แรดขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แรดขาว
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีนตอนต้น - ปัจจุบัน 1.8–0Ma
ชนิดย่อย แรดขาวเหนือ (Ceratotherium simum cottoni)
ชนิดย่อย แรดขาวใต้ (Ceratotherium simum simum)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Perissodactyla
วงศ์: Rhinocerotidae
สกุล: Ceratotherium
Gray, 1868
สปีชีส์: C.  simum
ชื่อทวินาม
Ceratotherium simum
(Burchell, 1817)
ชนิดย่อย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแรดขาว (สีส้มคือชนิด C. s. cottoni, สีเขียวคือชนิด C. s. simum)

แรดขาว (อังกฤษ: White rhinoceros, White rhino, Square-lipped rhinoceros) เป็นแรดชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ceratotherium simum จัดว่าเป็นสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองลงมาจากช้าง เพราะแรดขาวสามารถที่จะมีความยาวลำตัวได้ถึง 3.6-5 เมตร ความสูงของไหล่ 1.6-2 เมตร น้ำหนัก 2.3-3.6 ตัน มีผิวสีน้ำตาลอมเทาหรือเหลือง จนได้ชื่อว่า "แรดขาว" มีนอ 2 นอ ความยาวของนอที่ใหญ่ที่สุดอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร

ริมฝีปากบนของแรดขาวจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่มีติ่งยื่นแหลมออกมาเหมือนแรดชนิดอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะแรดขาวชอบที่จะกินหญ้าหรือพืชที่อยู่ตามพื้นดินหรือพุ่มไม้เตี้ย ๆ มากกว่าใบไม้ มีหูที่ยาวและปลายแหลม หน้าผากลาดและมน หัวไหล่นูนเป็นก้อน ผิวหนังเป็นตุ่มนูนเล็กน้อย ตามลำตัวไม่มีขน ยกเว้นที่ปลายหูและหาง กีบเท้ามีทั้งหมด 3 กีบ

แรดขาวมีการกระจายพันธุ์บริเวณทวีปแอฟริกาตอนใต้ พบตั้งแต่ซูลูแลนด์ ถึงอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ในแอฟริกาใต้ และยังพบได้ใน ซูดานตอนใต้, ยูกันดา และบริเวณใกล้ ๆ คองโก มีทั้งหมด 2 ชนิดย่อย คือ แรดขาวเหนือ (C. s. cottoni) และแรดขาวใต้ (C. s. simum)

แรดขาวมักอยู่เป็นครอบครัวเล็ก ๆ ประกอบด้วยสมาชิกประมาณ 3-4 ในพื้นที่มีมีอาหารอุดมสมบูรณ์อาจพบอยู่หลายครอบครัวหากินอยู่ด้วยกัน บางครั้งอาจพบมากถึง 18 ตัว โดยมีตัวผู้คุมฝูงตัวเดียว นอกนั้นเป็นตัวเมียและลูก แรดขาวมีการกระจายถิ่นหากินกว้าง โดยใช้กองอุจจาระและปัสสาวะเป็นการบอกอาณาเขตของมัน ตัวเมียที่มีลูกจะยอมให้ตัวผู้เข้าใกล้เฉพาะตอนที่เป็นสัดเท่านั้น หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะต่อสู้ไล่ตัวผู้ไปทันที ในฤดูร้อนชอบหลบร้อนตามร่มไม้หรือแช่ปลัก บางครั้งอาจแช่ปลักทั้งคืนเพื่อบรรเทาความร้อนและกำจัดแมลง ในฤดูหนาวจะนอนอาบทรายแทนการแช่ปลัก

แรดขาวโตเต็มที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 7-10 ปี ฤดูผสมพันธุ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ระยะการตั้งท้องนานประมาณ 18 เดือน มีอายุประมาณ 40-50 ปี ลูกแรดขาวจะอยู่ร่วมกับแม่จนอายุประมาณ 3-5 ปี โดยแรดตัวเมียจะออกลูกเพียงครั้งละตัว

ในอดีตแรดขาวจะถูกล่าอย่าหนักเพื่อเอานอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคล่าอาณานิคม จนทำให้ประชากรของแรดขาวเกือบสูญพันธุ์ แต่ปัจจุบันได้มีกฎหมายคุ้มครองแรดขาวและห้ามการล่าและค้าขายนอแรดอย่างเด็ดขาด รวมถึงแรดชนิดอื่น ๆ ด้วย ทำให้ประชากรของแรดขาวมีเพิ่มมากขึ้นจากการอนุรักษ์ แต่กระนั้นก็คงมีการลักลอบอยู่เป็นระยะ ๆ

