เอช. พี. เลิฟคราฟท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอช. พี. เลิฟคราฟท์
เลิฟคราฟท์และโซเนีย กรีน
เลิฟคราฟท์และโซเนีย กรีน
เกิด20 สิงหาคม พ.ศ. 2433
รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิตมีนาคม 15, 1937(1937-03-15) (46 ปี)
รัฐโรดไอแลนด์ สหรัฐอเมริกา
อาชีพนักเขียนนวนิยาย
สัญชาติสหรัฐอเมริกา
แนวนิยายสยองขวัญ นิยายวิทยาศาสตร์
ภาพเหมือนของเอช. พี. เลิฟคราฟท์และงานสร้างสรรค์

โฮเวิร์ด ฟิลิปส์ เลิฟคราฟท์ (Howard Phillips Lovecraft - 20 สิงหาคม พ.ศ. 243315 มีนาคม พ.ศ. 2480) เป็นนักเขียนนิยายชาวอเมริกัน โดยแนวเรื่องของเลิฟคราฟท์นั้นมักมีลักษณะผสมกันระหว่างนิยายสยองขวัญ นิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี ซึ่งอิทธิพลของเลิฟคราฟท์ที่มีต่อวงวรรณกรรมก็คือการริเริ่มเรื่องชุดตำนานคธูลู

วรรณกรรมของคุณเลิฟคราฟท์มีพื้นฐานมาจากแนวคิดที่เรียกว่า cosmicism ซึ่งเป็นแนวคิดหรือปรัชญาที่เขาได้คิดขึ้นมาเองและเป็นธีมหลักของงานประพันธ์ แนวคิด cosmicism อธิบายโดยเข้าใจอย่างง่ายคือ มนุษยชาติเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวาลที่ไม่มีความสำคัญมากและสามารถถูกกวาดล้างได้ทุกเมื่อจากสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่สามารถรับรู้และคาดเดาได้ รวมถึงมีองค์ประกอบของความ fantasy และวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย

ในขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น งานประพันธ์ของเลิฟคราฟท์ได้รับความนิยมในวงแคบเท่านั้น แต่ต่อมาก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สตีเฟน คิง กล่าวถึงเลิฟคราฟท์ไว้ว่าเป็นผู้เขียนนิยายสยองขวัญแบบคลาสสิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ[1]

ประวัติ[แก้]

เลิฟคราฟท์เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2433 ที่เมืองพรอวิเดนซ์ รัฐโรดไอแลนด์ เป็นลูกคนเดียวของพ่อค้าอัญมณี วินฟิลด์ สก็อต เลิฟคราฟท์ และ ซาราห์ ซูซาน ฟิลิปส์ เลิฟคราฟท์ เมื่อเลิฟคราฟท์อายุได้สามปีนั้น บิดาของเลิฟคราฟท์ได้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรงและต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลบัทเลอร์จนกระทั่งเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2441

เลิฟคราฟท์ได้รับการเลี้ยงดูโดยมารดา ป้าสองคน (ลิเลียน เดโลรา ฟิลิปส์ และ แอนนี เอเมลีน ฟิลิปส์)และวิปเปิล แวน บิวเรน ฟิลิปส์ ผู้เป็นตาของเลิฟคราฟท์ เลิฟคราฟ์นั้นนับได้ว่าเป็นผู้มีพรสวรรค์โดยสามารถท่องบทร้อยกรองได้เมื่อมีอายุสองปีและแต่งบทกวีได้เมื่ออายุหกปี ซึ่งตาของเลิฟคราฟท์ได้สรรหาวรรณกรรมต่างๆให้เลิฟคราฟท์อ่านในวัยเด็กและยังเล่าเรื่องสยองขวัญที่ตนแต่งเองให้เลิฟคราฟท์ฟัง

เลิฟคราฟท์ในวัยเด็ก

ในขณะที่เป็นเด็กนั้นเลิฟคราฟท์มีสุขภาพไม่ดีนักจึงไม่ได้ศึกษาในโรงเรียนจนกระทั่งอายุได้แปดปีแต่ก็ออกจากโรงเรียนในปีต่อมา ซึ่งในระหว่างนั้นเลิฟคราฟท์ได้ศึกษาเรื่องต่างๆโดยเฉพาะด้านเคมีและดาราศาสตร์ สี่ปีต่อมา เลิฟคราฟท์จึงได้เข้าเรียนอีกครั้งที่โรงเรียนมัทธยมโฮปสตรีท

เมื่อตาของเลิฟคราฟท์เสียชีวิตในปี 2447นั้น ครอบครัวของเลิฟคราฟท์ประสพปัญหาด้านการเงินจนต้องย้ายจากบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ซึ่งทำให้สุขภาพจิตของเลิฟคราฟท์อยู่ในสภาพย่ำแย่ ในปี 2451 ก่อนที่เลิฟคราฟท์จะจบการศึกษานั้น เลิฟคราฟท์อ้างว่าตนมีปัญหาด้านประสาทและไม่ได้รับใบรับรองการศึกษา

