แกงมัสมั่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แกงมัสมั่น
แกงมัสมั่นไก่
ประเภทแกง
มื้ออาหารจานหลัก
แหล่งกำเนิดไทย
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์ (เนื้อวัว, เนื้อเป็ด หรือเนื้อไก่) หรือเต้าหู้, กะทิ, หัวหอม, ถั่วลิสง หรือ มะม่วงหิมพานต์, มันฝรั่ง, ใบกระวาน, เม็ดยี่หร่า, อบเชย, โป๊ยกั้ก, น้ำตาลปี๊บ, น้ำปลา, พริก, มะขามเปียก

แกงมัสมั่น เป็นอาหารประเภทแกงที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารมลายู ชาวไทยมุสลิมเรียกแกงชนิดนี้ว่า ซาละหมั่น แกงมัสมั่นแบบมุสลิมไทยออกรสหวานในขณะที่ตำรับดั้งเดิมของชาวมุสลิมออกรสเค็มมัน[1] ในไทยมีวิธีการทำสองแบบคือ แบบไทย น้ำพริกแกงมี พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ลูกผักชี ยี่หร่า ดอกจันทน์ กานพลู ปรุงรสให้หวานนำ เค็มและอมเปรี้ยว เป็นแกงมีน้ำมากเพื่อรับประทานกับข้าว อีกแบบเป็นแบบมุสลิม น้ำขลุกขลิก ใช้จิ้มขนมปังหรือโรตี ในน้ำพริกแกงไม่ใส่ข่า ตะไคร้ ส่วนผสมที่เป็นพริกแห้ง หอม กระเทียม ถั่วลิสงจะทอดก่อน ใส่ผงลูกผักชี ยี่หร่า ใส่มันฝรั่ง บางสูตรใส่มะเขือยาว ก่อนจะมีมันฝรั่งมาปลูกแพร่หลายในไทย จะนิยมใส่มันเทศ[2] สันนิษฐานว่าคำว่า "มัสมั่น" มาจากภาษาเปอร์เซียคำว่า مسلمان (มุสลิมมาน) ซึ่งหมายถึง ชาวมุสลิม[3]

แกงมัสมั่นจัดเป็นอาหารชนิดแรกที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความว่า

๏ แกงไก่มัสมั่นเนื้อ นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์ พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน อกให้หวนแสวง ๚
กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน[4]

แกงมัสมั่นแบบชาวมุสลิมปักษ์ใต้ ต่างจากการปรุงแกงมัสมั่นของชาวไทยภาคกลางคือ จะไม่ทำเป็นน้ำพริกแกงมัสมั่น แต่จะผสมลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกป่นอินเดียและพริกไทยป่นไว้เป็นผงเครื่องแกง จากนั้นจึงนำลงไปผัดกับน้ำมันที่เจียวหัวหอมแล้ว ส่วนแกงมัสมั่นแบบมลายู-ชวา จะใส่กานพลู อบเชย ลงไปผัดกับน้ำมันและหอมแดงจนหอม แล้วจึงใส่พริกป่นอินเดีย ลูกผักชีป่น ยี่หร่าป่น พริกไทยป่นลงไปผัดให้เข้ากัน นอกจากนั้นยังใส่มะพร้าวคั่ว ผงขมิ้น ดอกไม้จีนและหน่อไม้จีนด้วย

เว็บไซต์ CNNGo ได้จัดอันดับ 50 เมนูอาหารที่อร่อยที่สุดในโลกโดยการลงคะแนนเสียงทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า แกงมัสมั่นได้รับเลือกให้เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก[5]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. อบเชย อิ่มสบาย (2004). นิดดา หงษ์วิวัฒน์ (บ.ก.). อาหารมุสลิม. กรุงเทพฯ: แสงแดด. p. 14. ISBN 974-9665-03-1.
  2. สุมล ว่องวงศ์ศรี (2014). จานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ ๑๐๐ ปี. กรุงเทพฯ: สารคดี. p. 17. ISBN 978-616-7767-30-7.
  3. ช่วงพิชิต, ธีรนันท์ (เมษายน 2001). "ตามรอย สำรับแขกคลองบางหลวง". สารคดี. No. 194. ISSN 0857-1538.
  4. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒). "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานและงานนักขัตฤกษ์" – โดยทาง วิกิซอร์ซ.
  5. CNNGo staff (21 กรกฎาคม 2011). "World's 50 best foods". CNN Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มกราคม 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ญดา ศรีเงินยวง; ชนิรัตน์ สำเร็จ, แกงไทย, 300 หน้า, กรุงเทพฯ: แสงแดด, ตุลาคม 2556, ISBN 978-616-284-517-8
  • David Thompson, Classic Thai Cuisine, 145 pages, Berkeley, California: Ten Speed Press, September 1993, ISBN 0-89815-563-0
  • Joe Cummings, Lonely Planet World Food Thailand, 288 pages, London: Lonely Planet Publications, March 2000, ISBN 978-1-86450-026-4