เบโน กูเทนเบิร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เบโน กูเทนเบิร์ก (อังกฤษ: Beno Gutenberg) เป็นนักวิทยาแผ่นดินไหวชาวอเมริกัน มีชื่อเสียงจากการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหว และข้อมูลที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพของผิวโลกภายนอก เกิดเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) ในประเทศเยอรมนี และเสียชีวิตเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) ในลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

กูเทนเบิร์กทำงานเป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ และเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิทยาแผ่นดินไหว ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย เมืองพาซาเดนา ตั้งแต่ปี ค.ศ 1930 – 1957 เขาได้ทำงานร่วมกับชาลส์ ริคเตอร์ (Charles Richter) เพื่อพัฒนาวิธีการพิจารณาความเข้มของแผ่นดินไหว จากการคำนวณพลังงานที่ปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหวระดับตื้นในปัจจุบัน พวกเขาก็แสดงว่า ¾ ของพลังงานนั้นปรากฏในรอยต่อเซอร์คัม แฟซิฟิก (Circum-Pacific belt)

กูเทนเบิร์กเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เช่น Earthquarkes in North America, 1951 (แผ่นดินไหวในทวีปอเมริกาเหนือ) และได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ Internal Constitution of the Earth, 1939 (องค์ประกอบภายในของโลก) และแต่งหนังสือร่วมกับริคเตอร์ เรื่อง The Seismicity of the Earth, 1941 (สภาพแผ่นดินไหวของโลก)

แม้ว่าจะร่วมงานกับชาลส์ ริคเตอร์ แต่ชื่อเสียงของกูเทนเบิร์กไม่สู้จะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายนัก