ยืมใช้สิ้นเปลือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ยืมใช้สิ้นเปลือง (อังกฤษ: loan for consumption; ฝรั่งเศส: prêt de consommation (IPA: pʀɛ•də•kɔ̃sɔmasjɔ̃ /เปรเดอกงซอมาซียง/)) คือ สัญญายืม (อังกฤษ: loan) ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียก "ผู้ให้ยืม" (อังกฤษ: lender) โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่บุคคลอีกฝ่าย เรียก "ผู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น[1]

การยืมอันมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นเงินนั้น เรียก "กู้ยืม" (อังกฤษ: loan of money)[2] และจัดเป็นลักษณะหนึ่งของยืมใช้สิ้นเปลือง[3]

ยืมใช้สิ้นเปลืองเป็นหนึ่งในสองประเภทของสัญญายืม คู่กับ "ยืมใช้คงรูป" (อังกฤษ: loan for use)

การยืมทั้งหลายเหล่านี้ นับเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่เรียกได้ว่าไม่มีใครไม่เคยยืมหรือถูกยืม ไม่ว่าจะเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ ไปจนถึงของสำคัญต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งก็เนื่องจากสมาชิกในสังคมมิได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน กับทั้งความจำเป็นหลาย ๆ ด้าน อาทิ ในการประกอบธุรกิจที่ต้องการทุนสูงหรือทุนหมุนเวียน และอาจรวมถึงกิเลสตัณหาอยากได้อยากมีจนเกิดสำนวนไทยว่า "กู้หนี้ยืมสิน" การยืมจึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้ยืมกับผู้ยืม ซึ่งบางทีนำไปสู่ความวิวาทบาดทะเลาะในสังคม ดังนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม กฎหมายจึงเข้ามาควบคุมพฤติกรรมในการยืม[4]

บทบัญญัติของกฎหมาย[แก้]

ประเทศ บทบัญญัติต้นฉบับ คำแปลบทบัญญัติ
ไทย ไทย ป.พ.พ.
บรรพ 3 เอกเทศสัญญา, ลักษณะ 9, หมวด 2 ยืมใช้สิ้นเปลือง

"ม.650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
Civil and Commercial Code
Book 3 : Specific Contracts, Title 9 : Loan, Chapter 2 : Loan for consumption[5]

"Section 650. A loan for consumption is a contract whereby the lender transfers to the borrower the ownership of a certain quantity of property which is consumed in the user, and the borrower agrees to return a property of the same kind, quality and quantity.

The contract is complete only on delivery of the property lent."
ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น Minpō (ญี่ปุ่น: 民法)
Part 3 : Claims, Chapter 2 : Contracts, Section 5 : Loans for consumption[6]

"Article 587 (Loans for Consumption).
A loan for consumption shall become effective when one of the parties receives money or other things from the other party by promising that he/she will return by means of things that are the same in kind, quality and quantity.

Article 588 (Quasi-loans for Consumption).
In cases where any person has an obligation to provide money or other things under any arrangement which is not a loan for consumption, if the parties agree to regard such things as the subject matter of a loan for consumption, it shall be deemed that this establishes a loan for consumption."
มินโป
ภาค 3 สิทธิเรียกร้อง, หมวด 2 สัญญา, แผนก 5 ยืมใช้สิ้นเปลือง

"ม.587 (ยืมใช้สิ้นเปลือง)
การยืมใช้สิ้นเปลืองนั้น ย่อมเป็นผลเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับเงินหรือทรัพย์อย่างอื่นจากอีกฝ่าย โดยให้คำมั่นว่าเขาจะส่งเงินหรือทรัพย์ประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกลับคืนให้

ม.588 (เสมือนยืมใช้สิ้นเปลือง)
ในกรณีที่บุคคลใดมีหนี้ต้องให้เงินหรือทรัพย์อย่างอื่นตามข้อตกลงใด ๆ อันมิใช่การยืมใช้สิ้นเปลือง หากคู่สัญญาทุกฝ่ายตกลงกันให้ถือทรัพย์ดังกล่าวเสมือนสาระสำคัญแห่งการยืมใช้สิ้นเปลืองแล้ว ก็ให้ถือว่าเป็นกรณีของการยืมใช้สิ้นเปลือง"
ฝรั่งเศส ฝรั่งเศส French Civil Code (ฝรั่งเศส: Code civil des Français)
Book 3 : Of The Different Modes Of Acquiring Property; Title 10 : Of loans.[7]


"Article 1874. There are two kinds of loan:
That of things, which a party can use without destroying them;
And that of things, which are consumed by the use which is made thereof.
The first species is called loan for use, or gratuitous lending;
The second is termed loan for consumption, or simple loan."


