พีระมิดระบบทุนนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพการ์ตูนฉบับอเมริกัน พ.ศ. 2454
ภาพต้นฉบับจากรัสเซีย พ.ศ. 2443

พีระมิดระบบทุนนิยม (อังกฤษ: Pyramid of Capitalist System) คือชื่อเรียกทั่วไปของภาพวาดการ์ตูนจากสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2454 ที่ล้อเลียนและเสียดสีข้อวิจารณ์ถึงระบบทุนนิยม โดยอ้างอิงจากต้นฉบับที่เป็นภาพวาดบนใบปลิวจากรัสเซียราวปี พ.ศ. 2443[1] ภาพวาดดังกล่าวมุ่งประเด็นไปที่การจัดช่วงชั้นทางสังคมออกเป็นชนชั้นต่าง ๆ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ[2][3] ซึ่งภาพวาดชิ้นนี้ถูกขนานนามว่า "โด่งดัง"[4]และ "เป็นที่รู้จักและถูกทำซ้ำอย่างแพร่หลาย"[2] ก่อให้เกิดภาพวาดอื่น ๆ ที่อ้างอิงภาพวาดนี้ตามมาอีกหลายชิ้นงาน[5]

ภาพวาดดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อินดัสเตรียลเวิร์กเคอร์ (Industrial Worker) โดยบริษัท อินเทอร์เนชันแนลพบลิชชิง จำกัด ในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ขององค์การแรงงานอุตสาหกรรมสากล (Industrial Workers of the World) วาดโดย "เนเดลยอโควิช บรัสซิช และคูฮาริช"[6][7][3]

โดยภาพแสดงให้เห็นถึง "พีระมิดทางสังคม" หรือลำดับชั้นทางสังคมโดยแท้ ที่ซึ่งผู้ร่ำรวยมั่งคั่งอันเป็นชนส่วนน้อยอยู่ชั้นบนสุดในขณะที่ผู้ยากไร้อันเป็นชนส่วนมากอยู่ชั้นล่างสุด ด้านบนสุดของยอดพีระมิดคือถุงเงินอันเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยม ถัดลงมาคือชั้นของเจ้านายเชื้อพระวงศ์และบรรดาผู้นำของรัฐที่กล่าวว่า "เราปกครองท่าน" (We rule you) ถัดมาอีกคือชั้นของนักบวชที่กล่าวว่า "เราหลอกลวงท่าน" (We fool you) ตามมาด้วยชั้นของบรรดานายทหารที่กล่าวว่า "เรายิงไปที่ท่าน" (We shoot at you) และชั้นของบรรดากระฎุมพีที่กล่าวว่า "เรารับประทานแทนท่าน" (We eat for you) ส่วนชั้นล่างสุดของพีระมิดคือชั้นของบรรดากรรมากรซึ่งกล่าวว่า "เราทำงานให้ทุกคน... เราหล่อเลี้ยงทุกคน" (We work for all... We feed all)[4][8][3][2]

