ระบบสองรอบ
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
ระบบการลงคะแนน |
---|
สถานีย่อยการเมือง |
ระบบสองรอบ (อังกฤษ: two-round system) การลงคะแนนแบบตัดเชือก (runoff voting) หรือ ระบบบัตรลงคะแนนรอบที่สอง (second ballot) หรือระบบนับบัตรลงคะแนน (ballotage) เป็นวิธีการลงคะแนนแบบหนึ่งที่ใช้สำหรับเลือกผู้แทนเพียงคนเดียว โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกผู้แทนที่ชอบเพียงคนเดียว โดยการเลือกตั้งแบบนี้จะมีสองรอบ โดยผู้สมัครหนึ่งคนหรือมากกว่าจะสามารถผ่านเข้าไปยังรอบสองได้ในกรณีที่คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (มากกว่าร้อยละ 50) หรือขั้นต่ำที่ระบุไว้ตามกฎหมายเลือกตั้ง[1] โดยในรอบที่สองนั้น จะเหลือเพียงแค่ผู้สมัครที่คะแนนเสียงมากที่สุดในรอบแรกเพียงสองคน หรือบางกรณีคือผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำในรอบแรกเท่านั้น
ระบบการลงคะแนนแบบสองรอบนี้นิยมใช้กันในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบเลือกตั้งทางตรง รวมทั้งการเลือกตั้งผู้นำพรรคการเมืองหรือผู้บริหารภายในบริษัทเอกชน
นิยาม
[แก้]การลงคะแนนระบบสองรอบนั้นในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "การลงคะแนนแบบตัดเชือก" (runoff voting) และเรียกการลงคะแนนรอบที่สองว่า "การเลือกตั้งรอบตัดเชือก" (runoff election) โดยความหมายนั้นอาจหมายถึงการเลือกตั้งใด ๆ ที่แบ่งการลงคะแนนเป็นรอบ ๆ โดยในแต่ละรอบจะมีผู้สมัครที่ตกรอบ โดยในการจำกัดความแบบทั่วไปของการเลือกตั้งระบบสองรอบนั้นไม่ได้มีเพียงแค่แบบตัดเชือกเพียงแบบเดียว แต่ยังมีแบบอื่นซึ่งรวมถึงแบบบัตรลงคะแนนหลายรอบ (exhaustive ballot) และแบบหลายรอบในทันที (instant runoff voting) ยกตัวอย่างเช่นในประเทศแคนาดา ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งมักจะมีผู้สมัครมากกว่าสองคนนั้นจะใช้ระบบบัตรลงคะแนนหลายรอบซึ่งมักจะเรียกกันว่าระบบตัดเชือกเช่นกัน เพื่อคัดเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาดเท่านั้น (มากกว่าครึ่งหนึ่ง) โดยผู้สมัครที่มีคะแนนน้อยที่สุดในแต่ละรอบการลงคะแนนจะเป็นผู้ตกรอบไป โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถลงคะแนนในรอบต่อไปโดยเลือกผู้สมัครคนอื่นแทนได้
การลงคะแนนและนับคะแนน
[แก้]ในการลงคะแนนทั้งสองรอบ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทำเครื่องหมายเลือกผู้สมัครเพียงคนเดียว หากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเสียงข้างมากเด็ดขาด (มากกว่าครึ่ง) ในรอบแรก ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับแรกจะได้เข้าไปในรอบสอง โดยผู้สมัครที่เหลือนั้นตกรอบ ในการลงคะแนนรอบสองเนื่องจากเหลือผู้สมัครเพียงสองคน (ยกเว้นกรณีที่คะแนนเสียงออกมาเท่ากันแล้ว) ย่อมจะมีผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด (ผู้ชนะการเลือกตั้ง) โดยในรอบสองนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเปลี่ยนใจจากผู้สมัครที่ตกรอบในรอบแรกมาเลือกผู้สมัครคนอื่นที่เข้ารอบสองแทนได้
ในระบบสองรอบนี้ ยังมีแบบย่อยอื่นซึ่งยอมให้มีผู้สมัครเข้ารอบที่สองได้มากกว่าสองคน ในกรณีนี้ใช้การคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนนำเท่านั้น (ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับ) โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดเพื่อที่จะเข้าไปยังรอบที่สองได้