Chapter 2 : Of loan for consumption, or simple loan; Section 1 : Of the nature of the loan for consumption

"Article 1892. The loan for consumption is a contract by which one of the parties delivers to the other a certain quantity of things which perish in using, on condition by the latter to return him so much of the same kind and goodness.

Article 1894. By the effect of such loan, the borrower becomes proprietor of the thing lent; and it is at his risk it perishes, in whatsoever manner such loss happen."
ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส
บรรพ 3 ลักษณะต่าง ๆ ของการได้มาซึ่งทรัพย์สิน, ลักษณะ 10 ยืม


"ม.1874 ยืมนั้นมีสองประเภทดังนี้
การยืมทรัพย์โดยที่คู่สัญญาใช้ทรัพย์นั้นได้แต่จะทำให้ทรัพย์เสียหายทำลายลงหาได้ไม่
และการยืมทรัพย์เพื่อใช้ให้สิ้นเปลืองลง
ประเภทแรก ชื่อว่า ยืมใช้คงรูป หรือยืมใช้โดยปลอดค่าตอบแทน
ประเภทที่สอง ชื่อว่า ยืมใช้สิ้นเปลือง หรือยืมใช้เสียเปล่า"


หมวด 2 ยืมใช้สิ้นเปลือง หรือยืมใช้เสียเปล่า; แผนก 1 สภาพของการยืมใช้สิ้นเปลือง

"ม.1892 ยืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาซึ่งคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งทรัพย์จำนวนหนึ่ง ๆ อันเป็นทรัพย์ที่สิ้นเปลืองหมดไปเมื่อถูกใช้ ให้แก่อีกฝ่าย โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ยืมจะส่งทรัพย์นั้นคืนให้ในประเภทและชนิดดังเดิม

ม.1894 อาศัยผลแห่งการยืมประเภทดังกล่าว ผู้ยืมย่อมได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ตนยืม และต้องรับเสี่ยงภัยใด ๆ จะเกิดขึ้นเป็นผลให้ทรัพย์นั้นสูญไป"

องค์ประกอบ[แก้]

คู่สัญญา[แก้]

"อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณ มีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม"
ป.พ.พ. ม.650

ยืมใช้สิ้นเปลือง (อังกฤษ: loan for consumption) เป็นสัญญายืมประหนึ่งซึ่งกฎหมายส่วนใหญ่วางนิยามไว้ สำหรับประเทศไทย ป.พ.พ. ม.650 ให้นิยามว่า คือ "...สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น" ด้วยบทบัญญัตินี้ คู่สัญญายืมจึงมีสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียก "ผู้ให้ยืม" (อังกฤษ: lender) อีกฝ่ายเรียก "ผู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) โดยทั้งสองฝ่ายจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ซึ่งหากเป็นนิติบุคคลก็ทำการผ่านผู้แทนของตนหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ[8]

วัตถุประสงค์แห่งสัญญา[แก้]

"จำเลยยืมไม้และสังกะสีของผู้ร้องเพื่อปลูกเรือน ย่อมหมายความว่า เอาทรัพย์นั้น ๆ มาขาดทีเดียว ไม่ใช่จะเอาทรัพย์นั้นไปคืนอีก จึงถือว่าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง กรรมสิทธิ์ในเรือนที่ปลูกขึ้นดังกล่าวย่อมเป็นของจำเลยตาม ป.พ.พ. ม.650

ที่ ป.พ.พ. ม. 1317 บัญญัติว่า การใช้สัมภาระของบุคคลอื่นทำสิ่งใดขึ้นใหม่ เจ้าของสัมภาระเป็นเจ้าของสิ่งนั้น แต่เจ้าของสัมภาระต้องใช้ค่าแรงงานให้แก่ผู้ทำ หมายความว่า สัมภาระจะต้องเป็นของบุคคลอื่นอยู่ในขณะที่ได้เอาสัมภาระนั้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นใหม่ เมื่อเป็นกรณียืมใช้สิ้นเปลือง สัมภาระนั้นย่อมตกเป็นของผู้ยืมแล้วในขณะปลูกสร้าง จึงไม่เข้าตาม ป.พ.พ. ม.1317 นี้"
ฎ. 905/2505

