พลสุวรรณ เป็นกรรมการ

ช่วง 25 ปีแรก (พ.ศ. 2502–2527)[แก้]

หลังจากกีฬาแหลมทองครั้งที่ 1 สมาคมฯ มีกิจกรรมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยระดับประชาชนเพียงรายการเดียว ปีละครั้งกับกีฬาแห่งชาติ (กีฬาเขตแห่งประเทศไทยเดิม จัดโดยองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย) ที่ทีมชาติลงแข่งขันไม่ได้เท่านั้นก่อนซีเกมส์ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2528) มีทีมชาติไทยไม่ได้พัฒนาเพราะได้แข่งขันในระดับนานาชาติเฉพาะกีฬาเซียพเกมส์และกีฬาซีเกมส์ (2 ปี ต่อครั้ง) กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนชายชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 1 ที่เกาหลีใต้ และทีมชายได้ไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งที่ 5 ที่โตเกียวเท่านั้น

ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2502 จนถึงครั้งที่ 8 ทีมชายได้เหรียญทองเพียงครั้งเดียวในการแข่งขันครั้งที่ 1 แต่ยังได้เหรียญเงินและทองแดง ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งที่ 5 ที่ไม่ได้ส่งแข่ง และครั้งที่ 7 ที่ไม่ได้เหรียญใดเลย ส่วนทีมหญิงมีโอกาสได้เหรียญทองในการแข่งขันครั้งที่ 4 และ 8 ซึ่งจัดการแข่งขันที่กรุงเทพฯ และในการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ได้เหรียญเงิน หรือทองแดงทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจากกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) เป็นซีเกมส์ (Southeast Asian Games) ในการแข่งขันครั้งที่ 9 ทีมชาย-หญิง ยังคงได้หรียญทองแดงส่วนในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพทั้ง 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2509 ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2513 และ ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2521 ทีมวอลเลย์บอลไม่ประสบผลสำเร็จเพียงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพเท่านั้น

ทีมวอลเลย์บอลไทยประสบภาวะตกต่ำไม่ได้เหรียญใด ๆ เลย ถึง 3 ครั้ง ติดต่อกันตั้งแต่กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 10–12 ประกอบกับมีปัญหาด้านการบริหารสมาคม ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารใหม่ โดยได้เรียนเชิญ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ

เมื่อรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ปลัดพิศาลฯ ได้แนะนำให้เชิญผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมบริหารในสมาคมฯ อีกมากมาย แม้ปลัดพิศาลฯ จะมีภารกิจมาก แต่ก็ให้ความสนใจกับงานของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง

การที่สมาคมฯ มีฐานการทำงานที่แข็งแกร่งจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ความร่วมมือสนับสนุนวงการวอลเลย์บอล เป็นการกระจายฐานของกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยออกไปในวงกว้างทั่วประเทศ

ผู้บริหารของสมาคมฯ ในยุคต่อ ๆ มาได้ดำเนินงานตามนโยบายที่นายกฯ พิศาลฯ ให้ไว้มาโดยตลอด และสร้างโอกาสให้ผู้ฝึกสอนและนักกีฬาได้เรียนรู้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลอย่างต่อเนื่องจนผู้ฝึกสอนไทยมีความสามารถสร้างทีมแข่งขันในระดับทวีปและระดับโลก ประกอบกับสมาคมฯ มีแผนงานการปฏิบัติงานที่ชัดเจนตามปฏิทินที่กำหนดไว้ทุกปี และมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก และร่วมการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลกเป็นประจำทุกปี

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในยุคต่อ ๆ มา ภายใต้การนำของนายกสมาคมฯ นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และนายพงศ์โพยม วาศภูติ ตลอดจนนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่ติดต่อกันมาตามลำดับ และในแต่ละยุคก็สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งภายในประเทศ ระดับทวีปและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง

การจัดการแข่งขันระดับอายุต่าง ๆ ภายในประเทศ[แก้]

