เชียงลาบ

พิกัด: 20°52′N 100°32′E / 20.867°N 100.533°E / 20.867; 100.533
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมืองเชียงลาบ (พม่า: ကျိုင်းလပ်; ไทใหญ่: ၵဵင်းလၢပ်ႈ; ไทลื้อ: ᨩ᩠ᨿᨦᩃᩣ᩠ᨷ ) หรือ "เวียงแคว้นสา" เป็นเมืองเก่าแก่ของชาวไทลื้อบางครั้งจะเรียกชื่อเมืองโขง หรือ เมืองโขงโค้ง หรือ เวียงแคว้นสา ตั้งอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศพม่า ตรงข้ามกับบ้านเชียงกก เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว และตั้งอยู่ครึ่งทางระหว่างหิรัญเงินยางนคร (เมืองเชียงแสน) ประเทศไทย และเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ตัวเมืองตั้งอยู่ตรงแหลมเชียงลาบ มีเจ้าผู้ครองเมืองตามนามเมืองว่า "เจ้าหลวงเชียงลาบ" ปฐมผู้สร้างเมืองคือ พญาเจิงหาญ หรือ ขุนเจือง หรือ สมเด็จพระเจ้าเจืองฟ้าธรรมิกราชสมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 1 วีรบุรุษในตำนานของชนชาติไตย ตลอดลุ่มแม่น้ำโขง แห่งราชวงค์อาฬโวสวนตาน

เชียงลาบซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลเชี่ยวที่สุด หรือที่เรียกว่า "โขงโค้ง" เป็นแนวบริเวณที่อันตรายที่สุดในการเดินเรือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงไหลลงมาตรงแล้วกระทบกับโขดหินและไหลย้อยกลับขึ้นไปข้างบน จึงทำให้แม่น้ำโขงในบริเวณนี้ไหลแรงและเชี่ยวที่สุดและต้องใช้ความชำนาญสูงในการเดินเรือสินค้า หากมองด้านจุดยุทธศาสตร์การเมือง การคมนาคม และการค้าขายในอดีต เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา หากต้องเดินทางเดินทางจากเชียงแสนไปเชียงรุ่ง ต้องหยุดพักตรงนี้ เมื่อมีการหยุดพักแล้วจึงมีคารวานต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนสินค้าในบริเวณดังกล่าว จึงทำให้เชียงลาบกลายเป็นเมืองหน้าด่านสู่ประตูสู่เชียงรุ่งโดยปริยาย

บริเวณเมืองเมืองตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ไหลย้อนขึ้นและไหลลง ชาวเมืองเรียกบริเวณนี้ว่า "โขงโค้ง" ทางตอนกลางของเมืองมีแม่น้ำลาบ ไหลผ่านลงไปแม่น้ำโขง หากนั่งเรือจากเชียงแสนขึ้นไปราว 82 กม. ตลอดฝั่งลำน้ำโขงบริเวณเมืองเชียงลาบจะพบหินมหัศจรรย์ ซึ่งเป็นหิน 7 สีตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในแม่น้ำโขงที่เมืองเชียงลาบ และถือว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์

เมืองเชียงลาบ ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารทางด้านประวัติศาสตร์ และพงศาวดาร มากมาย หลายฉบับ บ้างก็กล่าวชื่อเมืองว่า เชียงราบ เชียงลับ เมืองลับ เมืองลาบ เมืองราบ เก็งลับ เชียงแขง ยองห้วย เป็นต้น ซึ่งในแต่ละยุคแต่ละสมัยการการเรียกชื่อเมืองแตกต่างกันไป เช่น ครั้งหนึ่งเชียงลาบได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเชียงแขง ก็มีการเรียกชื่อเมืองรวมกัน แต่แท้ที่จริง แล้วเป็นคนละเมือง ซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำโขง บางยุคถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวยใต้ หรือเมืองยู้ ก็ปรากฏอาณาเขตของเมืองดังกล่าวรวมเชียงลาบไว้ด้วย