ในช่วงปีพ.ศ. 2451 ถึง 2456 นั้นเลิฟคราฟท์ได้ประพันธ์งานด้านร้อยกรองเป็นหลักและใช้ชีวิตอย่างสันโดษโดยแทบไม่ได้ติดต่อใครนอกจากแม่ของเขาเอง จนกระทั่งเลิฟคราฟท์ได้เขียนจดหมายถึงวารสารอาโกซี(Argosy)เพื่อแสดงความเบื่อหน่ายต่อนิยายรักของนักเขียนผู้หนึ่ง เนื้อหาของจดหมายฉบับนั้นทำให้เอ็ดเวิร์ด เอฟ. ดาส ประธานสมาคมสื่อสมัครเล่น United Amateur Press Association (UAPA) ชักชวนเลิฟคราฟท์ให้ร่วมงานด้วยในปี 2457 ซึ่งเลิฟคราฟท์ได้เขียนบทกวีและบทวิจารณ์หลายชิ้นให้กับทางสมาคม จนกระทั่งปี 2460 เลิฟคราฟท์จึงได้เขียนนิยาย ซึ่งรวมถึงเรื่องเด่นอย่าง The Tomb และ Dagon ซึ่งเรื่อง Dagon นี้ต่อมาเป็นเรื่องแรกของเลิฟคราฟท์ที่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ในวารสาร The Vagrant (พ.ศ. 2462) และ Weird Tales (พ.ศ. 2466) ซึ่งในช่วงนี้เลิฟคราฟท์ได้เริ่มติดต่อกับเพื่อนนักประพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น โรเบิร์ต บลอค (ผู้เขียนไซโค) คลาก แอชตัน สมิท และ โรเบิร์ต อี. โฮเวิร์ด (ผู้เขียนเรื่องชุดโคแนน ยอดคนเถื่อน)

ในปีพ.ศ. 2462 มารดาของเลิฟคราฟท์ต้องเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลบัทเลอร์เนื่องจากปัญหาทางจิต แต่ทั้งคู่ก็ยังคงเขียนจดหมายติดต่อกันจนกระทั่งมารดาของเลิฟคราฟท์เสียชีวิตในปี 2464 เลิฟคราฟท์ได้พบกับโซเนีย กรีนในปีเดียวกันนี้ ซึ่งทั้งคู่ได้แต่งงานกันในปี พ.ศ. 2467 และย้ายไปอาศัยอยู่ที่บรูคลิน นครนิวยอร์ก แต่ไม่นานก็ประสพปัญหาด้านการเงิน จนกรีนต้องไปหางานทำในคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ขณะที่เลิฟคราฟท์อยู่คนเดียวที่เรดฮุค การที่ไม่มีงานประจำในเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาตินี้ทำให้เลิฟคราฟท์เกลียดชีวิตในนิวยอร์กและชาวต่างชาติ ซึ่งเลิฟคราฟท์ได้แฝงความรู้สึกนี้ไว้ในเรื่องสั้น The Horror at Red Hook ไม่กี่ปีต่อมาเลิฟคราฟท์และกรีนก็ได้หย่าร้างกัน แม้จะมีผู้เชื่อว่าชีวิตสมรสที่ไม่ราบรื่นนี้น่าจะเป็นเพราะเลิฟคราฟท์ไม่มีความรู้สึกทางเพศ กรีนเองกลับกล่าวถึงเลิฟคราฟท์ว่าเป็นคู่รักที่ยอดเยี่ยม[2]

เลิฟคราฟท์กลับไปอาศัยอยู่กับป้าที่โพรวิเดนซ์อีกครั้ง และได้สร้างสรรค์งานเขียนที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมามากมาย รวมถึงเขียนงานประพันธ์ในนามของผู้อื่น (ghostwriting) แต่ถึงกระนั้นสถานะทางการเงินของเลิฟคราฟท์ก็ยังแย่ลงเรื่อยใน ปี 2479 เลิฟคราฟท์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้เล็กและเสียชีวิตในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2480

ชื่อของเลิฟคราฟท์ได้รับการบันทึกไว้พร้อมบิดามารดาบนอนุสรณ์จารึกของตระกูลฟิลิปส์ ในปีพ.ศ. 2520 ได้มีการรวมเงินซื้อป้ายหลุมศพของเลิฟคราฟท์เอง ซึ่งป้ายนี้ระบุชื่อ วันเดือนปีเกิดของเลิฟคาฟท์ และ วลี "I AM PROVIDENCE" ซึ่งมาจากจดหมายของเลิฟคราฟท์

อ้างอิง[แก้]

  1. King quoted on front cover of 1982 paperback edition of The Best of H.P. Lovecraft: Bloodcurdling Tales of Horror and the Macabre published by Del Rey Books with introduction by Robert Bloch. Other sources quote King as calling this judgement of Lovecraft "undeniable"[1] เก็บถาวร 2011-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน or "beyond doubt."[2] เก็บถาวร 2010-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. HPLA - H.P. Lovecraft Misconceptions

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]