ภายหลังการเข้ามาบริหารของนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ในปี พ.ศ. 2528 นอกจากจัดการแข่งขันระดับประชาชนเป็นปฏิทินประจำปีแล้ว สมาคมฯ พยายามขยายพื้นที่โดยได้เริ่มจัดการแข่งขันให้มากขึ้นทั่วประเทศเพื่อเป็นการพัฒนาระดับรากหญ้าทั่วประเทศ ถ้วยแรกที่ประสบความสำเร็จ คือ พาวเวอร์ทัวร์นาเมนท์ เป็นทัวร์นาเมนท์แรกที่จัดกันทั่วประเทศ โดยคุณจรูญ วานิชชา หรือ จุ่น บางระจัน ร่วมกับ คุณสมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในขณะนั้น ได้เสนอให้บริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งมีคุณเฉลิม จันทร์อุไร เป็นผู้จัดการ และคุณระวีวรรณ แจ้งเจนกิจ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ให้เข้ามาช่วยเป็นผู้สนับสนุนสมาคมฯ จัดการแข่งขันในระดับอายุไม่เกิน 18 ปี คัดเลือกผู้ชนะในแต่ละภาคมาแข่งขันในรอบสุดท้ายระดับประเทศ และสมาคมฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่เนื่องจากสภาพทางเศรษฐกิจในภายหลัง จึงได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนมาเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันระดับอายุ 14 ปี เป็นรายการที่ 2 เริ่มจากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาให้การสนับสนุนจัดการแข่งขันยุวชนเครือซิเมนต์ไทย ต่อมาได้เปลี่ยนผู้สนับสนุนมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ บริษัทสุพรีม ดิสตริบิวชั่น จำกัด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรายการวอลเลย์บอลยุวชน แอร์เอเชีย

การแข่งขันระดับอายุ 16 ปี เป็นรายการที่ 3 ที่สมาคมฯ จัดขึ้นทั่วประเทศ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขันยุวชนเป๊ปซี่ มาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 19 สมาคมฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรายการวอลเลย์บอลยุวชน เอสโคล่า

บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือสหพัฒนพิบูล เริ่มเข้ามาช่วยการแข่งขันในระดับอายุ 12 ปี ไลอ้อนคัพ ซึ่งเป็นการจัดที่ไม่ค่อยมีใครอยากจัด แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนจากการประชาสัมพันธ์เลย เพราะไม่ค่อยมีผู้สนใจกับการแข่งขันของเด็กๆ อายุ 12 ปี สักเท่าไร ช่วงหลังเมื่อเครือสหพัฒน์หยุดสนับสนุน บริษัทสยามกว้างไพศาล เข้ามาช่วยจัดการแข่งขันปลายิ้ม มินิวอลเลย์บอล ได้นำทีมที่ชนะเลิศไปแข่งขันและทัศนศึกษาที่สิงคโปร์ หรือฮ่องกงบ้าง แม้ระยะหลังบริษัทสยามกว้างไพศาลจะถอนตัวจากการเป็นผู้สนับสนุนไป สมาคมฯ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด อย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันได้มีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นการกลับมาจัดได้ใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยสมาคมฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน

สมาคมฯ ได้จัดการแข่งขัน 4 ระดับอายุ คือ 12, 14, 16 และ 18 ปี ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน จากการจัดการแข่งขันตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับโลกเป็นประจำทุกปี ทำให้เด็ก ๆ ในสถาบันการศึกษาหันมาสนับสนุนและเล่นวอลเลย์บอลกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศและทุกระดับอายุเช่นในปัจจุบัน

จากสมัครเล่นสู่อาชีพ[แก้]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย

การจัดแข่งขันวอลเลย์บอลลีกอาชีพ[แก้]