ด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. ม.650 วัตถุประสงค์ของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ การที่ผู้ให้ยืมให้ผู้ยืมยืมทรัพย์สินของตนเป็นจำนวนตามที่ตกลงกัน โดยโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นให้ผู้ยืมด้วย ส่งผลให้ผู้ยืมกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นแทน[9] และผู้ยืมจะได้คืนทรัพย์ประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกับที่ยืมไปนั้นให้แก่ผู้ให้ยืม กล่าวคือ มิใช่คืนทรัพย์สินอันเดียวกับที่ยืมไป แต่คืนทรัพย์สินอย่างเดียวกับที่ยืมไป เช่น ยืมน้ำตาลทรายขาวไปหนึ่งกิโลกรัม เมื่อคืนให้คืนทรัพย์สินประเภทเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลเหมือนกัน, ชนิดเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวเหมือนกัน และปริมาณเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวหนึ่งกิโลกรัมดุจกัน แต่ไม่ใช่คืนน้ำตาลทรายกลุ่มที่ยืมไปนั้น เพราะใช้สอยไปแล้วจะหาของเดิมที่ไหนคืนให้ได้[10]

ในเมื่อมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ ในเวลาส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืม ผู้ให้ยืมต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นด้วย ซึ่งต่างจากสัญญายืมใช้คงรูปโดยสิ้นเชิง[11]

ในสัญญานี้ เมื่อเกิดภัยใด ๆ แก่ทรัพย์สินที่ยืม ผู้ยืมจะเรียกผู้ให้ยืมให้รับผิดมิได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโอนมาสู่ผู้ยืมแล้ว และสัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน ไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดแก่ผู้ให้ยืมเลย เช่น ยืมไก่ฟ้าสองตัวไปฆ่าทำอาหาร และตกลงจะคืนไก่ฟ้าอย่างเดียวกันให้ หลังจากผู้ให้ยืมส่งมอบไก่ฟ้าให้แล้ว ผู้ยืมก็เป็นเจ้าของไก่ฟ้าคนใหม่ทันที แต่ผู้ยืมเก็บไก่ฟ้าไม่ดี บินหนีจากเล้าไปได้ในคืนหนึ่งก่อนใช้สอย ผู้ยืมจึงซื้อไก่ย่างมารับประทานแทน ครั้นถึงกำหนดคืน ผู้ยืมจะไม่คืนโดยอ้างว่าไก่ฟ้าหนีไปหมดโดยยังไม่ทันใช้สอยเลยมิได้ เพราะเขาได้กรรมสิทธิ์ในไก่ฟ้านั้นมาแล้ว ทรัพย์สินของผู้ใดเป็นอะไรไปก็เป็นคราวเคราะห์ของผู้นั้นเอง ดังนั้น ผู้ยืมต้องหาไก่ฟ้าอย่างเดียวกับที่ยืมมาคืนแก่ผู้ให้ยืมตามสัญญา[9]

แม้สัญญายืมมิใช่สัญญาต่างตอบแทน แต่ในสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจมีค่าตอบแทนการให้ยืมได้ เช่น ให้ยืมเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยด้วย มิใช่สัญญาปลอดการตอบแทนโดยสิ้นเชิง[11]

วัตถุแห่งสัญญา[แก้]

"สังกมทรัพย์ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปรกติอาจใช้ของอื่นอันเป็นประเภทและชนิดเดียวกันมีปริมาณเท่ากันแทนได้"
ป.พ.พ. ม.102 (เลิก)
"โภคยทรัพย์ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ซึ่งเมื่อใช้ย่อมเสียภาวะเสื่อมสลายไปในทันใดเพราะการใช้นั้น หรือซึ่งใช้ไปในที่สุดย่อมสิ้นเปลืองหมดไป"
ป.พ.พ. ม.103 (เลิก)

วัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองจะเป็นทรัพย์สินประเภทใดก็ได้ แต่เมื่อใช้สอยแล้วต้องเสียภาวะ เสื่อมสลาย หรือสิ้นเปลืองหมดไปไปในทันใดหรือในที่สุด เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เงิน ทองคำ หมูเห็ดเป็ดไก่ รวมถึงหุ้น เป็นต้น ซึ่ง ป.พ.พ. ม.102 และ ม.103 ที่ปัจจุบันยกเลิกแล้วกำหนดวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูป คือ สังกมทรัพย์ (อังกฤษ: fungible thing) และ โภคยทรัพย์ (อังกฤษ: consumable thing)[12]

อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินข้างต้นอาจเป็นวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูปก็ได้ เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการยืมเป็นรายกรณี เช่น ยืมข้าวสารเพียงเพื่อไปใส่พานตั้งประกอบพิธี ใช้เสร็จก็คืนข้าวสารกลุ่มเดิมนั้น[13] หรือเมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้นำของเดิมมาคืน[11]

ทรัพย์สินหนึ่งอย่างอาจเป็นวัตถุของสัญญายืมทั้งยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลืองได้ในโอกาสเดียวกัน เช่น ยืมรถยนต์ไปขับ โดยตกลงกันว่าเมื่อคืนรถจะเติมน้ำมันรถคืนให้เต็มถังดังเดิมด้วย รถจึงเป็นวัตถุของการยืมใช้คงรูป ส่วนน้ำมันรถเป็นวัตถุของการยืมใช้สิ้นเปลือง[14]

ในประเทศฝรั่งเศส กฎหมายกำหนดว่า วัตถุของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สิ่งที่ใช้แล้วหมดไป และหาสิ่งอื่นมาทดแทนกันได้โดยไม่แตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่มีเอกลักษณ์จำเพาะเป็นของตน เช่น สุนัขดัลเมเชียนตัวหนึ่งมีหูดำข้างเดียว ส่วนตัวอื่น ๆ ดำทั้งสองข้าง ไม่อาจยืมใช้สิ้นเปลืองกันได้ แต่ยืมใช้คงรูปได้[15] ซึ่งกฎหมายไทยไม่ได้จำกัดเช่นนี้

ความบริบูรณ์แห่งสัญญา[แก้]

ผล[แก้]

"ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย"
ป.พ.พ. ม.651
"ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้"
ป.พ.พ. ม.652

สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเมื่อบริบูรณ์แล้ว ไม่ก่อหน้าที่แก่ผู้ให้ยืมให้ต้องรับผิดเพราะความชำรุดบกพร่องใด ๆ ที่เกิดต่อทรัพย์สินอันให้ยืม เว้นแต่เขารู้ดีอยู่แล้วว่ามีความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินแล้วให้ยืมไปโดยไม่บอกกล่าวผู้ยืม อันเป็นผลให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ด้วยดี ผู้ให้ยืมอาจต้องรับผิดตามบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยสัญญา และเมื่อมีบททั่วไปแล้ว กฎหมายไทยจึงมิได้วางหลักเฉพาะไว้ใน ป.พ.พ. เกี่ยวกับการเรียกร้องให้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นสัญญายืมใช้คงรูปที่วางอายุความไว้เฉพาะ[16]

แม้สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองไม่ก่อหน้าที่และความรับผิดใด ๆ แก่ผู้ให้ยืม ทว่า ผู้ยืมย่อมมีหน้าที่และความรับผิดในสัญญานี้อย่างแน่นอนเพราะเหตุที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตามกฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.651-652 ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม ค่าบำรุงทรัพย์สินดังกล่าว และหน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม ทั้งนี้ เพราะเมื่อผู้ยืมได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมแล้ว ก็ควรรับภาระออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันเป็นอื่น

เนื่องจากผู้ยืมใช้สิ้นเปลืองย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม เขาจึงไม่มีหน้าที่มากมายเช่นในสัญญายืมใช้คงรูป

หน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืม[แก้]

เมื่อสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.651 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่ออกค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา ตลอดจนค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม

ค่าฤชาธรรมเนียม (อังกฤษ: costs of the contract) นั้น ปรกติในการทำสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองก็ไม่มีอยู่แล้ว ซึ่ง ผไทชิต เอกจริยกร ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "...ยังคิดไม่ออกว่า การยืมทรัพย์อะไรจึงต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา แต่การบัญญัติกฎหมายต้องเขียนไว้ให้บริบูรณ์เท่าที่จะทำได้ จะมีที่ใช้หรือไม่เป็นเรื่องข้างหน้า"[17]

ค่าส่งมอบทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of delivery) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ให้ยืมส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืม เช่น ค่าขนส่ง เคลื่อนย้าย หรือนำพาไปซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นต้น[17]

