เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์
โบสถ์ร่วมเซนต์ปีเตอร์ ณ เวสต์มินสเตอร์
Collegiate Church of Saint Peter at Westminster
มุขฝั่งตะวันตกของมหาวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งดีนส์ยาร์ด,
ลอนดอน, SW1
ประเทศสหราชอาณาจักร
นิกายคริสตจักรอังกฤษ
Churchmanshipไฮเชิร์ช
เว็บไซต์westminster-abbey.org แก้ไขสิ่งนี้ที่วิกิสนเทศ
ประวัติ
ชื่อเดิมอารามเวสต์มินสเตอร์
สถานะโบสถ์คอลเลกิเอท
ก่อตั้ง960; 1064 ปีที่แล้ว (960)
อุทิศแก่นักบุญเปโตร
เสกเมื่อ28 ธันวาคม ค.ศ. 1065,
13 ตุลาคม ค.ศ. 1269
สถาปัตยกรรม
สถานะการใช้งานเปิดให้บริการ
สถาปนิกเซอร์เวเยอร์ออฟเดอะฟับบริก
ประเภทสถาปัตย์โบสถ์
รูปแบบสถาปัตย์สถาปัตยกรรมกอธิก
ปีสร้าง
  • ค.ศ. 960
  • ค.ศ. 1065
  • ศตวรรษที่ 13 (สร้างใหม่ด้วยรูปแบบกอธิก)
  • ค.ศ. 1517 (โบสถ์น้อยเฮนรี่ที่ 7)
  • ค.ศ. 1722 (หอคอย)
โครงสร้าง
เนฟกว้าง85 ฟุต (26 เมตร)[1]
ความสูงอาคาร101 ฟุต (31 เมตร)[1]
พื้นที่ใช้สอย32,000 ตารางฟุต (3,000 ตารางเมตร)[1]
จำนวนหอคอย2
ความสูงหอคอย225 ฟุต (69 เมตร)[1]
การปกครอง
มุขมณฑลนอกเขตปกครอง (อารามหลวง)
นักบวช
เจ้าคณะเดวิด ฮอยล์
Canon(s)ดีนแอนด์แชปเตอร์
ฆราวาส
ผู้อำนวยการเพลงเจมส์ โอดอนเนลล์
(ออร์กานิสต์)

มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์[2] (อังกฤษ: Westminster Abbey) หรือชื่อทางการในอดีตว่า โบสถ์ร่วมนักบุญปีเตอร์ ณ เวสต์มินสเตอร์ (อังกฤษ: Collegiate Church of Saint Peter at Westminster) เป็นโบสถ์มหาวิหารสถาปัตยกรรมกอธิกขนาดใหญ่ในนครเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตั้งอยู่ทางตะวันตกของพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เป็นหนึ่งในศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักดีและสำคัญที่สุดของสหราชอาณาจักร รวมถึงเป็นที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษก และเป็นที่ฝังพระบรมศพของกษัตริย์อังกฤษและพระบรมวงศานุวงศ์

ประวัติ[แก้]

มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 616 ณ ที่ตั้งปัจจุบันที่เดิมเรียกว่าธอร์น อาย (เกาะธอร์น) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ตามตำนานกล่าวว่าคนหาปลาในแม่น้ำเทมส์ชื่ออัลดริชเห็นนักบุญซีโมนเปโตรมาปรากฏตัวใกล้กับที่ตั้งมหาวิหารในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่มหาวิหารได้รับปลาแซลมอนจากคนหาปลาในแม่น้ำเทมส์ต่อมา แต่ตามหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่ากล่าวว่าในคริสต์ทศวรรษ 960 หรือต้นคริสต์ทศวรรษ 970 นักบุญดันสตันร่วมกับพระเจ้าเอ็ดการ์ผู้รักสงบได้ก่อตั้งอารามคณะเบเนดิกตินขึ้นที่นี่ ต่อมาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขีก็สร้างมหาวิหารให้เป็นโบสถ์หินระหว่างปี ค.ศ. 1045 ถึงปี ค.ศ. 1050 เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังของพระองค์ มหาวิหารได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1065[3] เพียงอาทิตย์เดียวก่อนที่จะเสด็จสวรรคตและใช้เป็นที่ฝังพระศพของพระองค์เอง ในปี ค.ศ. 1245 พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ทรงสร้างมหาวิหารใหม่แทนมหาวิหารเดิมและทรงเลือกให้เป็นที่บรรจุพระศพของพระองค์เอง

