โพธิปักขิยธรรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โพธิปักขิยธรรม หรือ โพธิปักขิยธรรม 37 เป็นธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี 37 ประการคือ

"ภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรมย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ...ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้."

"ภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก สีหมฤคราช โลกกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น เพราะมีกำลัง มีฝีเท้า มีความกล้า ฉันใด บรรดาโพธิปักขิยธรรม ทุกอย่าง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน."

ส่วนที่ตรัสถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการโดยตรง เช่น

"ภิกษุเป็นผู้มีธรรมงามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเนืองๆ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีธรรมงามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ด้วยประการดังนี้[1] ฯ"

โพธิปักขิยธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัคคีธรรม มี 37 ประการคือ

  1. สติปัฏฐาน ฐานเป็นที่กำหนดของสติ
    1. การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย (กายานุปัสสนา)
    2. การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา(เวทนานุปัสสนา)
    3. การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนา)
    4. การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม (ธรรมานุปัสสนา)
  2. สัมมัปปธาน หลักในการรักษากุศลธรรมไม่ให้เสื่อม
    1. การเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในตน (สังวรปธาน)
    2. การเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว (ปหานปธาน)
    3. การเพียรสร้างกุศลให้เกิดขึ้นในตน (ภาวนาปธาน)
    4. การเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป (อนุรักขปธาน)
  3. อิทธิบาท เป้าหมายของความเจริญ
    1. ความชอบใจทำ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น (ฉันทะ)
    2. ความแข็งใจทำ เพียรหมั่นประกอบในสิ่งนั้น (วิริยะ)
    3. ความตั้งใจทำ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ไม่ทอดทิ้งธุระ (จิตตะ)
    4. ความเข้าใจทำ การใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้น (วิมังสา)
  4. อินทรีย์
    1. ให้เกิดความเชื่อ (ศรัทธา)
    2. ให้เกิดความเพียร (วิริยะ)
    3. ให้เกิดความระลึกได้ (สติ)
    4. ให้เกิดความตั้งมั่น (สมาธิ)
    5. ให้เกิดความรอบรู้ (ปัญญา)
  5. พละ กำลัง
    1. ความเชื่อ (ศรัทธา)
    2. ความเพียร (วิริยะ)
    3. ความระลึกได้ (สติ)
    4. ความตั้งมั่น (สมาธิ)
    5. ความรอบรู้ (ปัญญา)
  6. โพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้
    1. มีความระลึกได้ (สติ)
    2. มีความพิจารณาในธรรม (ธัมมวิจยะ)
    3. มีความเพียร (วิริยะ)
    4. มีความอิ่มใจ (ปีติ)
    5. มีความสงบสบายใจ (ปัสสัทธิ)
    6. มีความตั้งมั่น (สมาธิ)
    7. มีความวางเฉย (อุเบกขา)
  7. มรรค หนทางดับทุกข์
    1. ใช้เพื่อเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ (สัมมาทิฏฐิ)
    2. ใช้เพื่อดำริชอบ คือ ดำริละเว้นในอกุศลวิตก (สัมมาสังกัปปะ)
    3. ใช้เพื่อเจรจาชอบ คือ เว้นจากวจีทุจริต (สัมมาวาจา)
    4. ใช้เพื่อทำการงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต (สัมมากัมมันตะ)
    5. ใช้เพื่อทำอาชีพชอบ คือ เว้นจาก การเลี้ยงชีพในทางที่ผิด (สัมมาอาชีวะ)
    6. ใช้เพื่อเพียรชอบ คือ สัมมัปปธาน (สัมมาวายามะ)
    7. ใช้เพื่อระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐาน 4 (สัมมาสติ)
    8. ใช้เพื่อตั้งใจมั่นชอบ คือ เจริญฌานทั้ง 4 และวิปัสสนา (สัมมาสมาธิ)

อ้างอิง[แก้]

  1. ขุ.ขุ.๒๕/๒๗๗/๓๐๓