หากมองในประวัติศาสตร์ของสยาม นั้นเชียงลาบ ไม่ค่อยคุ้นหู แต่หากพูดถึงเชียงแขง นั้นอาจจะคุ้น เพราะ สมัยเจ้ามหาขนาดดวงแสง นั้นได้ครอบครองดินแดนเมืองเชียงแขง ซึ่งรวมถึงเมืองเชียงลาบด้วย

ตำนานเมืองว่าด้วยพญามังรายตามกวางคำ[แก้]

พญามังรายไปเห็นยังบ้านเมืองลวะทั้งหลายก่อนแล ท่านไปทางดอยจอมตุงค์นั้นในปีดับเม็ดศักราชได้ ๖๒๓ ตัวท้าวมังรายเจ้าก็เอาหมู่รี้พลไปถึงเหล่าที่หนึ่ง ก็เห็นยังกวางคำตัวหนึ่ง มันเต้นออกมาหาท้าวมังรายเจ้าก็เอาหมู่ไล่ก็บ่เขิ๊ด กวางตัวนั้นก็แล่นขึ้นไปภายหนเหนือ ท้าวมังรายก็ไล่ตามไปถึงดอยแห่งหนึ่งสุมกันอยู่ดั่งหัวคนนั้น จึงเรียกว่าดอยจอมหงส์ ท้าวมังรายเจ้าอยู่ที่นั้นก็ผ่อดูก็เห็นยังเมืองเขิน คือว่าภูมิที่นี้เป็นอันชุ่มเย็นมีร่มไม้อันกว้างขวางเขียวงาม ก็ชวนลวะทั้งหลายอยู่ แลเขินเสียน้อยหนึ่ง ยังพอสร้างบ้านแปงเมืองให้เป็นลูกช้างหางเมืองควรแท้แล ก็ให้เพื่อนต้องรูปเป็นพรานแบกหอกจูงหมาพาไถ้ไว้ปลายดอยลูกนั้น ไว้ให้เป็นสักขีโบราณ ไว้ ต่อเท่ากาลบัดนี้แล ท้าวมังรายเจ้าก็หนีเสียจากที่นั้นก็ติดไต่ไล่ตามรอยกวางคำ แต่ดอยลูกนั้นไปก็ไปแผ้วสันดอยแห่งหนึ่งเป็นป่าไม้รวกเขาก็ตัดเอาไม้รวกแปงเป็นคันหอกแล้ว เขาก็เรียกว่าบ้านรวกแต่นั้นมาแล ก็หนีจากที่นั้นไต่ตามรอยกวางไปถึงที่อีกแห่งหนึ่ง คันหอกเขา ยาวก็ไปค้างเคิงเสียไปบ่ได้ คนทั้งหลายก็เรียกว่าบ้านเคิงแต่นั้นมาแล กวางตัวนั้นก็ไต่ไปตามสันดอยลูกนั้น ก็ไปเกลือกอยู่มวกผาแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายเห็นแล้ว เขาก็ไปเกิดทางภายหน้ากวางตัวนั้นก็แล่นไปทางตะวันออก เขาก็ไล่ไปกวางตัวนั้นก็เต้นหกงอบตกห้วยแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายก็เรียกว่ากวางงอบดั่งนั้นแล ภายหน้าคนจักมาสร้างให้เป็นบ้านเป็นเมืองแล้วจักแผ่ชื่อไปว่าเมืองงอบนั้นแล

กวางตัวนั้นก็พลิกไป ทางตะวันตก เขาก็ไล่ไปคนทั้งหลายก็เรียกว่าห้วยไล่กวางสืบมา ภายหน้าต่อไปคนทั้งหลายจักมาสร้างให้เป็นบ้านเป็นเมืองแล้ว ก็จักเรียกว่าเมืองไล่แล ครั้งนั้นท้าวมังรายเจ้าป่าวให้คนทั้งหลายแปงขวากหลาวไปปักไว้ภายหน้านั้นดีแล้ว คนก็แหลมขวากหลาวไปปักไว้แท้ กวางตัวนั้นก็ขึ้นไปในห้วยอันนั้นแท้ ก็บ่ถูกยังขวากหลาวแต่สักอันแล ห้วยอันนั้นคนทั้งหลายจึ่งเรียกว่าห้วยล่วงทวงหลาวแต่นั้นมาแล

