สง่า มะยุระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สง่า มะยุระ
เกิดสง่า มะยุระ
20 สิงหาคม พ.ศ. 2452
สัญชาติไทย
อาชีพจิตรกร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังบนระเบียงรอบวัดพระแก้ว ส่วนที่เขียนโดยสง่า มะยุระ (มีระบุชื่อไว้ใต้ภาพ)

สง่า มะยุระ (20 สิงหาคม พ.ศ. 2452 - 12 กันยายน พ.ศ. 2521) จิตรกรชาวไทย เป็นเจ้าของและผู้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์พู่กัน เป็นโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของประเทศไทย[1]

สง่าเกิดที่ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรบุญธรรมในหลวงพ่อหรุ่น อดีตเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง เริ่มเรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดสัปรสเทศ พร้อมกับฝึกวิชาวาดเขียนมาตั้งแต่เด็กกับอาจารย์อู๋ ที่วัดมะนาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาได้มาอยู่กับอาจารย์ม้วนที่วัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อย ธนบุรี ต่อมาได้เรียนวาดเขียนกับครูสอิ้งที่อยู่ข้างวัดสุวรรณาราม โดยครูสอิ้งพาไปช่วยเขียนลายรดน้ำที่หน้าต่างพระวิหารวัดพระเชตุพน ต่อมาได้ไปสมัครทำงานเขียนพานแว่นฟ้ากับคุณผิน และเขียนตู้พระมาลัยที่วัดมหาธาตุ

สง่าได้รู้จักกับหลวงเจนจิตรยง ช่างเขียนอันลือชื่อในสมัยนั้น ท่านชวนให้ไปช่วยเขียนลายบนโถกะยาคู โดยนำฟักทองมากลึงให้มีรูปร่างเหมือนโถ และต้องเขียนลายให้เสร็จในวันเดียวกัน มิฉะนั้นฟักทองจะเหี่ยว ทั้งสองท่านช่วยกันเขียนจนเสร็จ หลวงเจนจิตรยงชื่นชอบฝีมือว่าของสง่า จึงชวนให้ไปช่วยเขียนภาพที่วัดสุวรรณคีรี คลองบางกอกน้อย โดยมอบหมายให้เขียนลายรดน้ำที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์แทนท่านทั้งหมด สง่าต้องใช้เวลาเขียนถึงสี่เดือนจึงเสร็จ

สง่าได้อุปสมบทที่วัดสุวรรณาราม ธนบุรี เป็นระยะเวลาสองพรรษา ในระหว่างนั้นได้มีโอกาสเข้าไปเขียนภาพรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ไชย) เป็นผู้อำนวยการเขียนภาพ ในเวลาต่อมา เมื่อภาพเขียนที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเกิดชำรุดเสียหาย สง่าก็ได้มีโอกาสเข้าไปเขียนซ่อม บางห้องมีภาพชำรุดมากก็เขียนใหม่ทั้งหมดจนสำเร็จ

หลังจากลาสิกขาแล้วก็มาตั้งร้านขายเครื่องดื่มที่หลังโรงพยาบาลศิริราช โดยให้บิดาเป็นผู้ขาย ส่วนตนเองไปทำงานประจำที่ร้านคณะช่าง อันเป็นร้านช่างเขียนรับงานเขียนต่าง ๆ และทำบล็อกด้วย ทำงานอยู่ร้านคณะช่างได้สองปีก็ลาออก และไปทำงานที่โรงพิมพ์บุญครอง

พู่กันที่ผลิตโดยโรงงานของสง่า มะยุระ

สง่าสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2479 และริเริ่มกิจการทำพู่กันขาย โดยได้ดัดแปลงแก้ไขพู่กันของตนจนได้ระดับมาตรฐาน กิจการของเขานับว่าเป็นโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของเมืองไทย โดยยังมีขายอยู่จนถึงปัจจุบัน พู่กันของสง่าจะมีข้อความที่ด้ามเป็นเอกลักษณ์ว่า "ภู่กันของ สง่ามะยุระ"

ผลงานของสง่ามีอยู่หลายแห่ง เช่น ออกแบบลวดลายตกแต่งหน้าบัน ซุ้มประตูหน้าต่างให้พระอุโบสถ วัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธ วัดสัตหีบ และวัดกอไผ่ พระนครศรีอยุธยา

สง่าเป็นบิดาของประโภชน์ มะยุระ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตพิธีกรรายการโทรทัศน์ ครบเครื่องเรื่องผู้หญิง ทางช่อง 7 และอดีตวิทยากรในการโต้วาที ในรายการทีวีวาที 9 ใหม่ ทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท.[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สง่า มะยุระ ไม่ใช่แค่ยี่ห้อพู่กัน แต่คือช่างเขียนระดับครู ผู้ซ่อมจิตรกรรมวัดพระแก้ว". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-23. สืบค้นเมื่อ 2010-05-03.