วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

พิกัด: 13°44′13″N 100°29′45″E / 13.73703°N 100.49592°E / 13.73703; 100.49592
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดประยุรวงศาวาส
ที่ตั้งถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
นิกายมหานิกาย(เถรวาท)
พระประธานพระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อพระพุทธนาคน้อย
ความพิเศษพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
เว็บไซต์http://www..watprayoon.org
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร การบูรณะวัดส่งผลให้วัดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 (Award of Excellence) ให้โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ประวัติ[แก้]

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่า และสมุหพระกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็น พระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดรั้วเหล็ก" เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน รั้วเหล็กนี้สูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธคือ หอก ดาบ และขวาน (ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน) มีลักษณะเป็นกำแพงและซุ้มประตูเล็กๆ เป็นตอนๆ วัดจากมุมวิหารคตข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออกยาว 148 เมตร ล้อมบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) อีก 2 ด้านด้านตะวันตกยาว 48 เมตร ด้านใต้ยาว 43 เมตรล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด ตอนขวามือเข้ามายาว 40 เมตร ตอนซ้ายมือเข้ามายาว 20 เมตร

มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอา หนักต่อหนัก คือเหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น ในคราวเดียวกันนั้นยังทูลเกล้าฯ ถวายพรมผืนใหญ่ 1 ผืน กับโคมกิ่งแก้ว 3 โคม ซึ่งไม่โปรด จึงได้ทูลขอ พระราชทานโคมไปประดับในพระอุโบสถวัดนี้

เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะเป็น อัครราชทูตพิเศษเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาใน พ.ศ. 2423 เมื่อกลับถึงเมืองไทยในปีเดียวกันได้เล่าว่า ตนพบรั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพงเมืองหลายแห่งในกรุงลอนดอนรั้วเหล็กเหล่านั้นมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับรั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศาวาส

หน้าบัน ลายดอกบุนนาค พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมไทย|สถาปัตยกรรมทรงไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ ส่วนพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยเช่นกัน ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธนาค (หลวงพ่อนาค) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย อายุกว่า 700 ปี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ยังได้สร้างพระบรมธาตุมหาเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ ถือว่าเป็นเจดีย์แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2398 ต่อมา พ.ศ. 2425 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้ให้ซ่อม พระวิหาร เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกา ปิดทองประดับกระจกใหม่ ซ่อมศาลาและพระอุโบสถใหม่ ซึ่งในปีถัดมาพระองคฺได้เสด็จมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถวัดประยุรวงศานี้

การสร้างวัดได้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371 สร้างอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2379 ได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ว่า

"ครั้นลุถึงศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ 13 ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน 5 นิ้วชำรุดหูพะเนียงทิ้งอยู่ในวัดบอก1 เอาทำไฟพะเนียงจุด...."
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ในปี พ.ศ. 2405
สัญลักษณ์วัด

ในเรื่องนี้ หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่า

"วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 วันนี้มีการฉลองวัดอันงดงามของสมเด็จองค์ใหญ่บิดาของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีการมหรสพมากมายหลายอย่าง ประชาชนมาประชุมกันมากมาย หลายพัน ทั้งชาวพระนครและสัญจรมาจากที่ต่างๆ ของประเทศ..."

หมอบรัดเลบันทึกไว้ว่าในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารนั้น ได้มีการทำไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่ โดยฝังโคนกระบอกปืนใหญ่ลงในแผ่นดินเมื่อจุดชนวนขึ้น ปืนใหญ่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายคน หมอบรัดเลอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 250 เมตร เจ้าพระยาพระคลังดิศให้คนตามตัวหมอบรัดเลย์ไปรักษาผู้บาดเจ็บพระรูปหนึ่งกระดูกแขนแตก หมอบรัดเล จำต้องตัดแขนของพระรูปนั้น การผ่าตัดประสบผลสำเร็จ บาดแผลหายสนิทในเวลาไม่นานนัก นับได้ว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาสในวันฉลองวัดนั่นเอง

ภายหลังจากการระเบิดครั้งนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ให้สร้างอนุสาวรีย์เป็นปืนใหญ่ 3 กระบอกไว้ในบริเวณอุทยานเขามอ (เขาเต่า) เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต อนุสาวรีย์ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ข้อความจารึกที่อนุสาวรีย์เป็นดังนี้

"อนุสาวรีย์นี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปีวอก อัฐศก ศักราช 1198 (พ.ศ. 2379) ให้เป็นที่ระฦกแห่งปืนใหญ่ระเบิดให้เป็นที่เสียชีวิตหลายในเวลามีงานมหกรรมการฉลองพระอารามนี้..."