สำหรับการจัดแข่งขันวอลเลย์บอลลีกอาชีพ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ร่วมกับสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันวอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก ครั้งแรกใน พ.ศ. 2548 (ฤดูกาล 2005/2006) และดำเนินการมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ขยายไปถึงลีกระดับรองคือ วอลเลย์บอลดิวิชัน 2 (โปรชาเลนจ์) ตลอดจน วอลเลย์บอลอะคาเดมีลีก ซึ่งเป็นการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลให้มีศักยภาพสู่การเป็นกีฬาอาชีพอย่างแท้จริง และไทยมีนักกีฬาป้อนเข้าสู่ทีมชาติได้อย่างต่อเนื่อง

รายนามนายกสมาคม[แก้]

  1. สุรจิต จารุเศรณี (พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2505)
  2. บุญชิต เกตุรายนาค (พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2511)
  3. อนุ รมยานนท์ (พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2528)
  4. พิศาล มูลศาสตรสาทร (พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2536)
  5. อารีย์ วงศ์อารยะ (พ.ศ. 2536 - พ.ศ. 2540)
  6. ชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ (พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2546)
  7. เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2550)
  8. พงศ์โพยม วาศภูติ (พ.ศ. 2550 - พ.ศ. 2554)
  9. สมพร ใช้บางยาง (พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน)

การจัดการแข่งขันภายในประเทศ[แก้]

ระดับอายุไม่เกิน 12 ปี[แก้]

ระดับอายุไม่เกิน 14 ปี[แก้]

ระดับอายุไม่เกิน 16 ปี[แก้]

ระดับอายุไม่เกิน 18 ปี[แก้]

ระดับอุดมศึกษาและระดับประชาชน[แก้]

วอลเลย์บอลลีกอาชีพ[แก้]

วอลเลย์บอลชายหาด[แก้]

การจัดการแข่งขันระดับนานาชาติในประเทศ[แก้]

ปี พ.ศ. สถานที่ รายการแข่งขัน
พ.ศ. 2529 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันเยาวชนชาย และหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2533 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันเยาวชนชายชิงแชมป์เอเชีย ที่กรุงเทพมหานคร
เชียงใหม่ การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดเชียงใหม่
พ.ศ. 2534 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียหญิง ที่กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2535 ชลบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนซีรี ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2536 นครราชสีมา การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียชาย ที่จังหวัดนครราชสีมา
ชลบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนซีรีส์ ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2537 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่กรุงเทพมหานคร
ชลบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนซีรีส์ ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2538 เชียงใหม่ การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียหญิง ที่จังหวัดเชียงใหม่
ยะลา การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดยะลา
ระยอง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนซีรีส์ จังหวัดระยอง
พ.ศ. 2539 เชียงใหม่ การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดเชียงใหม่
ระยอง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนซีรีส์ จังหวัดระยอง
พ.ศ. 2540 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่กรุงเทพมหานคร
เชียงใหม่ การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดเชียงใหม่
ตรัง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ จังหวัดตรัง
พ.ศ. 2541 ตรัง การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดตรัง
ตรัง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ จังหวัดตรัง
พ.ศ. 2542 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันชิงแชมป์สโมสรเอเชียหญิง ที่กรุงเทพมหานคร
ศรีสะเกษ การแข่งขันเยาวชนชายชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ การแข่งขันชิงชนะเลิศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชายและหญิง ที่จังหวัดศรีสะเกษ
อุบลราชธานี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดชิงชนะเลิศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชายและหญิง ที่จังหวัดอุบลราชธานี

(กีฬาซีเกมส์ที่บรูไน ดารุสซาลามไม่มีการจัดแข่งขันวอลเลย์บอล จึงมีรายการนี้ขึ้นเพื่อชดเชย)