ถึงวันลุนรุ่งเช้าก็ตามรอยกวางคำตัวนั้น ขึ้นไปตามปลายดอยแล้วผ่อเห็นเมือง กวางตัวนั้นมันก็ไปทนดอยอยู่ ฝ่ายท้าวมังรายท่านก็ตามไปก็ค่ำเสียใน ที่นั้น ก็พากันนอนอยู่ณที่นั้นคนทั้งหลายจึ่งเรียกที่นั้นว่าดอยบ้านค่ำแต่ นั้นมาแล

ครั้นรุ่งแจ้งแล้วท้าวมังรายเจ้าก็เอาหมู่บริวารทั้งหลายไล่ตามกวางคำตัวนั้นไปตามสันดอยลงแผ้วเมือง ท้าวมังรายก็ไล่ตามไปถึงตีนดอยลูกนั้น คนทั้งหลายจึ่งเรียกว่าตีนรอยไล่แต่นั้นมาแล กวางคำตัว นั้นก็ตกแผวลงเมืองแล้ว ก็เลาะตีนดอยคืนมาทางหนใต้ ท้าวมังราย เจ้าก็พาหมู่บริวารไล่ตามไป ก็มาถึงที่แห่งหนึ่งเป็นป่ามะขามป้อมขามแคงมีมากนัก ท่านก็ว่าเรายั้งกินหมากส้มเสียก่อนเทอญ พอให้หายอิดเหนื่อยก่อน ว่าดั่งนั้นแล้ว ที่อันนั้นคนทั้งหลายจึ่งได้เรียกว่าบ้านขามแต่นั้นมาแล ครั้นกินส้มแล้วก็พากันไล่ตามรอยกวางไปหนใต้ ก็ไปถึงห้วยน้อยแห่งหนึ่ง ท้าวมังรายเจ้าก็ว่ากวางคำลงมาถึงห้วยนี้แล คนทั้งหลาย ๑ ทะลวง ๒ แอบจึ่งเรียกห้วยนั้นว่าห้วยหัวลัง ครั้นต่อมาภายหลังคนเรียกว่าเมืองลังแต่นั้นมาแล กวางตัวนั้นก็ไต่ตามตีนดอยลูกนั้นมาถึงน้ำแม่น้อยแห่งหนึ่งกวางก็ขึ้นไปถึงถ้ำเงื้อมผาแห่งหนึ่ง แล้วก็เข้าไปหายเสียในถ้ำที่นั้นแล กวางคำตัวนั้นบ่ใช่ว่าเป็นกวางเถื่อนแท้ หากเป็นเทพยดาอันรักษาบ้านเมืองที่นั้น หากเนรมิตเป็นเหตุให้ท้าวมังรายเจ้าได้เห็นนั้นแล ส่วนว่าท้าวมังรายเจ้าก็พาหมู่บริวาร ไล่ตามรอยตีนกวางคำตัวนั้นไปก็ไปหายเสียในถ้ำที่นั้น ฝ่ายท้าวมังรายเจ้าก็หวังว่าจักได้ลาบได้แกงกิน ก็พลอยบ่ได้ลาบได้แกงกินตามความคิดเดิมดั่งนั้น รู้ว่าจักมาหายเสียในถ้ำที่นี้แท้บ่ไล่ติดตามก็จะดีกว่านี้พลอยมาหายเสียริมแม่น้ำอันไหลล่องมาตามหลงนี้ คน ทั้งหลายจึ่งเรียกแม่น้ำนั้นว่า แม่น้ำลาบ'เมืองลับ'แต่นั้นมาแล ถ้ำอันนั้นก็ได้ชื่อว่าถ้ำกวางคำหัวลับแต่นั้นมาแลส่วนท้าวมังรายเจ้าก็พาหมู่บริวารไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นยางอันน้อยหนึ่ง จึ่งว่าเราทั้งหลายควรล้างหอก ดาบสีนาดเสียในที่นี้ว่าดั่งนั้นแล้ว ที่อันนั้นจึงเรียกว่ายางขาแต่นั้นมาแล ครั้นถึงวันรุ่งเช้าก็ไปถึงห้วยแห่งหนึ่ง ท้าวมังรายเจ้าก็ป่าวว่าเราทั้งหลายพร้อมกันยั้งพักให้หายอิดเหนื่อยก่อนดีแล้ว ที่อันนั้นคนทั้งหลายก็มาตั้งบ้านแปงเมืองอยู่ในที่นั้น ครั้นต่อมาที่อันนั้นก็เรียกว่าเมืองพักแต่นั้นมาแล มังรายเจ้าก็ถกเอาหมู่รี้พลคืนมาหาบ้านหาเมืองแห่งตนนั้นแล ในกาลนั้นท้าวมังรายเจ้าก็ให้หาอุตรพราหมณ์ผู้จบเพทให้เอาเพศเป็นพ่อค้าแล้วให้ไปเลียบดูขบวนเมืองอันชุ่มเย็นนั้นยังจักรุ่งเรืองไปภายหน้าฉันใด

เมืองลับ ก็คือเมืองเชียงลาบ นั้นเอง

ประวัติศาสตร์[แก้]

เมืองเชียงลาบ เป็นหัวเมืองไทลื้อ เมืองหนึ่งของสิบสองปันนา ก่อตั้งโดยพญาเจื่องฟ้าธรรมิกราช หรือ ขุนเจื่อง หรือ พญาเจื่อง หรือ สมเด็จพระเจ้าหอคำเชียงรุ่งที่ 1 แห่งราชวงค์อาฬาโวสวนตาน มูลเหตุการตั้งเมืองนั้นภายหลังพญาเจืองได้ขยายอณาเขตแผ่นดินไทลื้อได้กว้างขวางถึงสิบสองปันนาทั้งหมด รวมถึง หนองแส (ภาษาลื้ออ่านว่า หนองเส) ล้านนา ล้านช้าง และเมืองแถน เดียนเบียนฟู (เวียดนามเหนือ) เนื่องจากแผ่นดินสิบสองปันนา เมืองไทลื้อนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก

เมืองเชียงลาบนั้นพญาเจืองธรรมิกราช ชัยภูมิที่เหมาะสม อีกทั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างหิรัญเงินยางนคร และเชียงรุ่ง ซึ่งหากเกิดข้าศึกรุกรานเชียงรุ่ง ตรงจุดนี้ซึ่งเป็นจุดโขงโค้ง แม่น้ำโขงไหลเชี่ยวที่สุด ประกอบกับและเป็นจุดที่ยากลำบากที่สุดในการคมนาคม หากมีข้าศึกรุกรานจะทำให้ข้าศึกเหนื่อยล้า และสามารถสะกัดกั้นไม่ให้ข้าศึกไปตีเมืองหลวงเชียงรุ่งได้ ดังนั้นจึงได้โปรดให้บริวาร เสนาอามาตย์ สมณะ ครูบาสังฆเจ้า ไพร่พล เดินทางลงเรือ ตามลำน้ำของ เรียกกันว่า "ล่องของ" มาขึ้นฝั่งตรงสบลาบ และสร้างเวียงใหม่ขึ้น นามว่า "เวียงลาบ" หรือ เชียงลาบ

เมืองเชียงลาบเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ที่ลาดเชิงเขา ตัวเมือง ติดแม่น้ำโขง และเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ ฉะนั้นรายได้หลักของเมืองคือ การเก็บภาษี อากร ส่วย ข่อน ที่เกิดจากพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายระหว่างเชียงแสน และเชียงรุ่ง อีกทั้งด้านทิศตะวันตกของเมืองเป็นภูเขาสูงซึ่งอุดมไปด้วยป่าไม้สัก และ น้ำผึ้ง และของป่าอื่น ๆ อีกทั้งด้านทิศเหนือซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองลวงซึ่งเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาร์ ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าสำคัญที่พวกพ่อค้าชาวจีนฮ่อ และไทใหญ่ นำลงมาขายให้กับเชียงแสน ปัจจุบันเมืองเชียงลาบก็ยังเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ซึ่งตรงข้ามกับท่าเชียงกกของลาว ในการเดินทางไปติดต่อค้าขายในสิบสองปันนา

