เสียงประสาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงประสานเสียงประเภทบาร์เบอร์ช็อปควอร์เท็ตอย่างเช่นวงของกองทัพเรือสหรัฐ ได้ทำการร้องเพลงเสียงประสาน 4 แนว ซึ่งประกอบไปด้วยแนวทำนอง (โดยปกติจะเป็นตัวนำ) และแนวประสานเสียงอีก 3 แนว

เสียงประสาน (อังกฤษ; harmony) มีความหมายถึงเสียงแต่ละเสียงที่ซ้อนทับกัน โดยทั่วไปจะหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันดังนี้ ความถี่, ระดับเสียง (คุณภาพเสียง, โน้ตดนตรี), หรือคอร์ด

การศึกษาเรื่องเสียงประสานนั้นจะเกี่ยวกับเรื่องของคอร์ด ซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างคอร์ด, ทางเดินคอร์ด, และกฎระเบียบต่าง ๆ ของคอร์ด

เสียงประสานมักจะถูกเรียกเป็นโครงสร้าง "แนวตั้ง" ของดนตรี ซึ่งต่างจากทำนองเพลงที่เป็นโครงสร้างแนวนอน

ทำนองสอดประสาน ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ของแนวทำนองหลาย ๆ แนว และดนตรีหลากแนวหรือดนตรีแบบโพลีโฟนี (polyphony) ซึ่งหมายถึงดนตรีที่มีเสียงจากแนวเสียงหลายแนวที่เป็นอิสระต่อกัน แต่บรรเลงพร้อมกัน ทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ ในบางครั้งจะไม่ถูกนับรวมเป็นเสียงประสาน

เสียงประสานทางด้านดนตรีป็อปปูลาร์และดนตรีแจ๊ส จะมีชื่อเรียกคอร์ดตามโน้ตพื้นต้น (root) ของคอร์ด พร้อมคำเรียกอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของตัวคอร์ดนั้น ๆ ซึ่งในดนตรีหลาย ๆ แนวอย่างเช่น ดนตรีบาโรค, โรแมนติก, โมเดิร์น, แจ๊ส คอร์ดของดนตรีเหล่านี้มักถูกขยายด้วยสิ่งที่เรียกว่า "เทนชั่น" (tension) เทนชั่นคือสมาชิกคอร์ดเพิ่มเติมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับแนวเบสเป็นคู่เสียงกระด้าง

โดยปกติแล้ว ดนตรีคลาสสิกในยุคการปฏิบัติโดยทั่วไป (common practice period) การใช้คอร์ดกระด้าง (คอร์ดที่มีโน้ตเทนชั่น) จะเกลาเข้าหาคอร์ดกลมกลืน การวางเสียงประสานโดยทั่วไปนั้นจะทำให้ผู้ฟังเกิดความสบายหูได้ก็ต่อเมื่อมีความสมดุลกันระหว่างเสียงกระด้างและเสียงกลมกลืน ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้สามารถสรุปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้ว่า ความน่าอภิรมย์นี้จะเกิดขึ้นได้จากความสมดุลระหว่างความตึงเครียดและความผ่อนคลาย

นิรุกติศาสตร์[แก้]

ในภาษาอังกฤษ คำว่า harmony มาจากภาษากรีกโบราณว่า ἁρμονία (harmonia - ฮาโมเนีย) ซึ่งมีความหมายว่า "ร่วมกัน, สมานฉันท์, เป็นหนึ่งเดียวกัน" ซึ่งมาจากคำกริยาว่า ἁρμόζω (harmozō - ฮามอโซ) มีความหมายว่า "(ฉัน)เข้าร่วมด้วย"

ในภาษาไทย คำว่า "เสียง" มาจากภาษาจีนยุคกลาง 聲 (MC ɕiᴇŋ) คำว่า "ประสาน" แผลงมาจากภาษาเขมร ផ្សារ (ผฺสาร, “เชื่อม”)