ตรัง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ จังหวัดตรัง
พ.ศ. 2543 สุพรรณบุรี การแข่งขันชิงแชมป์สโมสรเอเชียชาย ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2544 ตรัง การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดตรัง
ตรัง การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียหญิง ที่จังหวัดนครราชสีมา
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2545 กรุงเทพมหานคร การแข่งขันชิงแชมป์สโมสรเอเชียหญิง ที่กรุงเทพมหานคร
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2546 ศรีสะเกษ การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดศรีสะเกษ
สุพรรณบุรี การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
สุพรรณบุรี การแข่งขันยุวชนชายชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
ชลบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด อายุไม่เกิน 18 ปี ชิงแชมป์โลก จังหวัดชลบุรี
พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2547 พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
พ.ศ. 2548 สุพรรณบุรี การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียชาย ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่จังหวัดสงขลา
ชัยภูมิ การแข่งขันวอลเลย์บอลเยาวชน ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดชัยภูมิ
พ.ศ. 2549 นครราชสีมา การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดนครราชสีมา
พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2550 กำแพงเพชร การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย ที่จังหวัดกำแพงเพชร
นครราชสีมา การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียหญิง ที่จังหวัดนครราชสีมา
นครราชสีมา การแข่งขันเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดนครราชสีมา
พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่จังหวัดสงขลา
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2551 พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2552 นครปฐม การแข่งขันชิงแชมป์สโมสรเอเชียหญิง ที่จังหวัดนครปฐม
นครราชสีมา การแข่งขันยุวชนหญิงชิงแชมป์โลก ที่จังหวัดนครราชสีมา
กรุงเทพมหานคร การแข่งขันชิงแชมป์เอเชียมหาวิทยาลัยหญิง กรุงเทพมหานคร
นครศรีธรรมราช การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
พัทลุง การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดพัทลุง
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2553 ราชบุรี การแข่งขันเยาวชนชายชิงชนะเลิศแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จังหวัดราชบุรี
นครปฐม ราชบุรี การแข่งขันเยาวชนชายชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ที่จังหวัดนครปฐมและราชบุรี
นครศรีธรรมราช การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2554 สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
เพชรบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดรอบคัดเลือกโอลิมปิกเกม โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จังหวัดเพชรบุรี
ภูเก็ต การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2555 นครศรีธรรมราช การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
สงขลา การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยน ทัวร์ ที่จังหวัดสงขลา
ชลบุรี การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด เวิลด์ ทัวร์ ที่จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2556 นครราชสีมา วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013
พ.ศ. 2557 นครราชสีมา วอลเลย์บอลยุวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2014
ภูเก็ต วอลเลย์บอลชายหาด เอเชี่ยนบีช ครั้งที่ 4
ปทุมธานี วอลเลย์บอลชายหาดโอลิมปิค รอบคัดเลือกโซนอาเซี่ยน
ชลบุรี วอลเลย์บอลชายหาดรายการ "เอฟไอวีบี พัทยา ไทยแลนด์ชาเลนเจอร์"
กาญจนบุรี วอลเลย์บอลนักเรียนชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 4
กรุงเทพมหานคร วอลเลย์บอลเวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2014 สัปดาห์ที่ 3
พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร วอลเลย์บอลเวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2015 สัปดาห์ที่ 1
สงขลา วอลเลย์บอลชายหาด “สมิหลา-ช้าง” เอวีซีบีชทัวร์ ครั้งที่ 16
นครศรีธรรมราช วอลเลย์บอลชายหาด “นครศรี-ช้าง-ซีเล็คทูน่า” เอวีซีบีชทัวร์ ครั้งที่ 6
หนองคาย วอลเลย์บอลชายหาด”หนองคาย-ช้าง” รอบคัดเลือกโอลิมปิก โซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พ.ศ. 2559 นครศรีธรรมราช วอลเลย์บอลชายหาด ขนอม-ช้าง เอเชียนทัวร์ ครั้งที่ 7
สงขลา วอลเลย์บอลชายหาด สมิหลา-ช้าง เอเชียนทัวร์ ครั้งที่ 17
สงขลา วอลเลย์บอลชายหาด อายุไม่เกิน 17 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1
ศรีสะเกษ "ปริ๊สเซส คัพ" วอลเลย์บอลเยาวชนหญิง อายุไม่เกิน 19 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 19
นครราชสีมา วอลเลย์บอลเยาวชนหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2016
กรุงเทพมหานคร วอลเลย์บอลเวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2016 รอบสุดท้าย
นครปฐม วอลเลย์บอลชายเอวีซีคัพ 2016
พ.ศ. 2560 นครราชสีมา วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2017

