โฮเซ รีซัล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โฮเซ รีซัล
เกิด19 มิถุนายน พ.ศ. 2404
คาลัมบาซิตี, ลากูนา, ฟิลิปปินส์
เสียชีวิต30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 (35 ปี)
บากัมบายัน, มะนิลา, ฟิลิปปินส์
สาเหตุเสียชีวิตโทษประหารชีวิต
สัญชาติฟิลิปปินส์
องค์การพรรคลาโซลีดารีดัด, พรรคลาลิกาฟิลิปินา
ลายมือชื่อ

โฮเซ รีซัล (สเปน: José Rizal) หรือชื่อเต็มคือ โฮเซ โปรตาซีโอ รีซัล เมร์กาโด อี อาลอนโซ เรอาลอนดา (José Protacio Rizal Mercado y Alonzo Realonda) เป็นนักเขียนและวีรบุรษคนสำคัญของฟิลิปปินส์ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากสเปน เขาถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 การเสียชีวิตของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวฟิลิปปินส์ลุกขึ้นสู้จนขับไล่สเปนออกไปได้สำเร็จ แม้จะถูกยึดครองโดยสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

ชาติกำเนิด[แก้]

รีซัลเกิดเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2404 ในครอบครัวที่มีฐานะดี มีเชื้อสายจีน สเปน ญี่ปุ่น และตากาล็อก จัดเป็นชนชั้นเมสตีโซตามการแบ่งชนชั้นในยุคอาณานิคมสเปน เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนของบาทหลวงโดมินิกันและเยซูอิต เขาใช้ได้หลายภาษาทั้งภาษาตากาล็อก ภาษาสเปน ภาษาละติน และภาษาฮีบรู

แม่ของรีซัลถูกตัดสินจำคุก 2 ปี ด้วยข้อหาวางยาพิษเพื่อนบ้าน พี่ชายของเขาถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพราะใกล้ชิดกับกลุ่มบาทหลวงชาวพื้นเมืองที่ถูกศาสนจักรสเปนสั่งแขวนคอ เมื่อ พ.ศ. 2415 ในมรสุมชีวิตดังกล่าว รีซัลมีอายุเพียง 10-11 ปี เท่านั้น ในที่สุดรีซัลจึงถูกส่งไปเรียนแพทย์ในยุโรปเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกลายเป็นห้วงเวลาที่เขาได้เพาะบ่มอุดมการณ์เพื่อต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมสเปน

การต่อสู้[แก้]

การประหารชีวิตโฮเซ รีซัล ในเช้าวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439

รีซัลกลับฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2430 แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือน ก็ถูกบีบให้กลับไปอยู่ในยุโรปอีก ซึ่งเป็นผลจากนวนิยาย “อันล่วงละเมิดมิได้” เขากลับมาฟิลิปปินส์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยช่วงที่อยู่ในยุโรปช่วงที่ 2 นี้ เขาเขียนนวนิยายเรื่อง El Filibusterimos ซึ่งเป็นภาคต่อของนิยายเรื่องแรก เมื่อเขากลับมาถึงฟิลิปปินส์ หน่วยสืบราชการลับของสเปนพบนิยายต้องห้ามในกระเป๋าเดินทาง เป็นเหตุให้เขาถูกเนรเทศไปอยู่เกาะดาปีตัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมินดาเนา

ช่วง พ.ศ. 2411–2421 เกิดการลุกฮือขึ้นในคิวบา พรรคพวกของรีซัลวิ่งเต้นให้รีซัลไปทำงานด้านการแพทย์ในสงครามนี้ รีซัลได้รับอนุญาตให้ไปคิวบาเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2439 แต่เขาพลาดเรือ ไม่ได้เดินทางไป ขณะเดียวกันนั้น อันเดรส โบนีฟาซีโอ นักปฏิวัติผู้ก่อตั้งสมาคมกาตีปูนัน ติดต่อรีซัลให้เข้าร่วมปฏิวัติด้วยความรุนแรงแต่เขาปฏิเสธ

รีซัลถูกกักตัวบนเรือรบสเปนและถูกส่งไปสเปนเมื่อ 3 กันยายน แต่หลังจากการโจมตีสเปนของโบนีฟาซีโอเมื่อ 30 สิงหาคม ทำให้ฝ่ายอาณานิคมเพ่งเล็งรีซัล และส่งโทรเลขให้จับกุมรีซัลไว้และส่งกลับฟิลิปปินส์เมื่อ 3 ธันวาคม เขาถูกนำตัวขึ้นศาลไต่สวนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม การประหารชีวิตมีขึ้นในตอนเช้าวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2439 นำโดย นายกรัฐมนตรีสเปน Antonio Canovas del Castillo ทำให้รีซัลกลายเป็นวีรบุรุษของฟิลิปปินส์ไปในที่สุด

บทกวีลาตาย[แก้]

ก่อนถูกประหารชีวิต เขาเขียนบทกวีลาตายไว้ ขนาดยาว 14 บท เป็นภาษาสเปนชื่อ mi último adiós บทกวีนี้ได้รับการส่งเสริมให้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งภาษาท้องถิ่นของฟิลิปปินส์โดยสถาบันประวัติศาสตร์แห่งชาติฟิลิปปินส์ ปัจจุบันแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 100 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย บทกวีนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2444 ภาษาสวีเดน พ.ศ. 2446 ภาษาญี่ปุ่น พ.ศ. 2460 ภาษาฮังการี ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน พ.ศ. 2470 ภาษาอินโดนีเซีย พ.ศ. 2493 ส่วนภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาไทย เริ่มแปลประมาณ พ.ศ. 2523

อ้างอิง[แก้]

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "โฮเซ่ ริซัล ลัทธิชาตินิยมกับ “ปีศาจ” ของการเปรียบเทียบ" ใน จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล. อันล่วงละเมิดมิได้. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.