ค่าส่งคืนทรัพย์สิน (อังกฤษ: costs of return) คือ ค่าใช้จ่ายอันตรงกันข้ามกับค่าส่งมอบทรัพย์สิน กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพราะผู้ยืมคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม[17]

หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม[แก้]

"สัญญากู้มีข้อความว่า 'ผู้กู้ตกลงจะชำระหนี้ตามสัญญานี้ภายในวันที่ 10 เดือนเมษายน พ.ศ. 2524 แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญานี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร และโดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ ผู้กู้สัญญาว่าในกรณีที่ผู้ให้กู้เรียกร้องดังกล่าวมานี้ ผู้กู้จะชำระหนี้ตามเรียกร้องทันที' ดังนี้ แม้ผู้กู้จะเสียเปรียบผู้ให้กู้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นด้วยใจสมัครของลูกหนี้เอง หาเกี่ยวกับสังคมหรือประชาชนไม่ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด เป็นข้อสัญญาที่ใช้บังคับกันได้ ผู้ให้กู้จึงฟ้องเรียกเงินกู้คืนก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญาได้"
ฎ.3161/2527
"ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โจทก์ทวงถามก็ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัด และสัญญากู้ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ก็ยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องได้ แม้หนี้เงินต้นยังไม่ถึงกำหนดชำระ"
ฎ.536/2513

เมื่อสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้น กฎหมายไทยโดย ป.พ.พ. ม.652 กำหนดให้ผู้ยืมมีหน้าที่คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืมตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เช่น ให้คืนภายในสองสัปดาห์นับแต่วันทำสัญญา หรือภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือก่อนวันเข้าพรรษาประจำ พ.ศ. 2553 เป็นต้น[18]

ถ้าไม่ได้กำหนด ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกกล่าวให้ผู้ยืมคืนภายในเวลาอันสมควรตามที่ตนกำหนดได้ โดยเวลาใดสมควรหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บอกกล่าวก่อน ก็เพื่อให้ผู้ยืมมีเวลาไปจัดหาทรัพย์สินมาคืน ต่างจากสัญญายืมใช้คงรูปที่ทรัพย์สินนั้นมีตัวอยู่แล้ว เมื่อไม่กำหนดเวลาคืนไว้ จึงเรียกคืนเมื่อไรก็ได้[19] ทว่า คู่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองอาจตกลงกันให้ผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืนเมื่อไรก็ได้ หรือตกลงกันว่า เมื่อผู้ยืมผิดสัญญา ให้ผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืนได้ทันที ก็ย่อมได้[20]

นอกจากเวลาข้างต้นแล้ว หากตกลงกำหนดสถานที่คืนทรัพย์สินกันไว้ด้วยก็ให้เป็นไปตามนั้น หากไม่ได้กำหนด ป.พ.พ. ม.324 ว่า "เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้ ณ สถานที่ใดไซร้ หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้"[21]

ทรัพย์สินที่คืนนั้น ไม่ใช่อันเดียวกับที่ยืม เนื่องจาก "ยืมใช้สิ้นเปลือง" ก็หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นใช้ไปก็สิ้นเปลืองหมดไป จะหาไหนมาคืนได้อีก แต่ให้คืนทรัพย์สินประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกันกับที่ยืมไป เช่น ยืมน้ำตาลทรายขาวไปหนึ่งกิโลกรัม เมื่อคืนให้คืนทรัพย์สินประเภทเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลเหมือนกัน, ชนิดเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวเหมือนกัน และปริมาณเดียวกัน คือ เป็นน้ำตาลทรายขาวหนึ่งกิโลกรัมดุจกัน แต่ไม่ใช่คืนน้ำตาลทรายกลุ่มที่ยืมไปนั้น[22]

ความระงับสิ้นลง[แก้]

สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมระงับสิ้นลงเมื่อวัตถุประสงค์แห่งสัญญาได้บรรลุ คือ เมื่อผู้ยืมคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม ทว่า ในกรณีอื่น ๆ กฎหมายไทยมิได้บัญญัติเป็นการจำเพาะ จึงเป็นไปตามบทบัญญัติทั่วไปว่าด้วยความระงับแห่งสัญญาและหนี้

อายุความ[แก้]

เมื่อผู้ให้ยืมเรียกทรัพย์สินคืน และผู้ยืมบิดพลิ้วไม่คืนตามหน้าที่ หากจะฟ้องเรียกทรัพย์สิน หรือเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์สินนั้นแทน หรือเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิด กฎหมายไทยมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงใช้อายุความตามบทบัญญัติทั่วไปใน ป.พ.พ. ม.193/30 ซึ่งว่า "อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี"[23]