แผนผังมหาวิหาร ค.ศ. 1894

ภาพของมหาวิหารเดิมที่ในลักษณะที่เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ก็เหลืออยู่เพียงภาพที่ปรากฏอยู่ข้างๆ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์บนผ้าปักบายู มหาวิหารมีรายได้เพิ่มขึ้นจนขยายตัวจากนักพรตราวสิบกว่ารูปขึ้นไปเป็นราวแปดสิบรูป[4]

อธิการของมหาวิหารผู้ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนพำนักอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่หลังจากการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 และต่อมาอีกหลายร้อยปี ก็มักจะได้รับตำแหน่งในพระราชสำนักและในที่สุดก็มีสิทธิได้เป็นสมาชิกในสภาขุนนาง เมื่ออำนาจทางด้านการเป็นผู้นำของคณะถูกย้ายไปอยู่ที่อารามกลูว์นีในฝรั่งเศสในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 10 นักพรตของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็มีโอกาสในการบริหารบริเวณที่ดินต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของซึ่งบางครั้งก็ไกลไปจากเวสต์มินสเตอร์เองมาก “นักพรตคณะเบเนดิกตินดูเหมือนจะปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตอย่างฆราวาสได้เป็นอย่างดี และโดยเฉพาะกับในหมู่ชนชั้นสูง” เป็นคำสรุปของบาร์บารา ฮาร์วีย์ ที่ทำให้เห็นภาพพจน์ของชีวิตประจำวัน[5] ในแง่มุมของชนชั้นผู้ดีในสังคมชั้นสูงสมัยกลางและปลายสมัยกลาง

แต่การที่มีที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ก็มิได้ทำให้นักพรตมีความสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์มากไปกว่าปกติ ในทางสังคมนักพรตของมหาวิหารก็ยังปฏิบัติตัวอย่างสมถะเช่นเดียวกับนักพรตอื่นๆ ในคณะเดียวกันที่อยู่ที่อื่น อธิการมหาวิหารก็ยังคงมีฐานะเป็นผู้เป็นเจ้าของที่ดินของชุมชนราวสองสามพันคนรอบ ๆ มหาวิหาร ในฐานะผู้บริโภคและนายจ้างทางราชสำนักก็ช่วยส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจของเวสต์มินสเตอร์ นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักกับเวสต์มินสเตอร์ก็เป็นความสัมพันธ์อันดี แต่ทางเวสต์มินสเตอร์ก็มิได้รับสิทธิพิเศษในการค้าขายใด ๆ ในยุคกลาง[6] มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์สร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัยทางด้านตะวันตกแต่ก็เริ่มรุกเข้ามาในบริเวณของนักพรต

มหาวิหารกลายเป็นสถานที่ในการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเศกของพระมหากษัตริย์นอร์มันแต่ไม่มีองค์ใดที่ถูกฝังที่นั่นมาจนมาถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ผู้ทรงอุทิศพระองค์แก่ลัทธินิยมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระองค์ทรงสร้างมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใหม่ในแบบสถาปัตยกรรมกอธิคเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี ผู้ได้รับการประกาศเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1161 และเป็นที่สำหรับฝังพระบรมศพของพระองค์เอง งานการก่อสร้างยังคงทำกันต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1245 ถึงปี ค.ศ. 1517 และส่วนใหญ่ทำโดยสถาปนิกเฮนรี เยเวล (Henry Yevele) ในสมัยพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ต่อมาในปี ในปี ค.ศ. 1503 พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ก็ทรงต่อเติมห้องสวดมนต์แบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ (Perpendicular Period) ทางด้านหลังสุดของมหาวิหารที่อุทิศให้แก่พระนางมารีย์พรหมจารี (ที่รู้จักกันว่า “ห้องสวดมนต์พระแม่มารีของพระเจ้าเฮนรีที่ 7”) หินที่ใช้สร้างมหาวิหารมาจากค็อง (Caen) ในฝรั่งเศส และในบริเวณลุ่มแม่น้ำลัวร์


