เรนาโต โคโรนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรนาโต โคโรนา
Renato Corona
ประธานศาลสูงสุดแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
17 พฤษภาคม 2553 – 29 พฤษภาคม 2555
แต่งตั้งโดยกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าเรย์นาโต ปูโน
ถัดไปอันโตนิโอ คาร์ปิโอ (รักษาการ)
ตุลาการสมทบในศาลสูงสุดแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
9 เมษายน 2545 – 17 พฤษภาคม 2553
แต่งตั้งโดยกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าอาร์ตูโร บูเอนา
ถัดไปมาเรีย เลาวร์เดส เซเรโน
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งฟิลิปปินส์
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม 2544 – 9 เมษายน 2545
ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย
ก่อนหน้าอาโปรดิกิโอ ลาเควียน
ถัดไปริโกเบอร์โต ทิกลาโอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 ตุลาคม 2491 (75 ปี 166 วัน)
ทานาอวน ฟิลิปปินส์
คู่สมรสคริสตินา รอโก
ศิษย์เก่า

เรนาโต ซี. โคโรนา (Renato C. Corona; 15 ตุลาคม 2491 – ) เป็นประธานศาลสูงสุดคนที่ยี่สิบสามแห่งฟิลิปปินส์ เดิมกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ประธานาธิบดี ตั้งให้เป็นตุลาการสมทบในศาลสูงสุดตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2545 ต่อมาเมื่อเรย์นาโต ปูโน (Reynato Puno) พ้นจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด เขาจึงได้เลื่อนสู่ตำแหน่งนั้นตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553

โคโรนานั้นเดิมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ นักกฎหมายเอกชน และรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของฟิเดล วี. รามอส กับของกลอเรีย อาร์โรโย ก่อนได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ศาลสูง

ครั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2554 เขาถูกสภาผู้แทนราษฎรร้องขับจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด[1] ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 วุฒิสภาชี้ขาดว่า เขามีความผิดฐานไม่แถลงทรัพย์สิน หนี้สิน และมูลค่าสุทธิ ตามความในข้อ 2 แห่งคำร้องขับออกจากตำแหน่ง[2]

ภูมิหลัง[แก้]

โคโรนาเกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2491 ณ อำเภอทานาอวน จังหวัดบาทังกัส ประเทศฟิลิปปินส์ สมรสกับคริสตินา โคโรนา (Christina Corona) หรือชื่อสกุลเดิมว่า รอโก (Roco) มีบุตรด้วยกันสามคน และมีหลานอีกหกคน[3]

การศึกษา[แก้]

คุณวุฒิ[แก้]

ในปี 2513 โคโรนาสำเร็จเป็นศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลา (Ateneo de Manila University) ครั้งเป็นนักศึกษา เขาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นักศึกษาเรียก เดอะกีด็อน (The GUIDON) ด้วย ต่อมาในปี 2517 จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตเนโอ (Ateneo Law School) และสอบเนติบัณฑิตผ่าน ได้คะแนนร้อยละ 84.6 นับเป็นที่ยี่สิบห้าจากผู้สอบทั้งหมดหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบห้าคน[3]

ลุปี 2524 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Law School) ตกลงรับเขาเข้าศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต และเขาสำเร็จการศึกษาได้ปริญญานั้นในปีถัดมา ต่อมา จึงสำเร็จเป็นนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยซันโตโทมัส (University of Santo Tomas) และได้รับเลือกเป็นตัวแทนเพื่อนร่วมห้องกล่าวคำอำลาในพิธีประสาทปริญญาบัตรด้วย[3]

ข้อโต้เถียงเรื่องปริญญาดุษฎีบัณฑิต[แก้]

วันที่ 22 ธันวาคม 2554 มาริเตส วีทัก (Marites Vitug) นักข่าวออนไลน์ประจำเว็บไซต์แร็ปเปลอร์.คอม (Rappler.com) ลงบทความอ้างว่า มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส "คงแหกระเบียบตัวเองเสียแล้ว" ในการที่ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขากฎหมายแพ่งให้แก่โคโรนา ทั้งยังได้อนุมัติคุณวุฒิต่าง ๆ ให้แก่เขาด้วย วีทักว่า โคโรนาไม่ได้ส่งวาทนิพนธ์สำหรับสำเร็จการศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตของเขาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้เป็นระเบียบสำหรับคนทั้งปวงที่ประสงค์จะได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต เธอยังว่า โคโรนาเรียนนานเกินอนุญาต เพราะมหาวิทยาลัยกำหนดว่า ผู้ศึกษาชั้นดุษฎีบัณฑิตต้องสำเร็จการศึกษาภายในห้าปีแต่ไม่เกินเจ็ดปีเป็นอย่างสูง แต่ตามที่โคโรนาให้สัมภาษณ์ไว้เองปรากฏว่า เขาเริ่มทำงานส่งอาจารย์ในชั้นดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี 2543 หรือ 2544 ทว่า มาจบการศึกษาเอาในเดือนเมษายน 2554 ทั้งยังได้เป็นหนึ่งในบัณฑิตหกคนที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดในพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบสี่ร้อยปีของมหาวิทยาลัยด้วย[4][5]

