แก้ว พงษ์ประยูร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แก้ว พงษ์ประยูร
ต.ม., ต.ภ.
ชื่อจริงพันตรี แก้ว พงษ์ประยูร
รุ่นพินเวท
ไลท์ฟลายเวท
ส่วนสูง155 เซนติเมตร
เกิด28 มีนาคม พ.ศ. 2523 (44 ปี)
อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
เทรนเนอร์กามนิต นารีรักษ์
ธง ทวีคูณ
โอมาร์ มาลากอน
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
โอลิมปิกฤดูร้อน
เหรียญเงิน - รองชนะเลิศ ลอนดอน 2012 ไลท์ฟลายเวท
ซีเกมส์
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 กัวลาลัมเปอร์ 2001 พินเวท
เหรียญเงิน - รองชนะเลิศ เวียดนาม 2003 พินเวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ มะนิลา 2005 พินเวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ นครราชสีมา 2007 พินเวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เวียงจันทร์ 2009 ไลท์ฟลายเวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ปาเล็มบัง 2011 ไลท์ฟลายเวท

พันตรี แก้ว พงษ์ประยูร เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยในรุ่นพินเวท (45 กิโลกรัม) และไลท์ฟลายเวท (49 กิโลกรัม) ถือได้ว่าเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยที่มีประสบการณ์โชกโชน เคยผ่านการชกในหลายระดับมาแล้ว ด้วยการผ่านการแข่งขันซีเกมส์มาถึง 6 สมัย ซึ่งได้เหรียญทอง 4 ครั้ง, เหรียญเงิน 1 ครั้ง และเหรียญทองแดง 1 ครั้ง

ประวัติ[แก้]

แก้ว เกิดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2523 ที่ตำบลวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โดยเป็นลูกคนสุดท้องของนายคำ และนางมะลิ พงษ์ประยูร ในบรรดาลูกทั้งหมด 6 คน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และได้รับยศว่าทีร้อยตรีจากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รุ่นเดียวกันกับสมจิตร จงจอหอและได้รับพระราชทานยศร้อยตรีหลังจากนั่น ได้เข้ารับราชการเป็นทหารบกกองทัพบกสังกัดกองทัพภาคที่ 3 ประจำกองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ และจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์จากวิทยาลัยทองสุข

ด้านครอบครัว สมรสกับนางธาราทิพย์ พงษ์ประยูร มีบุตรสาวชื่อ น้องแก้มใส[1][2] และบุตรชายชื่อ น้องต้นกล้า[3]

โอลิมปิกฤดูร้อน 2012[แก้]

แก้ว ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2012

ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อกลางปี พ.ศ. 2555 แก้วถือเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้สิทธิ์ไปแข่งขัน จากการเอาชนะ ซาลมาน อาลีซาดา นักมวยชาวอาเซอร์ไบจาน ในรอบ 16 คนสุดท้าย ที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ไป 23-8 หมัด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ในรายการมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก และถือว่าเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกของแก้วด้วย[4]

แก้วเป็นนักมวยและนักกีฬาไทยคนสุดท้ายที่มีสิทธิ์ลุ้นเหรียญทองในโอลิมปิกดังกล่าว ด้วยเป็นนักกีฬามวยสากลเพียงคนเดียวที่เข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศกับโจว ซื่อหมิง นักมวยชาวจีน ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญทองในรุ่นนี้เมื่อโอลิมปิกครั้งที่แล้ว ปรากฏว่าแก้วเป็นฝ่ายแพ้ไป 10-13 หมัด[5] พฤติการณ์บางประการในการแข่งขันก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ เช่น มีการเตือนแก้วว่าทำผิดกติกาครั้งหนึ่งโดยไม่ระบุว่าผิดอย่างไร แต่ให้โจวทำผิดกติกาหลายครั้งแล้วจึ่งเตือนเพียงครั้งเดียว อีกทั้งโจวยังได้คะแนนมากเกินกว่าที่ควรจะได้โดยไม่มีที่มาที่ไป นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า โจวไม่ได้พยายามชกในยกสุดท้าย แต่อาศัยชั้นเชิงถ่วงเวลาเท่านั้น[6] ฝ่ายไทยจึงประท้วงผลการแข่งขัน แต่ไม่สำเร็จ เพราะพ้นกำหนด 5 นาทีหลังจากประกาศผลการแข่งขัน ต้องห้ามตามกฎบัตรโอลิมปิก[7] ขณะที่ อู๋ จิงกั๋ว ประธานสมาคมมวยระหว่างประเทศ เห็นว่า การตัดสินเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรมแล้ว[8]