บุคลากรของสมาคมที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานกับเอฟไอวีบี และเอวีซี[แก้]

  • เรืออากาศโทชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ
    • FIVB กรรมการบริหาร กรรมการสภาการจัดการแข่งขัน ประธานเทคนิคสภาเวิลด์กรังด์ปรีซ์
    • AVC รองประธานสหพันธ์ ประธานสภาการจัดการแข่งขัน
  • ดร.ประเวช รัตนเพียร
    • AVC ประธานสภาวอลเลย์บอลชายหาด ปี 2547 – 2550
  • อาจารย์ทรงศักดิ์ เจริญพงศ์
    • FIVB กรรมการฝ่ายผู้ตัดสิน
    • AVC เลขานุการฝ่ายผู้ตัดสิน
  • นพ.เรืองศักดิ์ ศิริผล
    • AVC กรรมการสมทบสภาการจัดการแข่งขัน เลขานุกาคณะกรรมการฝ่ายการแพทย์
  • เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร
    • FIVB กรรมการฝ่ายผู้ฝึกสอน ปี 2548 – 2550
  • กฤษฎา ปาณะเสรี
    • FIVB ผู้ตัดสินวอลเลย์บอลชายหาดนานาชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในรายการต่าง ๆ ของสหพันธ์
    • AVC ผู้ควบคุมผู้ตัดสิน ผู้ควบคุมการแข่งขัน ในรายการต่าง ๆ
  • ภาวนา ศรีธูป
    • FIVB ผู้แทนวิเคราะห์การแข่งขันทางสถิติ ผู้ควบคุมการวิเคราะห์การแข่งขันรายการต่าง ๆ
    • AVC ผู้แทนวิเคราะห์การแข่งขันทางสถิติ ผู้ควบคุมการวิเคราะห์การแข่งขันรายการต่าง ๆ
  • ปรีชาชาญ วิริยานุภาพพงศ์
    • FIVB ผู้แทนฝ่ายสื่อมวลชนในการแข่งขันต่าง ๆ เขียนข่าวการแข่งขันรายการต่าง ๆ ลงเว็บไซต์
    • AVC ผู้แทนฝ่ายสื่อมวลชนในการแข่งขันต่าง ๆ เขียนข่าวการแข่งขันรายการต่าง ๆ ลงเว็บไซต์
  • จันทร์เพ็ญ จิรัคคกุล
    • FIVB ผู้ตัดสินนานาชาติ ในการแข่งขันชิงแชมป์โลก กีฬาโอลิมปิก 2 ครั้ง
    • AVC ผู้ตัดสินนานาชาติ ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ระดับต่าง ๆ
  • พัลลภ โสวภาค
    • FIVB ผู้ตัดสินนานาชาติ ในการแข่งขันชิงแชมป์โลกระดับเยาวชน คัดเลือกชิงแชมป์โลก เวิลด์กรังด์ปรีซ์ เวิลด์ลีก
    • AVC ผู้ตัดสินนานาชาติ ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย ระดับต่าง ๆ

แนวคิดการพัฒนาทีมชาติในอนาคต[แก้]

ช่วงปีที่ผ่านมา สมาคมฯ มีผลงานที่ปรากฏต่อสาธารณชน ความสำเร็จการแข่งขันในระดับนานาชาติแม้จะไม่โดดเด่น โดยรวมถือว่ายังคงรักษามาตรฐานได้เป็นอย่างดี จากความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ที่วอลเลย์บอลทีมชาติไทยยังสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้ทั้งประเภททีมหญิงและทีมชาย ขณะเดียวกันรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ทีมหญิงยังคงได้สิทธิ์อยู่ในกลุ่ม 1 ต่อไป