ตัวอย่าง
[แก้]ตัวอย่างการใช้งาน
[แก้]การเลือกตั้งระบบสองรอบใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส สมาชิกสภานิติบัญญัติ และการเลือกตั้งท้องถิ่นของฝรั่งเศส และใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอิหร่าน วุฒิสภาเช็กเกีย สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม และสมัชชาแห่งชาติคิวบา ในอิตาลีนั้นใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และยังใช้ในการเลือกว่าพรรคใดหรือพรรคร่วมใดจะได้จำนวนที่นั่งเพิ่มในสภาเมือง[2] ระบบเลือกตั้งสองรอบยังใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศกัวเตมาลา กานา กาบูเวร์ดี คอสตาริกา คีร์กีซสถาน โครเอเชีย โคลอมเบีย จิบูตี ชิลี เช็กเกีย ซิมบับเว เซอร์เบีย เซเนกัล ไซปรัส ติมอร์-เลสเต ตุรกี โตโก[3] นอร์ทมาซิโดเนีย บราซิล บัลแกเรีย บูร์กินาฟาโซ เบนิน โบลิเวีย เปรู โปรตุเกส โปแลนด์ ฟินแลนด์ มอลโดวา มาลาวี ยูเครน โรมาเนีย รัสเซีย ลิทัวเนีย ไลบีเรีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สาธารณรัฐโดมินิกัน ออสเตรีย อัฟกานิสถาน อาร์เจนตินา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อียิปต์ อุรุกวัย เอกวาดอร์ เอลซัลวาดอร์ และเฮติ
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ค.ศ. 2002
[แก้]ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 2002 นั้น มีเพียงผู้คาดการณ์โดยสื่อว่าจะเป็นผู้เข้ารอบสุดท้ายคือ ฌัก ชีรัก และลียอแนล ฌ็อสแป็ง ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคที่ใหญ่ที่สุดทั้งสองพรรคในฝรั่งเศสขณะนั้น โดยมีผู้สมัครชิงตำแหน่งทั้งสิ้นกว่า 16 คน รวมถึงฌ็อง-ปีแยร์ เชอแวนม็อง (ร้อยละ 5.33) และคริสตียาน โตบีรา (ร้อยละ 2.32) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายซ้ายของฌ็อสแป็ง โดยเนื่องจากคะแนนเสียงจากฝ่ายซ้ายนั้นถูกแบ่งให้ผู้สมัครหลายคน ทำให้ฌ็อง-มารี เลอ แปน ผู้สมัครคนที่สาม ได้คะแนนเสียงนำหน้าฌ็อสแป็งไปในรอบแรกได้ โดยผู้สมัครที่ได้ลำดับที่สี่ลงไป (ตกรอบ) มีคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 7
- ฌัก ชีรัก (ฝ่ายกลางขวา) ร้อยละ 19.88
- ฌ็อง-มารี เลอ แปน (ฝ่ายขวาจัด) ร้อยละ 16.86
- ลียอแนล ฌ็อสแป็ง (ฝ่ายกลางซ้าย) ร้อยละ 16.18 *ตกรอบ
เนื่องจากในรอบแรกไม่มีผู้สมัครรายใดที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ในรอบสองผู้สมัครจึงเหลือเพียงสองราย โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เคยสนับสนุนผู้สมัครรายอื่นที่ตกรอบแรกนั้นหันไปสนับสนุนชีรัก จึงทำให้ได้รับชัยชนะไปอย่างท้วมท้นในที่สุด
- ฌัก ชีรัก (ฝ่ายกลางขวา) ร้อยละ 82.21
- ฌ็อง-มารี เลอ แปน (ฝ่ายขวาจัด) ร้อยละ 17.79
ระบบการลงคะแนนที่คล้ายคลึง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Two-Round System". Electoral Reform Society. สืบค้นเมื่อ 7 Nov 2019.
- ↑ The usefulness of the link between different political forces in the second ballot is (...) a convergence of interests: Buonomo, Giampiero (2000). "Al candidato sindaco non eletto spetta sempre almeno un seggio". Diritto&Giustizia Edizione Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-01. สืบค้นเมื่อ 2021-06-07. – โดยทาง Questia (ต้องรับบริการ)
- ↑ https://www.aljazeera.com/news/2019/05/togo-law-president-stand-terms-190509180859448.html