มหากาพย์กิลกาเมช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหากาพย์กิลกาเมช  
The Deluge tablet of the Gilgamesh epic in Akkadian
ประเทศเมโสโปเตเมีย
ภาษาซูเมอร์
ชนิดสื่อclay tablet
จารึกมหากาพย์กิลกาเมช ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ในอัคคาเดียน

มหากาพย์กิลกาเมช (อังกฤษ: Gilgamesh) เป็นตำนานน้ำท่วมโลกที่เก่าแก่ของเมโสโปเตเมียโบราณ เป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมประเภทนิยายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นักวิชาการเชื่อว่ามหากาพย์เรื่องนี้มีกำเนิดมาจากตำนานกษัตริย์สุเมเรียนและบทกวีเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า กิลกาเมช ซึ่งถูกรวบรวมเอาไว้กับบรรดาบทกวีอัคคาเดียนในยุคต่อมา มหากาพย์ชุดที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบันปรากฏในแผ่นดินเหนียว 12 แท่งซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอเก็บจารึกของกษัตริย์แห่งอัสซีเรีย เมื่อราวศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล มีชื่อดั้งเดิมว่า ผู้มองเห็นเบื้องลึก (He who Saw the Deep; Sha naqba īmuru) หรือ ผู้ยิ่งใหญ่กว่าราชันทั้งปวง (Surpassing All Other Kings; Shūtur eli sharrī) กิลกาเมชอาจจะเป็นผู้ปกครองที่มีตัวตนจริงในอดีตระหว่างราชวงศ์ที่ 2 ของยุคต้นของสุเมเรีย (ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล)

สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกิลกาเมช ผู้กำลังท้อใจกับการปกครองของตน กับเพื่อนของเขาชื่อ เอนกิดู ซึ่งเข้ารับภารกิจเสี่ยงภัยร่วมกับกิลกาเมช เนื้อหาส่วนใหญ่ในมหากาพย์เน้นย้ำถึงความรู้สึกสูญเสียของกิลกาเมชหลังจากเอนกิดูเสียชีวิต และกล่าวถึงการกลับเป็นมนุษย์อีกครั้งพร้อมกับเน้นย้ำเรื่องความเป็นอมตะ เรื่องราวในหนังสือเล่าถึงการที่กิลกาเมชออกเสาะหาความเป็นอมตะหลังจากการเสียชีวิตของเอนกิดู

มหากาพย์เรื่องนี้ได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากมาย ส่วนวีรบุรุษกิลกาเมชก็ได้เป็นตัวเอกอยู่ในวัฒนธรรมมวลชนยุคใหม่

ประวัติ[แก้]

มีแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นต้นฉบับและข้อมูลพิเศษหลายชิ้นที่พบว่ามีอายุอยู่ในช่วงที่แตกต่างกันเป็นเวลา 2,000 ปี ทว่าเฉพาะข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุดและต้นฉบับอื่น ๆ ที่มีอายุใกล้เคียงกันเท่านั้นที่พบว่ามีเนื้อหาสำคัญโดดเด่นพอจะพิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการแปล ดังนั้น มหากาพย์ฉบับสุเมเรียนโบราณ กับฉบับอัคคาเดียนซึ่งมีอายุน้อยกว่า เป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดและยอมรับเป็นฉบับมาตรฐานในการศึกษาปัจจุบัน มหากาพย์ฉบับมาตรฐานนี้เป็นหลักเกณฑ์ในการแปลมหากาพย์ยุคใหม่ ส่วนแหล่งข้อมูลเก่าแก่อื่น ๆ ใช้สำหรับเติมเต็มฉบับมาตรฐานเมื่อมีช่องว่างของคูนิฟอร์มมากเกินไป (พึงทราบด้วยว่า ได้มีการจัดทำฉบับปรับปรุงแก้ไขตามข้อมูลใหม่ ๆ ออกมาตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และตัวมหากาพย์เองก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าสมบูรณ์แม้จนปัจจุบัน)

มหากาพย์ในต้นฉบับสุเมเรียนที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุอยู่ในช่วงราชวงศ์ที่ 3 ของอูร์ (Ur) คือระหว่าง 2150-2000 ปีก่อนคริสตกาล[1] ส่วนฉบับอัคคาเดียนที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในช่วงต้น ๆ ของสหัสวรรษที่ 2[1] มหากาพย์อัคคาเดียนฉบับ "มาตรฐาน" ประกอบด้วยแผ่นดินเหนียว 12 แผ่น บันทึกโดย Sin-liqe-unninni ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่าง 1300-1000 ปีก่อนคริสตกาล ค้นพบอยู่ในหอจารึกของ Ashurbanipal ที่ Nineveh

