ศาลเจ้าชินโต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดของศาลเจ้าชินโตแห่งหนึ่ง

ศาลเจ้าชินโต หรือ จินจะ (ญี่ปุ่น: 神社โรมาจิjinja; ที่อยู่ของเทพเจ้า[1]) เป็นศาสนสถานที่ประดิษฐานคามิ หรือ เทพเจ้าของญี่ปุ่นหนึ่งพระองค์หรืออาจมากกว่านั้นก็ได้ โดยอาคารหลักของศาลเจ้าชินโตจะมีไว้สำหรับเก็บรักษาศาสนวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ใช่สำหรับให้ผู้คนเข้าไปสักการะ[2] ในภาษาญี่ปุ่น ศาลเจ้าชินโตมีหลายชื่อ นอกจากชื่อ จินจะ แล้วยังมี กงเก็ง (gongen), ยาชิโระ (yashiro), ไทชะ (taisha) ซึ่งเรียกแตกต่างกันไปตามความหมายเฉพาะ

อาคารที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของคามิ (เทพเจ้า) จะเรียกว่า ฮนเด็ง (honden) หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า ชินเด็ง (shinden)[3]ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม แต่ในบางศาลเจ้าอาจไม่มีฮนเด็งก็ได้ เช่นในกรณีที่ศาลเจ้านั้นบูชาภูเขาทั้งลูกโดยตรง ก็มักจะประดิษฐานเพียงแท่นบูชาที่เรียกว่า ฮิโมโรงิ (himorogi) หรือผูกที่สะกดวิญญาณ โยริชิโระ (yorishiro) กับวัตถุต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ หรือก้อนหิน[4] ตัวอาคารฮนเด็งมักจะเชื่อมต่อเข้ากับหอเคารพ หรือ ไฮเด็ง (haiden) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสาธารณชนไว้สวดภาวนาหรือเคารพคามิที่เก็บไว้ในฮนเด็ง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสำคัญของศาลเจ้าชินโตไม่ได้มีไว้เพื่อการสักการะเป็นหลัก แต่มีไว้เพื่อเก็บรักษาศาสนวัตถุศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น[2]

สำหรับศาลเจ้าขนาดเล็กริมทางเรียกว่า โฮโกระ (hokora) และศาลเจ้าพกพาเรียกว่า มิโกชิ (mikoshi) ซึ่งจะอัญเชิญแห่ในพิธี (มัตสึริ; matsuri) ทั้งคู่ก็จัดเป็นศาลเจ้าชินโตประเภทหนึ่งเช่นกัน

องค์ประกอบ[แก้]

ภาพวาดแสดงถาวรวัตถุต่าง ๆ ในศาลเจ้าชินโตทั่วไป

จากภาพ หมายเลขต่าง ๆ คือถาวรวัตถุที่มักพบในศาลเจ้าชินโต ดังนี้

  1. โทริอิ – ทางเข้าศาลเจ้าชินโต
  2. บันไดหิน
  3. ซันโด – ทางเดินตรงเข้าสู่ศาลเจ้า
  4. โชซูยะ หรือ เทมิซูยะ – จุดชำระล้างร่ายกายให้สะอาดก่อนเข้าศาลเจ้า โดยทั่วไปคือการใช้น้ำตักใส่กระบวยและล้างมือกับปาก
  5. โตโร – โคมไฟหิน
  6. คางูระ-เด็ง – อาคารสำหรับการแสดงโนะ
  7. ชามูโชะ – สำนักงานบริหารของศาลเจ้า ในบางแห่งอาจรวมถึงร้านค้าของศาลเจ้า
  8. เอมะ – จุดแขวนป้ายคำอธิษฐาน หรือ จุดผูกดวงเซียมซีโชคร้าย
  9. เซ็สชะ/มัสชะ – ศาลเจ้าประกอบขนาดเล็ก
  10. โคไมนุ – สิงโตหิน
  11. ไฮเด็ง – หอเคารพ บริเวณที่ผู้คนใช้สวดภาวนาและสักการะคามิ
  12. ทามางากิ – รั้วที่ล้อมรอบฮนเด็ง
  13. ฮนเด็ง – อาคารหลัก สถิตคามิ โดยทั่วไปไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ส่วนประกอบของศาลเจ้าชินโตมักมีการจัดรูปแบบที่หลากหลายกว่านี้มาก แม้นแต่ฮนเด็งซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของศาลเจ้าอาจไม่ก็ได้ หากคามิเชื่อว่าสถิตในบริเวณหรือสถานที่โดยรอบศาลเจ้า