ต่อมาพ.ศ. 2428 เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้ซ่อมกำแพงแก้วและซุ้มสีมา สร้างศาลาใหญ่ 1 หลัง พร้อมกับบูรณะส่วนที่ทรุดโทรมไป นอกจากนี้ได้สร้างโรงเรียนหนังสือไทยที่ข้างพระเจดีย์ใหญ่ ชื่อว่า โรงเรียนไทยประยุรวงศ์ และโรงเรียนพระปริยัตติธรรม อุทิศแด่ท่านลูกอินผู้มารดาและสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ผู้บิดา ให้ชื่อนามศาลาว่า "พรินปริยัติธรรมศาลา" (และยังเป็นหอสมุดประชาชนแห่งแรกอีกด้วย) ได้ประพันธ์เป็นบทโคลงจารึกในแผ่นศิลา 2 ข้างประตู ในครั้งนี้จมื่นทิพรักษา (พิณเทพเฉลิม บุนนาค) ได้สมทบเงินออกค่าศิลาปูพื้นด้วย

พ.ศ. 2436 ได้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งใช้เป็นกุฏิหรือโรงเรียน จารึกนามว่า "ท้าวราชกิจวรภัตร ร.ศ. 112" อยู่ริมคลองด้านหลังวัด (ท้าวราชกิจวรภัตรศรีสวัสดิ์สมาหาร (แพ บุนนาค) เป็นพี่สาวของพระยาอภัยสงคราม (นกยูง บุนนาค)

ต่อมาได้มีการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้น และปฏิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) พระยาอุทัยธรรมมนตรี (จีน บุนนาค) เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เจ้าจอมเลียมและเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ 5 และอีกหลายท่าน

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

อนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอก
ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระญาณสังวร (ด้วง) พ.ศ. 2371
พ.ศ. 2375
พ.ศ. 2372
พ.ศ. 2375
2 พระญาณไตรโลกาจารย์ (ขำ) พ.ศ. 2372 พ.ศ. 2374
3 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ อินฺทสโร) พ.ศ. 2375 พ.ศ. 2416
4 พระสาสนุทเทศาจารย์ (สา) พ.ศ. 2416 พ.ศ. 2421
5 พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) พ.ศ. 2421 พ.ศ. 2431
6 พระครูสังวราทิคุณ (ชู) พ.ศ. 2432 พ.ศ. 2435
(รักษาการ) พระครูสาราณียคุณ (บุญ) พ.ศ. 2435 พ.ศ. 2436
7 พระสาสนุรักษ์ (ทิม) พ.ศ. 2436 พ.ศ. 2443
8 พระธรรมเจดีย์ (แก้ว มณ๊รตโน) พ.ศ. 2443 พ.ศ. 2448
9 พระปรากรมมุณี (เปลี่ยน) พ.ศ. 2448 พ.ศ. 2454
10 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) พ.ศ. 2454 พ.ศ. 2476
11 พระธรรมปาหังษณาจารย์ (เชื้อ จนฺทโชติ) พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2500
12 พระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2548
13 พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) พ.ศ. 2548 ปัจจุบัน

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุ[แก้]

พระอุโบสถ[แก้]

พระพุทธธรรมวิเชฏฐศาสดา พระประธานในพระอุโบสถ

เป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย กว้าง 18.24 เมตร ยาว 25.20 เมตร หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันเป็นลายดอกพุดตาน ด้านหน้าและด้านหลังมีประตูเข้าออกด้านละ 2 ประตู หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ พระประธานในพระอุโบสถหล่อในปี 2371 อันเป็นปีที่เริ่มสร้างพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.99 เมตร สูง 1.625 เมตร ประกอบด้วยพระพุทธลักษณะอันงดงาม พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ให้ช่างชาวไทยเป็นผู้หล่อ ได้ว่าจ้างช่างลงรักปิดทองมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวกันว่ามีฝีมือและกรรมวิธีการปิดทองดีเยี่ยม มาปิดทองพระพุทธรูป และถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่นำช่างฝีมือปิดทองเป็นชาวต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น

พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามพระประธานในพระอุโบสถ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติแก่วัดว่า "พระพุทธธรรมวิเชษฐศาสดา " แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาประเสริฐสุดโดยธรรม

พระอุโบสถนี้ได้รับการซ่อมแซมเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานผ้าพระกฐินณ วัดประยุรวงศาวาส ได้มีกระแสพระราชดำรัสรับสั่งว่า เสาภายในพระอุโบสถห่างกันมากจนน่ากลัวเป็นอันตราย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ( ช่วง บุนนาค ) เมื่อครั้งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหมจึงได้ก่อเสารายในพระอุโบสถเพิ่มเติมอีกด้านละ 2 ต้น จากเดิมที่เคยมีเสารายด้านละ 4 ต้น รวมเป็นเสารายทั้งสิ้นด้านละ 6 ต้น มีระยะห่างกันต้นละ 3 ศอกเศษ

ต่อมา พ.ศ. 2422 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ให้ซ่อมแซมพระอุโบสถอีกครั้ง โดยรื้อช่อฟ้าใบระกาของเก่าออกและปลี่ยนทำใหม่ จัดการดึงพระประธานที่ทรุดเอียงไปทางทิศตะวันตกให้ตรงดังเดิม

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2487 เวลา 11.30 น. สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดประยุรวงศาวาสประสบภัยจากลูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งลงจากเครื่องบินรบหวังทำลายสะพานพระพุทธยอดฟ้า แรงระเบิดทำให้เสนาสนะและถาวรวัตถุหลายแห่งต้องหักพังและชำรุดเสียหายเป็นอันมาก พระอุโบสถก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน คณะกรรมการวัดประยุรวงศาวาสจึงได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง

ใน พ.ศ. 2533 พระเทพประสิทธิคุณ (มงคล วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสได้จัดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั้งส่วนหลังคาฝาผนังและพื้นล่างทั้งหมด ยกเว้นภาพจิตรกรรมฝาผนังอันนับเป็นการซ่อมแซมครั้งใหญ่ที่สุดของพระอุโบสถหลังนี้ซึ่งมีอายุ 162 ปี และในโอกาสนี้เอง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินที่วัดประยุรวงศาวาส

วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์[แก้]

พระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์
พระวิหาร

พระวิหารหลวงพ่อพระพุทธนาคเป็นสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย กว้าง 16.99 เมตร ยาว 20.19 เมตร เป็นวิหาร 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น หน้าบันสลักลวดลายดอกไม้สวยสดงดงามและปิดทองประดับกระจกแพรวพราว มีซุ้มประตู 4 ประตู บานประตูประดับมุก

พระวิหาร นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 4.25 เมตร สูง 5.70 เมตร มีพระนามว่า พระพุทธนาค เป็นพระพุทธรูปโบราณคู่กับพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม พระพุทธรูปทั้งสองนี้ ประกอบด้วยพระพุทธลักษณะสมัยสุโขทัยเหมือนกัน คือ มีพระรัศมีเปลวแต่ไม่มีไรพระสก ชายผ้ารัดประคตเป็นเขี้ยวตะขาบและประทับนั่งขัดสมาธิราบเช่นเดียวกับ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธนาคนี้ได้รับอัญเชิญจากจังหวัดสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ ณ. พระวิหารวัดประยุรวงศาวาส เมื่อ พ.ศ. 2374

พุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวจีน ให้ความเคารพบูชาในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธนาคเป็นอย่างยิ่ง ด้วยได้รับสิ่งที่เป็น อัศจรรย์หลายประการ และโดยทั่วไปมักเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธนาคน้อย เพื่อให้คู่กับพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ที่เรียกว่า พระพุทธนาคใหญ่ พุทธศาสนิกชนชาวจีนได้ขนานนาม พระพุทธนาค นี้ว่า " ลักน้อย " แปลว่า กลีบบัว 7 ชั้น เปรียบพระพุทธองค์คือ ซำปอกง (หลวงพ่อโต) ของชาวจีน

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระวิหารและพระพุทธนาคเป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติและพระศาสนา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

ใน พ.ศ. 2550 พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส รูปปัจจุบัน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับจากประเทศศรีลังกา พม่า และที่ค้นพบในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส มาประดิษฐานในพระวิหาร

พระบรมธาตุมหาเจดีย์[แก้]

พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ยามค่ำคืน

พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เมตร มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์ เรียงรายพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เป็นผู้เริ่มสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้ขึ้น แต่หลังสร้างวัดแล้ว พระเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ ผู้สร้างก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมื่อ พ.ศ. 2398 ต่อมา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พ.ศ. 2414 พระเจดีย์องค์ใหญ่ถูกฟ้าผ่าจนยอดพระเจดีย์หักไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นเวลานานถึง 47 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2461 พระธรรมไตรโลกาจารย์ (อยู่ อุตฺตรภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารในขณะนั้น ได้จัดการบูรณปฏิสังขรณ์ยอดพระเจดีย์ขึ้นดังเดิม

พระบรมธาตุมหาเจดีย์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เมื่อคราวที่พระปรากรมมุนี (เปลี่น) เจ้าอาวาสรูปที่ 10 บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เล็กรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ และซ่อมกำแพงรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ จากนั้นได้จัดงานฉลองพระเจดีย์และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเจดีย์องค์ใหญ่ ในโอกาสเดียวกันนี้ พระสมุห์ปุ่น (ต่อมาเป็นพระครูสาราณิยคุณ) ได้ให้จารึกข้อความลงในกระดานชะนวน วางไว้ห้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุว่า" พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 หลังปีมะแม 1269 พระพุทธศาสนา 2450 เป็นส่วนอดีต 2549 ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่พระวิริยาธิกโพธิญาณ ในอนาคตกาลเทอญ "

ครั้งล่าสุด พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารรูปปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อ พ.ศ. 2549 และได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์ใหญ่เมื่อวันที่ 5 และ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระมหากรุณาโปรดเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนองค์พระเจดีย์ใหญ่ในโอกาสสมโภช 180 ปีวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.55 น. นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

อุทยานเขามอ (เขาเต่า)[แก้]

เขามอและสระน้ำโดยรอบ

เขามอ เป็นภูเขาจำลองขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด มีศาลาราย 8 หน้า ตั้งอยู่ริมสระน้ำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ มีบันไดขึ้นสู่ยอดเขา บนยอดเขาเป็นที่ตั้งพระสถูปหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองสำหรับบรรจุพระพุทธรูปสำคัญไว้ภายใน

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สร้างภูเขาจำลองนี้ขึ้นโดยได้แนวคิดเกี่ยวกับเค้าโครงของภูเขาจำลองมาจาก "หยดเทียนขี้ผึ้ง " ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ หยดเทียนขี้ผึ้งนี้เกิดจากน้ำตาเทียนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจุดขณะเมื่อประทับอยู่ในห้องลงพระบังคนหนัก น้ำตาเทียนหยดทับถมกันเป็นเวลาหลายปีจนก่อรูปเหมือนภูเขา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ จึงนำเค้าโครงของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้มาเป็นแบบสำหรับสร้างภูเขาจำลอง

สระน้ำที่ล้อมรอบภูเขาจำลองเต็มไปด้วยเต่า และตะพาบน้ำ ที่มีผู้นำมาปล่อยไว้แต่นานมาแล้ว ประชาชนนิยมพาบุตรหลานมาเที่ยวเล่นบริเวณภูเขาจำลองเพื่อให้อาหารแก่เต่าและตะพาบน้ำ ภูเขาจำลองเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อว่า "ภูเขาเต่า" เนื้อที่ทั้งหมด บริเวณภูเขาจำลองมีความยาว 48 เมตร กว้าง 42 เมตร กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนภูเขาจำลองไว้ ในฐานะเป็นถาวรวัตถุสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

เจดีย์ท่านขรัวแก้ว[แก้]

เจดีย์ท่านขรัวแก้ว

พระอาจารย์แก้ว ซึ่งเรียกกันว่า ท่านขรัวแก้ว เป็นพระอาจารย์สอนหนังสือไทยแก่กุลบุตรในตระกูลของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ในเวลานั้น เชื่อว่าบุตรหลานของท่านผู้สร้างวัดคงได้ศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นในสำนักของท่านขรัวแก้วแทบทุกคน เช่น เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นต้น