ในปี ค.ศ. 1535 จากการสำรวจทรัพย์สินและรายได้ของโบสถ์ในอังกฤษก่อนการยุบอารามทางการพบว่ารายได้ประจำปีของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เป็นจำนวนประมาณ 2400-2800 ปอนด์ ซี่งเป็นจำนวนที่มากเป็นที่สองรองจากมหาวิหารกลาสตันบรี (Glastonbury Abbey) หลังจากนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ก็ทรงยึดการปกครองจากนักพรตมาทรงปกครองด้วยพระองค์เองในปี ค.ศ. 1539 และทรงยกฐานะมหาวิหารขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1540 และพระราชทานพระราชเอกสารสิทธิ (letters patent) ก่อตั้งให้มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เป็นมุขมณฑลเวสต์มินสเตอร์ การก่อตั้งมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ให้เป็นอาสนวิหารทำให้มหาวิหารรอดจากการถูกทำลายอย่างยับเยินเช่นมหาวิหารอื่น ๆ เกือบทุกมหาวิหารในราชอาณาจักรอังกฤษในยุคเดียวกัน แต่เวสต์มินสเตอร์ก็เป็นอาสนวิหารอยู่ได้เพียงสิบปีจนถึงปี ค.ศ. 1550 วลี “โขมยจากปีเตอร์ไปจ่ายให้พอล” (robbing Peter to pay Paul) อาจจะมีรากมาจากยุคนี้คือเมื่อรายได้ที่ควรจะเป็นของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (ซึ่งเป็นมหาวิหารที่อุทิศให้แก่นักบุญปีเตอร์) ถูกโอนไปให้กับคลังของมหาวิหารเซนต์พอล

สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกได้พระราชทานมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์คืนให้กับนักพรตเบเนดิกติน แต่ก็ถูกยึดคืนโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในปี ค.ศ. 1559 ยี่สิบปีต่อมาในปี ค.ศ. 1579 พระองค์ก็พระราชทานฐานะมหาวิหารให้เป็น “พระอารามหลวง” ซึ่งหมายถึงการเป็นโบสถ์ที่ขึ้นตรงต่อองค์รัฏฐาธิปัตย์แทนที่จะขึ้นอยู่กับมุขนายกเขตมิสซัง และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “คริสตจักรเซนต์ปีเตอร์” (Collegiate Church of St Peter) ซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดจากการเป็นมหาวิหารหรืออารามมาเป็นโบสถ์ที่ปกครองโดยดีน (dean) อธิการองค์สุดท้ายของมหาวิหารได้รับการแต่งตั้งให้เป็นดีนองค์แรก

ในคริสต์ทศวรรษ 1640 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษมหาวิหารได้รับความเสียหายจากกลุ่มเพียวริตันที่พยายามบุกเข้ามาทำลายรูปเคารพต่างๆ แต่ก็ได้รับการปกป้องเพราะความที่อยู่ใกล้กับรัฐบาลเครือจักรภพ เมื่อเจ้าผู้พิทักษ์โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ถึงแก่อสัญกรรมก็ได้รับการทำพิธีฝังศพกันอย่างอย่างใหญ่โตที่มหาวิหารในปี ค.ศ. 1658 แต่ร่างของครอมเวลล์ก็มาถูกขุดขึ้นมาเพียงอีกสามปีต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1661 เพื่อนำมาแขวนคอที่ตะแลงแกงไม่ไกลจากมหาวิหารนัก

ขบวนแห่ขุนนางแห่งบาธหน้ามหาวิหารเวสต์มินสเตอร์โดยคานาเล็ตโต ค.ศ. 1749
แผนผังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ค.ศ. 2008

หอสองหอด้านหน้ามหาวิหารสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1722 ถึงปี ค.ศ. 1745 โดยนิโคลัส ฮอคสมัวร์ (Nicholas Hawksmoor) จากหินพอร์ตแลนด์ และเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค การขยายต่อมาทำในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การควบคุมของเซอร์จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott) ปฏิมณฑลสำหรับด้านหน้าออกแบบโดยเซอร์เอ็ดวิน ลูเต็นส (Edwin Lutyens) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่ไม่ได้สร้าง

จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็เป็นสถานศึกษาลำดับที่สามของอังกฤษรองจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นสถานที่ที่หนึ่งในสามตอนแรกของคัมภีร์ไบเบิลฉบับพระเจ้าเจมส์ (King James Bible) ของพันธสัญญาเดิมและครึ่งหลังของพันธสัญญาใหม่ได้รับการแปล ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มหาวิหารก็เป็นที่รวบรวมคัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับใหม่ (New English Bible) มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยระหว่างการทิ้งระเบิดในลอนดอนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก[แก้]