ภาพวาดนี้อ้างอิงมาจากต้นฉบับที่เป็นภาพล้อเลียนลำดับชั้นทางสังคมในจักรวรรดิรัสเซียของสหภาพนักสังคมนิยมรัสเซีย ซึ่งวาดโดยบุคคลนิรนามราวปี พ.ศ. 2443[1][9] โดยภาพต้นฉบับแสดงให้เห็นถึงชนชั้นกรรมกรที่แบกรับพีระมิดไว้บนหลังของพวกเขาพร้อมกับโคลงบนหนึ่งว่า "กาลเวลาจะเวียนมาถึงเมื่อฝูงชนผู้โกรธแค้นจะผายหลังอันคดงอให้ตรงขึ้นและพังโครงสร้างพีระมิดทั้งหมดลงด้วยแรงผลักอันทรงพลังจากไหล่ของพวกเขาเอง"[1] ทั้งนี้ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างภาพวาดต้นฉบับรัสเซียปี พ.ศ. 2443 และภาพวาดอ้างอิงฉบับอเมริกันปี พ.ศ. 2454 คือการแทนที่นกอินทรีสีดำของรัสเซียที่อยู่ด้านบนสุดด้วยถุงเงิน แทนที่พระเจ้าซาร์และพระจักรพรรดินีรัสเซียด้วยตัวแทนของผู้นำรูปแบบทั่วไป 3 บุคคล (พระมหากษัตริย์และผู้นำของรัฐในชุดสูทสองคน) แทนที่นักบวชในนิกายออร์โธดอกซ์รัสเซีย 2 ท่านด้วยพระคาร์ดินัลในนิกายโรมันคาทอลิกและบาทหลวงในนิกายโปรเตสแตนต์ และแทนที่กองทหารรัสเซียด้วยนายทหารกลุ่มที่มีรูปแบบทั่วไปมากขึ้น ส่วนเหล่ากรรมกรไม่ได้วาดให้ลำตัวคดงอเท่าต้นฉบับและไม่มีโคลงปลุกใจประกอบในภาพ ทั้งนี้ภาพทั้งสองปรากฏมีรูปของเด็กชนชั้นกรรมากรผู้นอนหงายอยู่บนพื้นอันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชะตากรรมอันเลวร้ายที่ชนชั้นล่างต้องเผชิญ[2] อีกหนึ่งองค์ประกอบของภาพที่มีร่วมกันก็คือธงสีแดงที่คนในชนชั้นล่างชูขึ้นมา เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการถือกำเนิดขึ้นของขบวนการสังคมนิยม[10]

ข้อความหลัก ๆ ที่ภาพนี้ต้องการจะสื่อถึงคือบทวิจารณ์ต่อระบบทุนนิยมที่มีลำดับชั้นของอำนาจและความร่ำรวยมั่งคั่ง นอกจากนี้ภาพยังแสดงให้เห็นว่าชนชั้นล่างหรือกรรมกรคือผู้ที่ค้ำจุนผู้คนในทุกชนชั้นของสังคม หากขาดเสียงสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ก็จะส่งผลให้ระบบทุนนิยมหรือระเบียบสังคมในปัจจุบันพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง[3] ซึ่งข้อวิจารณ์เช่นนี้เป็นแนวคิดของนักสังคมนิยมชาวฝรั่งเศส หลุยส์ บล็องก์[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 Reinhard Bendix (1980). Kings Or People: Power and the Mandate to Rule. University of California Press. p. 540. ISBN 978-0-520-04090-8.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Krieger, N (1 December 2008). "Ladders, pyramids and champagne: the iconography of health inequities". Journal of Epidemiology & Community Health. 62 (12): 1098–1104. doi:10.1136/jech.2008.079061.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Labor Arts". Labor Arts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-04-16.
  4. 4.0 4.1 4.2 Geoff Mulgan (27 February 2013). The Locust and the Bee: Predators and Creators in Capitalism's Future. Princeton University Press. pp. 79–80. ISBN 1-4008-4665-X.
  5. ภาพวาดที่อ้างอิงต้นฉบับในปัจจุบันมีปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ดังต่อไปนี้
  6. Nancy Krieger Professor Harvard School of Public Health (23 March 2011). Epidemiology and the People's Health : Theory and Context: Theory and Context. Oxford University Press. pp. 338–. ISBN 978-0-19-975035-1.
  7. Kristina Lange (2011). Historisches Bildverstehen oder Wie lernen Schüler mit Bildquellen?: ein Beitrag zur geschichtsdidaktischen Lehr-Lern-Forschung. LIT Verlag Münster. pp. 189–. ISBN 978-3-643-11354-2.
  8. John A. Marino (2002). Early Modern History and the Social Sciences: Testing the Limits of Braudel's Mediterranean. Truman State Univ Press. p. 121. ISBN 978-1-931112-06-2.
  9. Ronald Hingley (1 March 1972). A concise history of Russia. Viking Press.
  10. Rune Nordin (1981). Fackföreningsrörelsen i Sverige: Uppkomst och utveckling (ภาษาสวีเดน). Prisma i samarbete med Landsorganisationen i Sverige. p. 28. ISBN 978-91-518-1470-4.