วัดพุทธกับศาลเจ้าชินโต[แก้]

ภาพวาดโบราณแสดงศาลเจ้าสึรูงาโอกะฮาจิมังซึ่งอยู่ด้านบนของภาพซึ่งมีวัดพุทธสร้างประกอบ สังเกตได้จากเจดีย์สองชั้นด้านล่าง

จากเดิม การสร้างศาลเจ้าชินโตนั้นมักสร้างแบบชั่วคราว ไม่ได้มีลักษณะเป็นถาวรวัตถุ จนกระทั่งการเข้ามาของพระพุทธศาสนา สร้างแนวติดของการสร้างถาวรวัตถุขึ้น[5] ซึ่งชาวญี่ปุ่นนิยมสร้างวัดพุทธไว้ประกอบร่วมกับศาลเจ้าชินโตเดิม ลักษณะแบบนี่นี้เรียกว่า จิงกู-จิ (ญี่ปุ่น: 神宮寺โรมาจิjingū-ji) ซึ่งแปลตรงตัวว่าวัดศาลเจ้า ซึ่งส่วนมากได้ถูกทำลายในภายหลังด้วยข้อกฎหมายใหม่ที่บัญญัติให้แยกวัดและศาลเจ้าออกจากกัน อย่างไรก็ตาม คติการสร้างศาลเจ้าชินโตใกล้กับวัดพุทธยังคงปรากฏให้เห็นทั่วไป เช่น วัดอาซากูซะในโตเกียว ประกอบด้วย วัดเซ็นโซซึ่งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน กับ ศาลเจ้าอาซากูซะ ซึ่งเป็นศาลเจ้าชินโตที่บูชาดวงวิญญาณของผู้สร้างวัดเซ็นโซ เป็นต้น[6] ซึ่งรูปแบบของศาลเจ้าอาซากูซะที่กล่าวไปข้างต้นจะเรียกว่า ชินจู-โด ซึ่งเป็นชินจูชะประเภทหนึ่ง

โดยทั่วไปศาลเจ้าชินโตจะมีการสร้างใหม่บนศาลเจ้าเดิมเป็นรอบ ๆ เช่น ศาลเจ้าอิเซะจะสร้างใหม่ทุก 20 ปี แต่ที่สำคัญเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกศาลเจ้ามาตลอดตั้งแต่อดีต คือจะไม่มีการเปลี่ยนทรงศาลเจ้าเด็ดขาด และจะสร้างด้วยสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเหมือนศาลเจ้าหลังเดิมเท่านั้น[5]

ชินจูชะ[แก้]

ศาลเจ้าฮิโยชิ ไตฉะ (Hiyoshi Taisha) เป็นชินจูฉะของวัดเอ็นเรียกุ

ชินจูชะ (ญี่ปุ่น: 鎮守社/鎮社โรมาจิchinjusha) เป็นศาลเจ้าชินโตรูปแบบหนึ่งที่สถิตคามิผู้ปกป้อง ที่เรียกว่า ชินจูงามิ (鎮守神; chinjugami) ซึ่งคือคามิที่พิทักษ์กป้องบริเวณพื้นที่หนึ่ง เช่น หมู่บ้าน ถนน อาคาร หรือแม้แต่ วัดพุทธ และ พระราชวัง เปรียบเทียบกับความเชื่อแบบไทยคล้ายกับ ผีเจ้าที่[7] สำหรับในจิงกู-จิ ศาลเจ้าชินจูชะจะเรียกว่า "ชินจู-โด"[8][9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Stuart D. B. Picken, 1994. p. xxiii
  2. 2.0 2.1 Bernhard Scheid. "Religiöse Bauwerke in Japan" (ภาษาเยอรมัน). University of Vienna. สืบค้นเมื่อ 27 June 2010.
  3. Iwanami ญี่ปุ่น: Kōjienโรมาจิ広辞苑 Japanese dictionary
  4. Mori Mizue
  5. 5.0 5.1 Fujita, Koga (2008:20-21)
  6. ข้อมูลจากหน้า ศาลเจ้าอาซากูซะ บนวิกิพีเดียภาษาไทย
  7. Iwanami ญี่ปุ่น: Kōjienโรมาจิ広辞苑 Japanese dictionary, 6th Edition (2008), DVD version
  8. Tamura, Yoshiro (2000). Japanese Buddhism - A Cultural History (First ed.). Tokyo: Kosei Publishing Company. p. 86. ISBN 978-4-333-01684-6.
  9. Bocking, Brian (1997). A Popular Dictionary of Shinto - 'Jisha'. Routledge. ISBN 978-0-7007-1051-5.