กฎเกณฑ์ตามประวัติศาสตร์[แก้]

ในทางด้านดนตรีตะวันตก ในแง่ของการบรรเลง, การประพันธ์ หรือทฤษฎีบางอย่างก็มีกฎการใช้เสียงประสานโดยเฉพาะ กฎเหล่านี้มักจะกล่าวถึงบ่อย ๆ ว่ามีที่มาจากคุณสมบัติทางธรรมชาติ อย่างเช่นตัวเลขสัดส่วนจากกฎการเทียบเสียงของพีทากอรัส (ความกลมกลืนมาจากตัวเลขสัดส่วน ทั้งจากที่สัมผัสได้และจากตัวมันเอง) หรือจากเสียงกังวาน (resonance) และเสียงฮาร์โมนิก (ความกลมกลืนมาจากคุณภาพของเสียง) กฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะผสมเข้ากับระดับเสียงที่เข้ากันได้และการประสานเพื่อความสวยงามหรือความเรียบง่ายที่ใกล้เคียงกับคุณสมบัติดังที่ต้องการ วิธีการนี้ช่วยให้โน้ตทบเจ็ดไมเนอร์ (minor 7th) และโน้ตทบเก้าเมเจอร์ (major 9th) ไม่ถูกจัดเป็นเสียงกระด้าง (เป็นเสียงกลมกลืน)

ดนตรีศาสนาของชาวตะวันตกในยุคแรก ๆ มักจะมีการใช้การขนานของขั้นคู่เพอร์เฟคต์ (perfect) โดยขั้นคู่เหล่านี้จะยังคงรักษาไว้ซึ่งความชัดเจนของเพลงร้องแนวเดียว (plainsong) ดั้งเดิมเอาไว้ ผลงานเหล่านี้ถูกสร้างและร้องอยู่ในศาสนสถาน และมีการใช้โหมดต่าง ๆ เพื่อสร้างเสียงประสานตามความเหมาะสมของสถานที่นั้น ๆ ในขณะที่ดนตรีหลากแนวเสียงกำลังพัฒนา การใช้ขั้นคู่ขนานดังที่กล่าวมานี้ก็ถูกแทนที่ด้วยรูปแบบของชาวอังกฤษ นั่นคือการประสานเป็นขั้นคู่สามหรือคู่หก ซึ่งรูปแบบของอังกฤษนี้เป็นที่ยอมรับว่าให้เสียงประสานที่ไพเราะและหวานซึ้งมากกว่า อีกทั้งยังเหมาะสำหรับการเขียนดนตรีหลากแนวมากกว่า เนื่องด้วยความคล่องตัวของตัวโน้ต ดนตรีในช่วงแรกนั้นมีข้อห้ามในการใช้ขั้นคู่สามเสียงหรือทรัยโทน (tritone) เนื่องจากเป็นขั้นคู่เสียงกระด้าง ฉะนั้นคีตกวีส่วนใหญ่ในยุคนั้นจึงต้องใช้เทคนิคที่เรียกว่า "มูสิกา ฟิกตา" (musica ficta) คือการใช้เครื่องหมายแปลงเสียงจรเพื่อหลีกเลี่ยงขั้นคู่นี้ ทว่าในระบบคอร์ดทรัยแอด (triad) หรือคอร์ดที่มีโน้ตสามตัวในยุคใหม่ ทรัยโทนได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ เนื่องมาจากมาตรฐานการใช้เสียงกระด้าง ทำให้มันถูกใช้ในคอร์ดโดมิแนนท์ (dominant) อย่างเป็นที่นิยม

เสียงประสานส่วนใหญ่มักมาจากการที่เสียงมากกว่าหนึ่งเสียงถูกเล่นออกมาพร้อมกัน แต่ในบางครั้ง เสียงประสานก็สามารถถูกประยุกต์ให้บรรเลงออกมาจากแนวทำนองแนวเดียวได้ โดยใช้อาร์เปโจ (arpeggio) หรือฮอคเก็ต (hocket)