ลูกประคบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ลูกประคบ คือสิ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ที่ใช้พืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาใช้ในการรักษาหรือเพื่อช่วยในการไหลเวียนของโลหิต ต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาลูกประคบเรื่อยมา เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วนผสมในการทำลูกประคบสมุนไพร[แก้]

  • การบูร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cinnamomum camphora ( L . ) J.S. Presl มีสรรพคุณเป็นยาระงับเชื้ออ่อนๆ เป็นยากระตุ้นหัวใจ ช่วยขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  • เกลือ สามารถใช้ฆ่าเชื้อแก้อาการอักเสบได้ อีกทั้งเกลือยังมีความสามารถในการดูดความร้อน จะช่วยทำให้สรรพคุณทางยาของสมุนไพรซึมได้เร็วขึ้น
  • ผิวมะกรูด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCitrus hystrix DC. มีสรรพคุณในการรักษาอาการหน้ามืดเป็นลม แก้อาการวิงเวียน และบำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ได้อีกด้วย
  • ขมิ้นชัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCurcuma longa Linn. Zingiberaceae มีสรรพคุณในการลดการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการแพ้ได้
  • ไพล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าZingiber cassumunar Roxb. มีสรรพคุณในการลดอาการปวด บวมแดงและแก้ฟกช้ำได้ด้วย
  • ใบมะขาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ Tamarindus indica Linn. มีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ
  • ใบส้มป่อย ชื่อวิทยาศาสตร์: Acacia concinna (Willd.) DC. แก้โรคผิวหนัง

อุปกรณ์สำหรับการทำลูกประคบ[แก้]

  1. ผ้าขาวบาง ควรจะเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบ เพื่อไม่ให้ตัวสมุนไพรหลุดออกมาจากตัวผ้าได้
  2. สมุนไพรข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ก่อนนำมาทำลูกประคบต้องทำความสะอาด แล้วหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  3. หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ
  4. เชือกที่ไว้ใช้สำหรับมัดลูกประคบ

วิธีการทำลูกประคบ[แก้]

  1. นำไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด มาทำความสะอาด แล้วมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ตามที่ต้องการ
  2. นำใบมะขาม ใบส้มป่อย มาผสมกับส่วนผสมในข้อ 1 แล้วใส่เกลือและการบูร ผสมให้เข้ากัน
  3. แบ่งส่วนผสมที่ได้ออกเป็นส่วนๆ ใส่ในผ้าที่ได้เตรียมไว้ แล้วใช้เชือกที่เตรียมไว้มัดให้แน่น

สรรพคุณ[แก้]

หากยังไม่ต้องการนำลูกประคบมาใช้งาน เราสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 3-5 วัน ควรเก็บให้อยู่ในที่แห้ง และเมื่อต้องการนำลูกประคบออกมาใช้งาน เราเพียงแค่นำมานึ่งก่อนนำไปใช้งานประมาณ 10-15 นาที และก่อนใช้งานควรทดสอบก่อนด้วยว่าลูกประคบร้อนเกินไปหรือไม่

  • ช่วยในการไหลเวียนของเส้นเลือด ลดการอุดตันของเส้นเลือด
  • ลดอาการปวด บวม เกร็งของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายจากกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย
  • ช่วยให้เกิดอาการตื่นตัวของร่างกาย เนื่องจากกลิ่นของสมุนไพรที่นำมารวมกัน

อ้างอิง[แก้]