พระราชบัลลังก์นักบุญเอ็ดเวิร์ด

ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของทั้งพระเจ้าฮาโรลด์ กอดวินสัน และสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษในปี ค.ศ. 1066 แล้วมหาวิหารก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ของอังกฤษและของสหราชอาณาจักรทุกพระองค์ ยกเว้นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้ทรงไม่มีโอกาสเข้าทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก[3] เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 3 ขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงไม่สามารถทำพิธีราชาภิเษกในลอนดอนได้ เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ 8 แห่งฝรั่งเศสทรงยึดลอนดอนอยู่ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงย้ายไปทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มหาวิหารกลอสเตอร์ในกลอสเตอร์เชอร์ แต่พระสันตปาปาทรงเห็นว่าเป็นการไม่ถูกต้อง พระเจ้าเฮนรีที่ 3 จึงทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่สองในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1220[7] เลดี้เจน เกรย์ผู้ครองราชย์เพียงเก้าวันก็มิได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามธรรมเนียมแล้วอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีจะเป็นเคลอริกผู้ทำพิธีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บัลลังก์ที่ใช้ประทับระหว่างพิธีคือพระราชบัลลังก์นักบุญเอ็ดเวิร์ด (St Edward's Chair) ที่เก็บไว้ภายในอาสนวิหารและใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1308 ระหว่าง ค.ศ. 1301 ถึง ค.ศ. 1996 ภายใต้บัลลังก์มีหินแห่งสโคน (Stone of Scone) ซึ่งเดิมเป็นหินที่พระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ทรงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปัจจุบันหินแห่งสโคนถูกนำกลับไปเก็บที่ปราสาทเอดินบะระในสกอตแลนด์จนกว่าจะถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งต่อไป

การบรรจุศพและอนุสรณ์[แก้]

ระเบียงคด

พระเจ้าเฮนรีที่ 3 ทรงสร้างมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพ วัตถุมงคลของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เดิมอยู่ภายในสักการสถานในมหาวิหารแต่ในปัจจุบันย้ายไปอยู่ภายใต้ที่เก็บศพภายใต้พื้นโมเสกคอสมาติหน้าแท่นบูชาเอก ส่วนพระบรมศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 เองก็ถูกบรรจุไว้ในที่บรรจุอันงดงามไม่ไกลนัก เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท และพระญาติพระวงศ์อีกหลายพระองค์ หลังจากการบรรจุพระบรมศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 3 แล้วการบรรจุศพภายในมหาวิหารก็กลายเป็นประเพณีของการบรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระราชินีเกือบทุกพระองค์ต่อมา ยกเว้นบางพระองค์เช่นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ได้รับการบรรจุที่ห้องสวดมนต์เซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์หลังจากรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 2

พระบรมศพหรือพระศพของพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์จะบรรจุไว้ภายในห้องสวดมนต์ต่าง ๆ ภายในมหาวิหาร ส่วนศพของนักบวชและผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ก็จะบรรจุภายในระเบียงฉันนบถและบริเวณอื่นในมหาวิหาร เช่นกวีคนสำคัญของอังกฤษเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ผู้เคยพำนักอยู่ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์และเป็นข้าราชสำนักขณะที่มีชีวิตอยู่ กวีคนอื่นก็ถูกบรรจุไว้ในบริเวณเดียวกันที่เรียกกันว่า “มุมกวี” ที่ได้แก่วิลเลียม เบลค โรเบิร์ต เบิร์นส และวิลเลียม เชกสเปียร์เป็นต้น ต่อมาการบรรจุศพกันในมหาวิหารกลายมาเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตา จึงทำให้เผยแพร่ไปยังการบรรจุศพบุคคลสำคัญจากอาชีพต่าง ๆ เช่นนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ หรือนักการทหารเป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Dimensions of Westminster Abbey" (PDF). westminster-abbey.org. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016. สืบค้นเมื่อ 12 January 2016.
  2. https://www.pptvhd36.com. "ประกาศสำนักพระราชวัง ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3". pptvhd36.com. {{cite web}}: แหล่งข้อมูลอื่นใน |last= (help)
  3. 3.0 3.1 "A Brief History—Introduction to Westminster Abbey". Dean and Chapter of Westminster Abbey. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2008-04-19.
  4. Harvey (1993); p. 2
  5. Harvey (1993)
  6. Harvey (1993); p. 6f
  7. "Henry III, Archonotology.org". สืบค้นเมื่อ 2008-04-21.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์

สมุดภาพ[แก้]