ปัจจุบัน มหากาพย์กิลกาเมชเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การแปลมหากาพย์ในยุคใหม่ครั้งแรกเกิดขึ้นในราวคริสต์ทศวรรษ 1880 โดย จอร์จ สมิท[2] การแปลเป็นภาษาอังกฤษในครั้งหลัง ๆ นี้รวมถึงการแปลครั้งหนึ่งซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักเขียนชาวอเมริกัน จอห์น การ์ดเนอร์ และจอห์น ไมเยอร์ ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1984 ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 เบนจามิน ฟอสเตอร์ได้เรียบเรียงฉบับ Norton Critical ขึ้นโดยเติมเต็มช่องว่างมากมายที่มีอยู่ในชุดมาตรฐานโดยอาศัยหลักฐานอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้า มหากาพย์ฉบับมาตรฐานชุดล่าสุดเป็นการเรียบเรียงอย่างระมัดระวังโดย แอนดรูว์ จอร์จ ตีพิมพ์เป็นฉบับพิเศษ 2 เล่ม เป็นฉบับที่แสดงเนื้อหาต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ที่สุด ทั้งยังจัดพิมพ์แบบสองภาษาเทียบเคียงกันด้วย ฉบับแปลของจอร์จชุดนี้ได้ตีพิมพ์เป็นฉบับสำหรับผู้อ่านทั่วไปโดยสำนักพิมพ์เพนกวินคลาสสิกเมื่อปี ค.ศ. 2003 แต่ในปี 2004 สตีเฟน มิตเชลล์ได้ออกผลงานมหากาพย์ฉบับโต้แย้ง ซึ่งเป็นผลงานการแปลของเขาจากการแปลของเหล่าบัณฑิตก่อนหน้า เขาเรียกงานชิ้นนี้ว่า "ฉบับแปลอังกฤษใหม่"

การค้นพบวัตถุโบราณอายุประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับ Enmebaragesi แห่ง Kish ผู้ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานว่าเป็นบิดาของศัตรูคนหนึ่งของกิลกาเมช ทำให้มหากาพย์เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ในทางประวัติศาสตร์มากขึ้น และช่วยยืนยันว่ากิลกาเมชน่าจะมีตัวตนจริง[1]

โครงเรื่อง[แก้]

นักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อ ออสเตน เฮนรี ลายาร์ด เป็นผู้ค้นพบมหากาพย์ฉบับมาตรฐานในหอสมุดของ Ashurbanipal ใน Nineveh เมื่อปี ค.ศ. 1849 ซึ่งเขียนเอาไว้ด้วยภาษาบาบิโลนมาตรฐาน ใช้อักษรแบบอัคคาเดียนซึ่งเป็นแบบที่ใช้สำหรับจารึกงานวรรณกรรมโดยเฉพาะ เขียนขึ้นโดย Sin-liqe-unninni ในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง 1300-1000 ปีก่อนคริสตกาล

ข้อแตกต่างระหว่างฉบับมาตรฐานอัคคาเดียนกับฉบับสุเมเรียนโบราณ คือคำเปิดเรื่องที่แตกต่างกัน ฉบับโบราณขึ้นต้นด้วยคำว่า "ผู้ยิ่งใหญ่เหนือปวงราชัน" ในขณะที่ฉบับมาตรฐานขึ้นต้นว่า "ผู้มองเห็นในห้วงลึก" คำว่า nagbu (ลึก) ในภาษาอัคคาเดียนยังมีความหมายถึง "ความลึกลับไม่อาจหยั่งรู้" ได้ด้วย อย่างไรก็ดี แอนดรูว์ จอร์จ เชื่อว่ามันอ้างถึงความรู้พิเศษบางอย่างที่กิลกาเมชนำกลับมาด้วยหลังจากได้ไปพบ Uta-Napishti (Utnapishtim) เขาได้รับความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรแห่งเออาโดยมองเห็นผ่านน้ำพุแห่งปัญญา โดยทั่วไปแล้วผู้แปลเห็นว่ากิลกาเมชได้รับความรู้ว่าจะบูชาพระเจ้าได้อย่างไร ทำไมมนุษย์จึงต้องตาย จะเป็นกษัตริย์ที่ดีได้อย่างไร และธรรมชาติที่แท้ของการมีชีวิตที่ดี Utnapishtim ในตำนานน้ำท่วมโลกเล่าเรื่องของเขาให้กิลกาเมชฟัง ซึ่งสอดคล้องเกี่ยวพันกับมหากาพย์บาบิโลนเรื่อง Atrahasis