ผู้สร้างพระเจดีย์ท่านขรัวแก้ว คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ผู้เป็นบุตรคนหนึ่งของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ภายในพระเจดีย์มีรูปหล่อท่านขรัวแก้ว ประดิษฐานไว้ ท่านขรัวแก้วเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของตระกูลบุญนาคเพราะนอกจากจะเป็นพระอาจารย์สอนหนังสือแล้วท่านยังเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ได้ส่งเรือสำเภาเดินทางไปค้าขายกับประเทศจีน ครั้นถึงกำหนดเรือสำเภายังกลับไม่ถึงกรุงเทพฯ สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงเรียนถามท่านขรัวแก้วว่า เรือสำเภาจะกลับกรุงเทพฯเมื่อใด ท่านขรัวแก้วตอบด้วยสำเนียงปักษ์ใต้ (เพราะท่านเป็นชาวเมืองนครศรีธรรมราช ) ว่า "มาแหล่วแหล่..เอาชาดีมากินห้อ " เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาฯ เพิ่งไปตรวจดูที่ท่าเรือสำเภา แต่ไม่พบเรือสำเภานั้น จึงท้วงว่า " ท่านขรัวพูดเล่นไปได้ ถามจริง ๆ ผมเพิ่งมาจากท่าเรือเดี๋ยวนี้เอง" ท่านขรัวแก้วยังตอบยืนยันเหมือนเดิมว่า " มาแหล่วแหล่..เอาชาดีมากินห้อ " สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงกลับไปที่ท่าเรืออีกครั้งแล้วพบว่า เรือสำเภาได้เข้าเทียบท่าในเวลาที่สมเด็จเจ้าพระยาฯกำลังสนทนากับท่านขรัวแก้วที่วัดนั่นเอง

ใน พ.ศ. 2439 เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ได้สร้างเจดีย์หลังเล็กองค์หนึ่งไว้ด้านหลังพระอุโบสถ มีรูปหล่อท่านขรัวแก้วประดิษฐานไว้ พ.ศ. 2521 ทางวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารได้บูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ท่านขรัวแก้ว โดยสร้างเจดีย์ใหม่ครอบเจดีย์องค์เก่า และสร้างศาลาจตุรมุขไว้ด้านหน้าเจดีย์ ภายในศาลาจตุรมุขนี้ เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อท่านขรัวแก้ว

พรินทรปริยัติธรรมศาลา พิพิธภัณฑ์พระ ประยูรภัณฑาคาร[แก้]

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ได้สร้างศาลาต่อมุขพระบรมธาตุมหาเจดีย์ขึ้น เพื่อเป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร เมื่อ พ.ศ. 2428 อุทิศแด่ท่านลูกอินผู้มารดาและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้บิดา

ต่อมา พ.ศ. 2459 กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ใช้หอพรินทรปริยัติธรรมศาลาเป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนในวัดเป็นแห่งแรก อยู่ในการกำกับดูแลของโรงเรียนหนังสือไทย สำนักวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หอพรินทรปริยัติธรรมศาลาจึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

ใน พ.ศ. 2550 วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์หอพรินทรปริยัติธรรมศาลา จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2551 และจัดเป็น พิพิธภัณฑ์พระ มีชื่อว่า ประยูรภัณฑาคาร ที่แสดงพระกรุและของมีค่าที่ค้นพบบนองค์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และที่ผู้อื่นถวายสมทบในภายหลังด้วย และในโอกาสเดียวกันที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธีสมโภชพระอารามหลวง 180 ปี ได้ทรงประกอบพิธีเปิด พิพิธภัณฑ์พระ ประยูรภัณฑาคาร ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อีกแห่งหนึ่งด้วย

อาณาเขตวัด[แก้]

วัดประยุรวงศาวาสในแบบจำลองผังเมืองกรุงเทพมหานคร

วัดประยุรวงศาวาส มีเนื้อที่ 27 ไร่ ลักษณะพื้นที่ราบเรียบสี่เหลี่ยม มีอาณาเขตอุปจารดังนี้

  • ทิศตะวันออก มีอาณาเขตจรดถนนประชาธิปก
  • ทิศตะวันตก มีอาณาเขตจรดคลองสาธารณะ
  • ทิศเหนือ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย 1
  • ทิศใต้ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย 2 และโรงเรียนศึกษานารี

มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 344 ตารางวา ในด้านตะวันออกติดกับถนนประชาธิปกได้สร้างเป็นตึกแถว 30 หลัง ในด้านตะวันตกได้แบ่งให้ประชาชนเช่าอยู่อาศัย

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°44′13″N 100°29′45″E / 13.73703°N 100.49592°E / 13.73703; 100.49592