ชื่อ[แก้]

แรดขาวในอุทยานแห่งชาติน้ำตกเมอร์ชิสัน, ประเทศยูกันดา

ทฤษฎีที่นิยมที่สุดของที่มาของชื่อ "แรดขาว (White Rhinoceros)" คือการแปลจากภาษาดัตช์มาเป็นภาษาอังกฤษผิดพลาด คำว่า "white" ในภาษาอังกฤษมาจากการแปลที่ผิดพลาดของคำว่า "wijd" ในภาษาดัตช์ ซึ่งแปลว่า "กว้าง" ซึ่งหมายถึงความกว้างของปากแรด เริ่มมาจากคนตั้งถิ่นแรกพวกแรกๆที่พูดกาษาอังกฤษในประเทศแอฟริกาใต้แปล "wijd" เป็น "white" ทำให้สุดท้ายแรดปากกว้างถูกเรียกว่าแรดขาวและแรดอีกชนิดที่มีปากแหลมถูกเรียกว่าแรดดำ ภายหลังภาษาดัตช์และภาษาแอฟริกาหันมาใช้ตามภาษาอังกฤษโดยเรียกว่าแรดขาวด้วย ข้อเสนอของต้นกำเนิดคำนี้เป็นเรื่องเท็จ ก่อนจะมีการประมวลโดยนักเขียนชาวดัตช์ จากการตรวจสอบเอกสารของดัตช์และแอฟริกาที่เกี่ยวกับแรด ไม่มีหลักฐานแสดงว่าคำ "wijd" เคยถูกใช้เพื่ออธิบายถึงการปากแรด[2] ทฤษฎีอื่นที่เป็นที่นิยมเสนอว่าชื่อมาจากแรดทั่วแอฟริกามีสีขาว อาจเป็นเพราะมันแช่ปลักในดินที่เป็นหินปะการังหรือมูลนก หรือนอของมันมีสีอ่อน ชื่ออื่นๆที่ไม่เป็นที่นิยมก็มีแรดปากเหลี่ยม ชื่อสกุล Ceratotherium ตั้งโดยนักสัตววิทยา จอร์น เอ็ดวาร์ด เกรย์ (John Edward Gray) ในปี ค.ศ. 1868[3] มาจากภาษากรีกโบราณ คำว่า keras (κερας) "เขา" และ therion (θηριον) "สัตว์ร้าย" Simum เป็นภาษากรีก simus (σιμος), แปลว่า "จมูกแบน"

ลักษณะ[แก้]

แรดขาวมีกีบเท้า 3 กีบ

แรดขาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองจากช้าง[4] มีร่างกายและหัวขนาดใหญ่ คอสั้น อกกว้าง ลำตัวรวมหัวยาว 3.4-4.2 ม.หางยาว 50-70 ซม.สูง 1.5-1.9 ม.หนัก 1400-3600 กก.เพศผู้หนักกว่าเล็กน้อย[5] น้ำหนักมากที่สุดที่เท่าบันทึกไว้คือ 4500 กก.[6] นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง ทั่วไปยาว 90 ซม.อาจยาวถึง 150 ซม. แรดขาวมีตะโหนกบริเวณที่หลังคอเพื่อรองรับหัวที่มีขนาดใหญ่ มีขาสั้นอวบ แต่ละเท้ามี 3 กีบ สีของแรดมีสีน้ำตาลแกมเหลืองถึงเทาดำ มีขนแค่ที่หูและหาง มีปากกว้างแบนใช้สำหรับเล็มหญ้า

อ้างอิง[แก้]

  1. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ iucn status 19 November 2021
  2. Rookmaaker, Kees (2003). "Why the name of the white rhinoceros is not appropriate". Pachyderm. 34: 88–93.
  3. Groves, Colin P. (1972). "Ceratotherium simum" (PDF). Mammalian Species (8): 1–6. doi:10.2307/3503966.
  4. "White Rhinoceros". Honoluluzoo.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-23. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
  5. Ceratotherium simum. "White Rhinoceros, White Rhinoceros Profile, Facts, Information, Photos, Pictures, Sounds, Habitats, Reports, News - National Geographic". Animals.nationalgeographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-06. สืบค้นเมื่อ 2009-04-07.
  6. "African Rhinoceros". Safari Now. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-03-19.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ceratotherium simum ที่วิกิสปีชีส์


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "หมายเหตุ" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="หมายเหตุ"/> ที่สอดคล้องกัน