ผลการชกของแก้ว พงษ์ประยูร มีดังนี้

รอบ คู่ชก วันที่ สถานที่ ผล
32 คนสุดท้าย แอลจีเรีย โมฮัมหมัด ฟลิสซี 31 กรกฎาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 19-11[9]
16 คนสุดท้าย เอกวาดอร์ การ์โลส กีโป 4 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 10-6
ก่อนรองชนะเลิศ บัลแกเรีย อเล็กซานดาร์ อเล็กซานดรอฟ 8 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 16-10
รองชนะเลิศ รัสเซีย ดาวิด ไอราเปเตียน 10 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 13-12
ชิงชนะเลิศ จีน โจว ซื่อหมิง 11 สิงหาคม เอ็กซ์เซล ลอนดอน 10-13

ชีวิตหลังแขวนนวม[แก้]

หลังจบกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้แล้ว แก้วได้เลื่อนยศจากชั้นประทวนเป็นชั้นสัญญาบัตรจากกองทัพบก และได้แขวนนวมทันทีตามที่ได้ตั้งใจไว้[10]โดยได้รับเงินรางวัลต่าง ๆ มากมายจากทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนกว่า 20 ล้านบาท[11] และหันไปเป็นผู้ฝึกสอนนักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นน้องต่อไป[12] แม้จะมีความพยายามที่จะให้แก้วหันมาชกมวยสากลอาชีพ โดยจะประกบคู่กับ โจว ซื่อหมิง คู่ชิงเหรียญทองโอลิมปิกที่หันมาชกมวยสากลอาชีพก็ตาม แต่แก้วก็ได้ปฏิเสธไป

ในต้นปี พ.ศ. 2557 มีข่าวว่าสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มีความพยายามจะให้แก้วกลับมาชกมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะชกในเอเชียนเกมส์ 2014 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เพราะ ธเนศ องค์จันทร์ต๊ะ ตัววางทีมชาติไทยในรุ่นไลท์ฟลายเวทแทนแก้ว ได้หันไปชกมวยไทยสมัครเล่นแทน แต่ในที่สุดก็ปรากฏว่าข่าวนี้กลายเป็นความเข้าใจผิดไป[12] ซึ่งในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ แก้วได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนให้กับนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย[3]

ในปี พ.ศ. 2558 มีข่าวปรากฏตลอดว่า แก้วจะหวนกลับคืนมาชกอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล โดยจะทำการชกคัดเลือกตัวในรายการอินเตอร์เนชั่นแนลเทรนนิ่งแคมป์ ที่เมืองเฉียงอัน ประเทศจีน ในช่วงปลายปีเดียวกัน แม้อายุจะถึง 35 ปีแล้วก็ตาม แต่หลังจากการเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นเวลา 2 เดือน เจ้าตัวรู้สึกได้ถึงสภาพร่างกายที่ไม่เหมือนเดิม จึงได้ยุติการฝึกซ้อมลงไป และแขวนนวมไปอย่างถาวร[13]

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2559 แก้วได้ตัดสินใจหวนคืนกลับมาชกมวยอีกครั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยเข้าคัดเลือกตัวเพื่อไปแข่งขันโอลิมปิก 2016 ในการคัดเลือกตัวรอบสุดท้ายที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ในช่วงเดือนมิถุนายน ปรากฏว่าแก้วสามารถเอาชนะในรอบแรกมาได้ด้วยการเอาชนะ ฮาซาน อัล-คาบี นักมวยชาวอิรัก ด้วยคะแนน 29-28 ทั้ง 3 เสียง แต่ในรอบที่ 2 หรือรอบ 16 คนสุดท้าย แก้วเป็นฝ่ายแพ้ต่อ โซเฮียร์ เอลบักคาลี นักมวยชาวโมร็อกโก ที่ผ่านรอบแรกมาได้ด้วยการชนะผ่าน ด้วยคะแนน 28-29 ทั้ง 3 เสียง [14] จึงตัดสินใจแขวนนวมอย่างเด็ดขาด[15]

ผู้ฝึกสอน[แก้]

ในปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 มีข่าวปรากฏว่า แก้ว พงษ์ประยูร ตัดสินใจที่จะกลับมาชกมวยอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การได้เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล โดยเริ่มต้นจากการคัดตัวในรายการชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งในครั้งนี้การกลับมาชกครั้งนี้ แก้วได้ยอมรับว่า อาจจะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเดิมเพราะกติการชกได้เปลี่ยนไป [16]

