โฮเซ่ บูร์โกส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โฮเซ่ บูร์โกส

โฮเซ่ บูร์โกส (Jose Burgos) หรือโฮเซ่ อาโปโลนีโอ อี การ์ซีอา (José Apolonio Burgos y García) เป็นบาทหลวงชาวฟิลิปปินส์ที่มีแนวคิดชาตินิยม และเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างบาทหลวงชาวสเปนและฟิลิปปินส์ การที่เขาถูกประหารชีวิตทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวพ้นเมืองและชาวสเปนรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นการเรียกร้องเอกราชในที่สุด

บูร์โกสเป็นลูกครึ่งสเปนและมะนิลา เกิดเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2379 เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมทางศาสนาในระดับสูงสุดของวิทยาลัยสงฆ์ในมะนิลา ซึ่งในสมัยนั้นบาทหลวงชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับความรู้ทางศาสนาในระดับสูงมีน้อย บาทหลวงบูร์โกสเป็นผู้ที่พยายามเรียกร้องความเสมอภาคทางศาสนาระหว่างชาวสเปนและชาวฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลสเปนในสมัยนั้นได้กีดกันไม่ให้บาทหลวงชาวฟิลิปปินส์มีสิทธิ์บริหารในเขตวัดแม้ว่าบาทหลวงชาวสเปนจะมีไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ยอมแต่งตั้งบาทหลวงชาวฟิลิปปินส์ที่มีคุณวุฒิเพียงพอ ทำให้ชาวฟิลิปปินส์ชื่นชมและศรัทธาในตัวท่านมาก

นับตั้งแต่ราฟาเอล เด อิสเกียโดมาเป็นข้าหลวงใหญ่ที่มะนิลาใน พ.ศ. 2414 ความขัดแย้งที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะอิสเกียโดประกาศห้ามการแต่งตั้งบาทหลวงชาวฟิลิปปินส์โดยเด็ดขาด ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ประชาชนรุนแรงขึ้น จนเกิดเหตุการณ์ทหารและประชาชนชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือขึ้นฆ่าทหารสเปนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อ 20 มกราคม พ.ศ. 2414 ที่เมืองกาวีเต รัฐบาลสเปนได้ปราบปรามผู้ก่อการอย่างรุนแรงและได้จับกุมบาทหลวงบูร์โกสแห่งคณะบาทหลวงกาบิลโดและบาทหลวงอีก 2 คนคือบาทหลวงมารียาโน โกเมซ และบาทหลวงฮาซินโต ซามอราโดยตั้งข้อหาว่าเป็นผู้นำในการก่อกบฏและตัดสินให้ประหารชีวิตทั้งสามคน

[บูร์โกสบนปกหนังสือ Ang Tunay na Buhay ni P. Dr. Jose Burgos ("ชีวิตจริงของโฮเซ่ บูร์โกส")

บาทหลวงบูร์โกสและบาทหลวงอีก 2 คนถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2414 การเสียชีวิตของบูรืโกสนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจของโฮเซ่ ริซัล นักชาตินิยมรุ่นต่อมา ซึ่งเขาได้ระบุอย่างชัดเจนในงานเขียนของเขา ทั้งนี้บาทหลวงบูร์โกสเป็นเพื่อนกับปาเซียโน ริซัล พี่ชายของโฮเซ่ ริซัล มีหลายเมืองในฟิลิปปินส์ตั้งชื่อว่าบูร์โกสเพื่อระลึกถึงบาทหลวงผู้นี้

อ้างอิง[แก้]

  • สุพรรณี กาญจนัษฐิติ. โฮเซ่ บูร์โกส ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 544 - 546