กู้ยืม[แก้]

กู้ยืม (อังกฤษ: loan of money) เป็นสัญญายืมประเภทยืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียก "ผู้ให้กู้ยืม" (อังกฤษ: moneylender) โอนกรรมสิทธิ์ในเงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกฝ่าย เรียก "ผู้กู้ยืม" (อังกฤษ: borrower) และผู้กู้ยืมตกลงว่าจะใช้เงินอันมีจำนวนเท่าที่กู้ยืม เรียก "เงินต้น" (อังกฤษ: principal) ให้แก่ผู้ให้กู้ยืม[3]

กฎหมายเดิมก่อนมี ป.พ.พ. จำแนกประเภทการยืมใช้สิ้นเปลืองที่มีเงินเป็นวัตถุแห่งสัญญานี้เป็นสองประเภท ประเภทหนึ่ง คือ "กู้" เป็นการยืมเงินโดยไม่เสียดอกเบี้ย และ "ยืม" เป็นการยืมเงินโดยเสียดอกเบี้ย ปัจจุบันรวมเป็นคำเดียวไม่ว่ามีดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม[3]

กู้ยืมแม้เป็นยืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง แต่กฎหมายกำหนดบทบัญญัติเฉพาะไว้เป็นการพิเศษ

อ้างอิง[แก้]

  1. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 281-282.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  3. 3.0 3.1 3.2 ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 23-24.
  4. ผไทชิต เอกจริยกร, 2552 : 11-13.
  5. Thailand Civil and Commercial Code (online), Online : n.d.
    Civil and Commercial Code of Thailand, Book 3 : Specific Contracts, Title 9 : Loan, Chapter 2 : Loan for consumption
  6. Ministry of Justice of Japan, 2009 : Online.
    Japanese Civil Code, Part 3 : Claims, Chapter 2 : Contracts, Section 5 : Loans for consumption เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. The Napoleon Series, 2009 : Online.
    French Civil Code; Book 3 : Of The Different Modes Of Acquiring Property; Title 10 : Of loans
  8. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 51.
  9. 9.0 9.1 ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 52.
  10. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 53.
  11. 11.0 11.1 11.2 ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 55.
  12. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 53.
  13. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 52.
  14. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 56.
  15. Phillipe Malaurie, Laurent Aynès & Pierre-Yves Gautier; 2004 : 507.
  16. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 32.
  17. 17.0 17.1 17.2 ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 33.
  18. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 41.
  19. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 59.
  20. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 58.
  21. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 63.
  22. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 56.
  23. ไผทชิต เอกจริยกร, 2552 : 57.

ภาษาไทย[แก้]

  • กมล สนธิเกษตริน. (2520). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืมและฝากทรัพย์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742883653.
  • จิ๊ด เศรษฐบุตร.
    • (2524). หลักกฎหมายแพ่ง ลักษณะนิติกรรมและหนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
    • (2529). ความรู้เบื้องต้นแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ไผทชิต เอกจริยกร. (2552). คำอธิบาย ยืม ฝากทรัพย์. (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742888008.
  • พจน์ บุษปาคม. (2521). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม กู้ยืม ฝากทรัพย์. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
  • พลประสิทธิ์ ฤทธิ์รักษา. (2535). สรุปวิชากฎหมายยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความ พนัน และขันต่อ. กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • ศักดิ์ สนองชาติ. (2523). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • สุปัน พูลสวัสดิ์. (2509). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความ และพนันขันต่อ. พระนคร : โรงพิมพ์หมั่นเฮง.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
  • แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2552). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886257.

ภาษาต่างประเทศ[แก้]

  • Langenscheidt Translation Service. (2009). German Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Ministry of Justice of Japan. (2009). Civil Code (Act No. 89 of 1896). [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 12 September 2009).
  • Phillipe Malaurie, Laurent Aynès & Pierre-Yves Gautier. (2004). Les contrats spéciaux. (4e édition) Paris : Cujas. ISBN 978-2856230527.
  • Thailand Civil and Commercial Code (online). (n.d.). [Online]. Available: <click>. (Accessed: 26 September 2009).
  • The Napoleon Series. (2009). French Civil Code. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 12 September 2009).

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]