นอกจากนี้นักกีฬาระดับรองลงไปซึ่งเป็นอนาคตของทีมชาติได้เป็นตัวแทนทวีปเอเชียเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์โลก 2015 ทั้งในรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ที่เปรู และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ตุรกี ส่วนการแข่งขันระดับนานาชาติของทุกประเภททั้งในร่มและชายหาดก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่สำคัญมีนักกีฬาที่มีศักยภาพพร้อมที่จะทดแทนรุ่นพี่ ๆ ได้จำนวนมาก

ในส่วนของการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลไปสู่อาชีพ การแข่งขันไทยแลนด์ลีก ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านการจัดการแข่งขัน การพัฒนาของสโมสรและแฟนคลับ การแข่งขันที่สนุกสูสี ตื่นเต้น ได้รับความสนใจของผู้ชมทั้งในสนามต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่คือ การที่สโมสรบางกอกกล๊าสสามารถชนะเลิศการแข่งขันสโมสรหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2015 ทำให้ได้สิทธิ์ไปชิงแชมป์สโมสรโลก 2016 ต่อไป

ความสำเร็จที่ปรากฏและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ทั้งสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ คือผลการดำเนินงานในด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาภายในและภายนอกประเทศ การจัดการแข่งขันทุกประเภททั้งในร่มและชายหาด ทุกรุ่นอายุกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศยังคงดำเนินต่อเนื่อง และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีสถาบันการศึกษาระดับประถมและมัธยมส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในโครงการเยาวชนคนของชาติที่เสาะแสวงหาและให้โอกาสกับเด็ก เยาวชน ที่มีความสูงได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง ผู้ฝึกสอน และนักกีฬา ทั้งชายและหญิง มากกว่า 40 คน รวมทั้งสร้างกระแสความสนใจกีฬาวอลเลย์บอลได้อย่างดียิ่ง

จากการที่ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ เป็นอย่างดีมาโดยตลอด และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียมีมติให้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ประเทศไทย โดยได้เปิดทำการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ จากผลความสำเร็จทั้งในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาและความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมของครอบครัววอลเลย์บอลไทยจนประสบผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อเนื่อง ทำให้สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ยกระดับประเทศไทยจากระดับ 4 ขึ้นสู่ระดับสูงสุดคือระดับ 5 เทียบเท่า สหรัฐอเมริกา บราซิล อิตาลี ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนี้ยังย่องในความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเวิลด์กรังด์ปรีซ์รอบชิงชนะเลิศเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016

จากการเริ่มเข้าแข่งขันระดับนานาชาติ ตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้าร่วมแข่งขันใหม่ ๆ ทีมวอลเลย์บอลไทยอยู่อันดับเกือบท้าย ๆ ของเอเชีย ในกีฬาซีเกมส์สู้อินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ไม่ได้ ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี ในการไล่ตามและชนะได้อย่างถาวรจนถึงปัจจุบัน และใช้เวลาถึง 14 ปี ในการไล่ทันไต้หวัน อดีตเสือตัวที่ 4 ของเอเซีย และในปัจจุบันทีมไทยกำลังไล่ทันเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้ว่าจะแพ้มากกว่าชนะ แต่ถึงปัจจุบันเกือบจะไม่ได้ต่างกันแล้ว ขึ้นอยู่กับจังหวะในการเล่นเท่านั้นเอง ซึ่งคงต้องการพัฒนาต่อไปอีก ถึงแม้ว่าการได้แชมป์เอเชียหญิงในปี 2552 และ 2556 ได้เหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ในปี 2557 รวมทั้งเคยได้อันดับโลกของเอฟไอวีบีสูงสุดถึงอันดับ 10 เมื่อปี 2554 แล้วก็ตาม แต่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่คือการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์ยังอยู่ข้างหน้า ซึ่งสมาคมฯ จะต้องมุ่งไปสู่จุดหมายดังกล่าวในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]