เซลล์เกลีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซลล์เกลีย
Glia
ภาพแสดงเซลล์เกลียทั้งสี่ชนิดที่พบในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ เซลล์อีเพนไดมอล (ชมพูอ่อน), แอสโทรไซต์ (เขียว), เซลล์ไมโครเกลีย (แดงเข้ม), และโอลิโกเดนโดรไซต์ (น้ำเงินอ่อน)
รายละเอียด
คัพภกรรมแมกโครเกลีย มาจากนิวโรเอ็กโทเดิร์ม และไมโครเกลีย มาจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
ระบบระบบประสาท
ตัวระบุ
MeSHD009457
TA98A14.0.00.005
THH2.00.06.2.00001
FMA54536 54541, 54536
ศัพท์ทางกายวิภาคของจุลกายวิภาคศาสตร์

เซลล์เกลีย (อังกฤษ: glial cell) หรือ นิวโรเกลีย (อังกฤษ: neuroglia) หรือ เกลีย (อังกฤษ: glia) เป็นเซลล์ที่ไม่ใช่เซลล์ประสาทซึ่งทำหน้าที่หลากหลายในระบบประสาท เช่น ช่วยเกื้อหนุนค้ำจุนเซลล์ประสาท เป็นแหล่งอาหาร รักษาภาวะธำรงดุล (homeostasis) สร้างเยื่อไมอีลินห่อหุ้มแอกซอน และการถ่ายทอดสัญญาณ เป็นต้น จำนวนเซลล์เกลียมีมากกว่าจำนวนเซลล์ประสาทถึง 10 เท่าตัว

ชนิดของเซลล์เกลีย[แก้]

ไมโครเกลีย[แก้]

ไมโครเกลีย (microglia) เป็นเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage) ชนิดพิเศษที่สามารถเกิดกระบวนการการกลืนกินของเซลล์ (phagocytosis) ได้ เชื่อว่าไมโครเกลียนี้เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดในระบบเลือดมากกว่าเกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดในชั้นเอ็กโทเดิร์ม (ectoderm) แต่ที่ไมโครเกลียถูกจัดอยู่ในเซลล์ระบบประสาทเนื่องจากช่วยเหลือการทำงานของเซลล์ประสาท จำนวนไมโครเกลียในระบบประสาทส่วนกลางมีประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนเซลล์ทั้งหมด สามารถพบเซลล์ชนิดนี้ได้ในสมองและไขสันหลังทุกบริเวณ หากเนื้อเยื่อดังกล่าวถูกทำลายไมโครเกลียก็จะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นและเคลื่อนที่ไปยังบริเวณดังกล่าว

แอสโทรไซต์[แก้]

แอสโทรไซต์ (astrocyte) หรือ แอสโทรเกลีย (astroglia) เป็นเซลล์เกลียที่มีจำนวนมากที่สุด แอสโทรไซต์ช่วยควบคุมปริมาณสารเคมีต่างๆ ที่อยู่รอบเซลล์ประสาท เช่น กำจัดโพแทสเซียมไอออนที่มีอยู่มากในสารละลายภายนอกเซลล์ ตลอดทั้งช่วยดูดกลับสารสื่อประสาทที่ถูกหลั่งในระหว่างการส่งสัญญาณประสาทผ่านไซแนปส์ แอสโทรไซต์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดโปรโตพลาสมิค และชนิดไฟบรัส ทั้งสองชนิดมีการทำงานที่คล้ายคลึงกันแต่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาและตำแหน่งที่พบเซลล์เหล่านี้ที่แตกต่างกัน แอสโทรไซต์ชนิดโปรโตพลาสมิคมีเส้นใยที่มีขนาดหนา สั้น แต่มีกิ่งก้านเยอะ พบเซลล์ประเภทนี้ได้มากที่ชั้นเนื้อเทา (gray matter) สำหรับแอสโทรไซต์ชนิดไฟบรัสนั้นมีเส้นใยที่เรียวยาว และมีการแตกกิ่งค่อนข้างน้อย พบเซลล์ประเภทนี้ได้มากที่เนื้อขาว (white matter)

โอลิโกเดนโดรไซต์[แก้]

โอลิโกเดนโดรไซต์ (oligodendrocyte) เป็นเซลล์ที่สร้างเยื่อไมอีลิน (myelin sheath) ห่อหุ้มแอกซอนที่อยู่ในระบบประสาทกลาง เยื่อไมอีลินนี้เป็นส่วนเยื่อหุ้มเซลล์ของโอลิโกเดนโดรไซต์ที่ไปล้อมรอบแอกซอนทำให้เกิดเป็นฉนวนไฟฟ้าเป็นผลให้การส่งสัญญาณประสาทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เซลล์อีเพนไดมอล[แก้]

เซลล์อีเพนไดมาอล (ependymal cell) หรือ อีเพนไดโมไซต์ (ependymocyte)เป็นเซลล์ค้ำจุนหรือเซลล์เกลียชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาท โดยพบเป็นเยื่อบุที่โพรงสมองและโพรงของไขสันหลัง

เรเดียลเกลีย[แก้]

เรเดียลเกลียที่อยู่ในสมองส่วนสมองน้อย (cerebellum) เรียกว่า เบอร์กแมนเกลีย (Bergmann glia) ซึ่งมีส่วนในกระบวนการไซแนปติกพลาสติซิตี้ ในดวงตาชั้นเรตินาเรียกเซลล์นี้ว่า เซลล์มูลเลอร์ (Müller cell)

เซลล์ชวานน์[แก้]

เซลล์ชวานน์ (Schwann cell) เป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้าง myelin sheath ห่อหุ้ม axon อีกเซลล์หนึ่ง แต่จะพบใน Peripheral nervous system หรือ ระบบประสาทส่วนปลาย นอกจากนี้ยังสามารถเกิดการกลืนกินของเซลล์ ช่วยในการจัดเก็บองค์ประกอบของเซลล์ที่เสียแล้วซึ่งจำเป็นในการเจริญของเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนปลาย

เซลล์แซทเทลไลท์[แก้]

เซลล์แซทเทลไลท์ (Satellite cell) เป็นเซลล์ขนาดเล็กที่เกาะอยู่ที่ผิวของเซลล์ประสาทในระบบประสาทส่วนปลายซึ่งทำหน้าที่ช่วยปรับสภาพองค์ประกอบทางเคมีภายนอกเซลล์

อ้างอิง[แก้]