แต่ในการแข่งขันซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ แก้วได้ถูกตัดชื่อออกจากทีมเทรนเนอร์ทีมชาติไทยในครั้งนี้ [17] และหลังการแข่งขันซีเกมส์ แก้วได้รับการติดต่อจากสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยให้กลับไปเป็นผู้ช่วยเทรนเนอร์อีกครั้ง โดยแก้วบอกว่าที่ผ่านมา ตนขอพักเพื่อที่จะให้เวลากับครอบครัว [18]

ผลงานการแสดง[แก้]

ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์[แก้]

ปี เรื่อง บทบาท
2557 หมัดเด็ดเสียงทอง (ละครโทรทัศน์) รับเชิญ
2566 ขุนพันธ์ 3 (ภาพยนตร์) เสือเมฆ
กล้า ผาเหล็ก (ละครโทรทัศน์) ร.ต.อ.แก้ว พงษ์ประยูร
มวยสะดิ้ง หมัดซิ่งสายฟ้า (ละครโทรทัศน์) สาธิต (รับเชิญ)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 'แก้ว, วรพจน์, อภิเชษฐ์'ซิวเพิ่ม 3 ทอง ปิดฉากมวยซีเกมส์. ไทยรัฐ
  2. แก้ว พงษ์ประยูร. สยามสปอร์ต
  3. 3.0 3.1 กาลเวลาไม่เคยเปลี่ยน... แก้ว พงษ์ประยูร. โพสต์ทูเดย์. ปีที่ 12 ฉบับที่ 4,077. วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557. ISSN 1686-428X หน้า 6
  4. แก้ว พงษ์ประยูร คว่ำเจ้าภาพ คว้าตั๋วมวยโอลิมปิค. สนุกดอตคอม
  5. Olympics boxing: China's Zou Shiming retains light flyweight title. บีบีซี (อังกฤษ)
  6. "Thai boxer Kaew Pongprayoon robbed of Olympic gold medal by bizarre officiating". Combat Asia. August 12, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-22. สืบค้นเมื่อ August 12, 2012.
  7. 'แก้ว'ร่ำไห้!ชกพ่ายจีนชวดเหรียญทอง. คมชัดลึก
  8. ""ไอบา" ตอบข้อความ MGR SPORT ยัน "แก้ว" แพ้ยุติธรรม". ผู้จัดการ. 12 สิงหาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-14. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "แก้ว พงษ์ประยูร" ชนะกำปั้นแอลจีเรีย เข้ารอบ 2 มวยโอลิมปิก. ข่าวสด
  10. "'แก้ว' เป็นปลื้ม ผบ.ทบ. ตกรางวัลเลื่อนยศเป็นร้อยตรี". ไทยรัฐ. 15 สิงหาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 4 เมษายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, บทเรียนของฮีโร่ จาก 'กร' ถึง 'แก้ว' . "ไฮไลต์กีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,833: วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558 แรม 9 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย
  12. 12.0 12.1 หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, ธเนศกลับใจคืนทีมชาติไทย. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,549: วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย
  13. ""แก้ว" แพ้สังขาร! พับแผนแก้มือชก อลป". ผู้จัดการออนไลน์. 27 พฤศจิกายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. หน้า 18 ต่อข่าวกีฬาหน้า 17, 'แก้ว-นิค'ไม่รอด ร่วงมวยอปล.. คมชัดลึกปีที่ 18 ฉบับที่ 5358: วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559
  15. หน้า 19, "สโมสรนักสู้" โดย "เบี้ยหงาย". ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21342: วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  16. หน้า 17 ต่อ หน้า 19 กีฬา, แก้วคืนเวทีศึกมวยอช.ลุ้นตั๋วอลป.. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,760: วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
  17. "อดีตฮีโร่ สวดยับมวยห่วย "แก้ว" แฉต่อยกันในแคมป์". ผู้จัดการออนไลน์. 10 มิถุนายน 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-13. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. หน้า 17 ต่อ หน้า 19 กีฬา, ฮีโร่แก้วรับติวรุ่นน้อง. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,022: วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8-8 ปีมะแม
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๘๖, ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๖ เก็บถาวร 2022-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒๓, ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๖
  21. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๒๐, ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
  22. สยามกีฬารายวัน. ปีที่ 28 ฉบับที่ 10155. วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555. หน้า 8
  23. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 20 ฉบับที่ 7054. วันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2555. หน้า 2

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]