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซันโตโทมัส ออกแถลงการณ์บอกปัดว่ามิได้ละเมิดระเบียบตนเองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่โคโรนา โดยเสริมว่า โคโรนาได้ลงทะเบียนเรียนวิชาบังคับทั้งปวงเพื่อสำเร็จเป็นดุษฎีบัณฑิต ได้เข้าเรียนและผ่านวิชาทั้งนั้น และได้ส่ง "ศาสตรนิพนธ์ทางการศึกษา" เป็นวาทนิพนธ์ในระหว่างบรรยายรวมแล้ว มหาวิทยาลัยยังว่า นับแต่คณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศให้มหาวิทยาลัยเป็น "สถาบันอุดมศึกษาที่ปกครองตนเอง" สืบมา มหาวิทยาลัยย่อมมีเสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบันในอันที่จะวางมาตรฐานคุณลักษณะและความเป็นเลิศของตนเอง และกำหนดเองว่าจะประสาทปริญญาใดให้แก่ผู้ใดตามสมควร มหาวิทยาลัยกล่าวด้วยว่า ประเด็นระยะเวลาการเป็นนักศึกษาของโคโรนากับประเด็นเรื่องเกียรติยศที่เขาได้รับนั้นเป็นแต่เรื่องมโนสาเร่ เพราะเรื่องเหล่านี้ย่อมเป็น "เสรีภาพทางการศึกษาประจำสถาบัน" ของมหาวิทยาลัย[6] ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยซันโตโทมัสก็อ้างว่า วีทักผิดใจกับโคโรนาและศาลสูงสุดอยู่ จึงสงสัยว่า เธอเขียนบทความเพื่อวัตถุประสงค์อันใด[7]

ฝ่ายวีทักนั้น เมื่อมีผู้ขอให้วิจารณ์แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัย ก็ตอบว่า ในแถลงการณ์นั้น มหาวิทยาลัย "บอกอยู่เป็นพื้นแล้วว่า เรามีระเบียบ แต่เราจะฝืนมันก็ได้โดยเอาเสรีภาพทางการศึกษาและอำนาจในการปกครองตนเองเข้าอ้าง"[8] เธอยังเขียนหนังสือชื่อ แชโดว์ออฟเดาบต์: โพรบิงเดอะสุพรีมคอร์ต (Shadow of Doubt: Probing the Supreme Court) ตอนหนึ่งว่า ที่โคโรนาอ้างว่าได้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอาเตเนโอเดมะนิลาพร้อมด้วยเกียรติยศต่าง ๆ นั้น ไม่มีบันทึกไว้ในบรรณสารของมหาวิทยาลัยแต่ประการใด[5]

ตำแหน่งประธานศาลสูงสุด[แก้]

การเข้าสู่ตำแหน่ง[แก้]

วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 อันเป็นวันที่สองหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป และเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนกลอเรีย อาร์โรโย พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี นางได้ตั้งโคโรนาเป็นประธานศาลสูงสุดคนที่ยี่สิบสาม หลังจากเรย์นาโต ปูโน ประธานศาลคนก่อน เกษียณอายุราชการไป

การถูกร้องขับจากตำแหน่ง[แก้]

วันที่ 12 ธันวาคม 2554 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบคนเข้าชื่อในคำร้องขับโคโรนาจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด[1] เมื่อพิจารณาแล้วว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสมาชิกเข้าชื่อไม่ต่ำกว่าเก้าสิบห้าคนขึ้นไป ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งคำร้องนั้นให้วุฒิสภาพิจารณา[9][10]

คำร้องนั้นว่า คดีทั้งหลายอันว่าด้วยการบริหารราชการของกลอเรีย อาร์โรโยนั้น โคโรนาได้ชี้ขาดตัดสินอย่างไม่เป็นกลางโดยต่อเนื่องสืบ ๆ มา อนึ่ง โคโรนายังมิได้แถลงทรัพย์สินตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดด้วย โคโรนาแก้ว่า ทรัพย์สินจำนวนสองล้านสี่แสนดอลลาร์สหรัฐของเขานั้นหาจำต้องเปิดเผยไม่ เพราะรัฐธรรมนูญว่า เงินตราต่างประเทศซึ่งฝากอยู่นั้นไม่ต้องรายงาน ส่วนทรัพย์สินจำนวนที่เหลือซึ่งเป็นเงินเปโซนั้นเป็นของญาติ เขายังว่า ที่เป็นความขึ้นมาครั้งนี้ล้วนแต่ถูกแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอันเนื่องมาจากการที่เบนิกโน อากีโนที่ 3 รณรงค์ต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง[11]

ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 วุฒิสภาพิจารณาเป็นสัตย์แล้วเห็นว่า โคโรนามีความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้แถลงทรัพย์สิน หนี้สิน และมูลค่าสุทธิต่อสาธารณชน ตามความในข้อ 2 แห่งคำร้องของสภาผู้แทนราษฎร[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Chief Justice Corona impeached". ABS-CBN News. 2011-12-11.
  2. 2.0 2.1 "Senate votes 20-3 to convict Corona". Inquirer.net. 2012-5-29. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "The Chief Justice". Supreme Court of the Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-20. สืบค้นเมื่อ 30 May 2012.
  4. "UST breaks rules to favor Corona". Rappler.com. 2011-12-11. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  5. 5.0 5.1 "UST: Corona's lecture enough for PhD". Rappler.com. 2012-1-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-08. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  6. "UST: CJ Corona earned Ph.D". Inquirer.net. 2012-1-12. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  7. "UST faculty affirms: Corona earned summa honors". GMA News Online. 2012-1-3. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  8. "UST denies favoring Corona in doctoral program". GMA News Online. 2012-1-2. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. "House majority oks impeach case vs Corona for Senate trial". GMA News. 2011-12-11.
  10. "Chief Justice Corona impeached". ABS-CBN News. 2011-12-11.
  11. "Philippine senate convicts top judge". Aljazeera. May 29, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]