โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

พิกัด: 16°44′56″N 100°11′20″E / 16.748921°N 100.189018°E / 16.748921; 100.189018
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
Naresuan University Hospital
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก-นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
พิกัด16°44′56″N 100°11′20″E / 16.748921°N 100.189018°E / 16.748921; 100.189018
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน
สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บริการสุขภาพ
แผนกฉุกเฉินมี
จำนวนเตียง362[1]
ประวัติ
เปิดให้บริการ26 มีนาคม พ.ศ. 2548
ลิงก์
เว็บไซต์www.med.nu.ac.th/nuh/

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐบาลระดับตติยภูมิขั้นสูง (Super tertiary care) ในเขตภาคเหนือตอนล่าง สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เลขที่ 99 หมู่ 9 ถนนพิษณุโลก - นครสวรรค์ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000

ประวัติ[แก้]

เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติให้มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้น และในคราวเดียวกันก็ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันคืออาคารคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์) เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ในระดับชั้นพรีคลินิก (ชั้นปี 2-3) รวมทั้งโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมุ่งหวังให้เป็นสถานศึกษาสำหรับการเรียนการสอนในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวรในส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกภาคปฏิบัติการ และเป็นสถานที่พักอาศัยของนิสิตแพทย์ และนิสิตกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพอื่น ๆ ที่เรียนภาคปฏิบัติด้วย นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้เป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศในเขตภาคเหนือตอนล่าง รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงได้มากยื่งขึ้น

อาคารสิรินธร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

การก่อสร้างศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2539 จนแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 สภามหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ เป็น "สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร" โดยให้มีสถานะเทียบเท่าคณะและอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานอธิการบดี เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร โดยมีแนวความคิดว่าจะให้มีศูนย์วิจัยทางการแพทย์เฉพาะทางต่างๆ ในอนาคต ซึ่งสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนการเรียนการสอน การบริการสุขภาพชั้นสูง และผลิตงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนตลอดมา

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อประดิษฐานหน้าอาคารสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ[2]

วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2546 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในการเปิดอาคารสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ และพระราชานุสาวรีย์ โดยพระองค์ได้พระราชทานนาม "อาคารสิรินธร" แก่สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพฯ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญอักษรพระนามาภิไธย "ส.ธ." ประดิษฐานเหนืออาคาร[2]

ไฟล์:NUhosp.jpg
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานหน้าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ปี พ.ศ. 2548 สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 118 (2/2548) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยมีมติให้ใช้ชื่อ "โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร" และต่อมาในการประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 119 (3/2548) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 มีมติให้รวมสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2548[3] เพื่อดำเนินการเป็นโรงพยาบาลหลักสำหรับการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4-6) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป

ปัจจุบันโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง โดยเป็นแหล่งปฏิบัติงานรวมทั้งเป็นแหล่งทำการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ระดับชั้นคลินิก และนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรมีโครงการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบบริการของโรงพยาบาลโดยเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยเป็น 400 เตียง หลังได้รับอนุมัติวงเงินงบประมาณในการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมภายใต้โครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555[4]

ทำเนียบผู้อำนวยการ[แก้]

ตั้งแต่การก่อตั้งจากศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร จนถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร มีรายนามผู้อำนวยการดังนี้[2]

ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 – 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542
2. ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สุจินต์ อึ้งถาวร 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2542
3. รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2542 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2543
สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ภูดิท เตชาติวัฒน์ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2543 – 15 มกราคม พ.ศ. 2547
2. อาจารย์ นายแพทย์องอาจ เลิศขจรสิน 16 มกราคม พ.ศ. 2547 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2548
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
รายนามผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. อาจารย์ นายแพทย์องอาจ เลิศขจรสิน 26 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 15 มีนาคม พ.ศ. 2550
2. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย 16 มีนาคม พ.ศ. 2550 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย 1 สิงหาคม พ.ศ. 2550 – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
4. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2565
5.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย 1 กันยายน พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

หน่วยงาน[แก้]

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการแบ่งหน่วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=14972&id=130903[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 2.2 "ประวัติความเป็นมา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-23. สืบค้นเมื่อ 2014-12-08.
  3. รายงานประจำปี 2548 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
  4. "โครงการพัฒนาระบบบริการระดับตติยภูมิ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-19. สืบค้นเมื่อ 2009-11-26.
  5. "โครงสร้างองค์กรโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-10-20. สืบค้นเมื่อ 2014-09-19.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]