จารึกแผ่นที่ 12 มีเนื้อหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องต่อกับจารึก 11 แผ่นก่อนหน้า ในเวลาต่อมาจึงมักจะนำเรื่องราวในจารึกแผ่นที่ 12 นี้รวมเข้าไปในเรื่องด้วย ทั้งที่ในช่วงต้นของจารึกบรรยายถึงเรื่องราวสมัยที่เอนกิดูยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งดูไม่ค่อยสอดคล้องกันนัก ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องตอนท้ายของจารึกแผ่นที่ 11 ที่คล้ายจะจบบริบูรณ์ไปแล้ว เรื่องราวมหากาพย์ดูเหมือนจะถูกวางกรอบโครงสร้างไว้เป็นวงกลม โดยที่ประโยคเริ่มต้นของมหากาพย์เป็นประโยคเดียวกันกับประโยคสุดท้ายในจารึกแผ่นที่ 11 ทำให้เรื่องสามารถดำเนินต่อไปแบบเป็นวงกลม และเป็นอันสิ้นสุด จารึกแผ่นที่ 12 เป็นเหมือนฉบับสำเนาของเรื่องราวก่อนหน้านั้น สมัยที่กิลกาเมชส่งเอนกิดูไปนำสิ่งของของตนมาจากดินแดนใต้พิภพ แต่เอนกิดูตายเสียก่อนและหวนกลับมาหากิลกาเมชในรูปของวิญญาณตามธรรมชาติของโลกใต้พิภพ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกินไปจากความฝันของเอนกิดูในโลกใต้พิภพตามที่ปรากฏในจารึกแผ่นที่ 7[3]

เรื่องย่อตามฉบับมาตรฐาน[แก้]

เรื่องย่อตามฉบับบาบิโลนโบราณ[แก้]

เนื้อเรื่องตามฉบับสุเมเรียน[แก้]

อิทธิพลต่อมหากาพย์ในยุคหลัง[แก้]

นักปราชญ์กรีกชื่อ Ioannis Kakridis กล่าวว่ามีถ้อยคำสำนวนจำนวนมาก รวมถึงรูปแบบของเรื่องมหากาพย์กิลกาเมชที่ปรากฏชัดว่ามีอิทธิพลต่อมหากาพย์โอดิสซีย์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมกรีกประพันธ์โดย โฮเมอร์[4] ตำนานส่วนที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกในมหากาพย์กิลกาเมชยังมีความเกี่ยวข้องกับตำนานน้ำท่วมโลกของโนอาห์ ในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วย

ตำนานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในวัฒนธรรมชาวอิสลามและซีเรีย ก็น่าเชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากตำนานของกิลกาเมชเช่นกัน[5][6] อเล็กซานเดอร์ได้เดินทางร่อนเร่ไปในดินแดนแห่งความมืดและความน่าสะพรึงกลัว เพื่อค้นหาสายน้ำแห่งชีวิต เขาได้เผชิญหน้ากับสิ่งแปลกประหลาด ได้พบกับน้ำที่ค้นหา แต่ก็ไม่สามารถเป็นอมตะได้ เช่นเดียวกับกิลกาเมช

กิลกาเมชในวัฒนธรรมปัจจุบัน[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Dalley, Stephanie, Myths from Mesopotamia, Oxford University Press, 1989
  2. Smith, George (1872-12-03). "The Chaldean Account of the Deluge" (HTML). Sacred-Texts.com.
  3. "MythHome: Gilgamesh the 12th Tablet". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-13. สืบค้นเมื่อ 2009-01-18.
  4. Ioannis Kakridis: "Eisagogi eis to Omiriko Zitima" (Introduction to the Homeric Question) In: Omiros: Odysseia. Edited with translation and comments by Zisimos Sideris, Daidalos Press, I. Zacharopoulos Athens.
  5. Jastrow M.The religion of Babylonia and Assyria.GIN & COMPANY. Boston 1898
  6. Sattari J. Astudy on the epic of Gilgamesh and the legend of Alexander. Markaz Publications 2001 (In Persian)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]