หลังสิ้นยุคของพญาเจิงหาญ หรือ ขุนเจือง พญายอง เจ้าเมืองยอง ได้ถือโอกาสยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงลาบ และสามารถยึดเมืองได้ ดังนั้นเชียงลาบจึงเป็นเมืองขึ้นของเมืองยองมาตั้งแต่ต้น ภายหลังเมืองยองขาดเจ้าเมืองปกครอง และถูกเจ้าเมืองเชียงรุ่งร่วมกับทัพเมืองเชียงลาบยกทัพมาตีเมืองคืน และได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองยอง สุดท้ายเมืองยองจึงเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงรุ่ง และเมืองเชียงลาบ

พอถึงสมัยต่อมาพญามังรายครองเมืองโยนก ก็ยกทัพไปตีทางด้านเมืองเชียงของ ลำพูน (อาณาเขตรวมเชียงใหม่ในปัจจุบันด้วย) เชียงตุง และตีได้รุกรานไปในเขตเชียงรุ่งด้วยอีกส่วนหนึ่ง (ตามหมิงสือลู่ของจีน) ดังนั้นบริเวณเมืองยองส่วนที่เป็นเมืองไร เชียงลาบ พยาก พะแลว จึงถูกรวมเข้าในอาณาจักรโยนกของพญามังรายด้วย ต่อมาเมื่อพญามังรายไปตั้งกุมกาม และเชียงใหม่ ก็ให้พญาแสนพูไปอยู่เชียงแสน ปรากฏชื่อเมืองเชียงลาบว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงแสนในสมัยพญาแสนพูนี้เอง (ดูในจารึกวัดป่าสักที่ถูกถ่ายออกมาเป็นเรื่องเล่าในพื้นเมืองเชียงแสน) หลังจากนั้นมาเมืองเชียงลาบก็รวมอยู่กับเมืองเชียงแสนตลอด

ปี พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ส่วนหัวเมืองสิบสองปันนาตอนล่างนั้นพม่าสั่งให้เจ้าเมืองเชียงแขงรวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ซึ่งอยู่แถบชายแดนจีนทางสิบสองปันนาเข้าพม่า ได้แก่เมืองยอง เชียงลาบ บ้านยู้ เมืองหลวงตลอดจนถึงเมืองอูในลาวตอนบนให้ขึ้นไปกับเมืองเชียงแสน ในขณะที่ตำนานเมืองยอง ได้กล่าวถึงสมัยพระยาสุทโธธัมมราช กษัตริย์พม่าลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์ตองอูได้มอบหมายให้พระยาแสนสุรินทร์ทาพรหมราชเจ้าเมืองยองดูแลหัวเมืองต่างๆรวม 12 หัวเมืองได้แก่ เมืองยู้ เมืองหลวย เชียงแข เมืองวะ เมืองกาย เมืองเลน เมืองติน เมืองสาด เมืองพระยาก เมืองปะแลว เชียงลาบและเชียงทอง เมืองยองในสมันนี้จึงอยู่ศูนย์กลางในฐานะอำนาจย่อยของพม่าทางตะวันออก

ปี พ.ศ. 2347 กองทัพหลวงจากกรุงเทพ ฯ พร้อมด้วยกองทัพจากเชียงใหม่ นครลำปาง น่าน และเวียงจันทน์ ได้ยกไปตีเชียงแสน ตั้งล้อมอยู่สองเดือนจึงยึดเชียงแสนไว้ได้ เจ้ากาวิละสั่งให้รื้อกำแพงเมือง และทำลายเมืองไม่ให้ใช้เป็นที่มั่นของข้าศึกได้อีกต่อไป แล้วอพยพครอบครัวชาวเชียงแสนลงมาประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน แบ่งออกเป็นห้าส่วน ส่งลงไปกรุงเทพ ฯ ส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาได้ไปตั้งถิ่นฐานที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่เหลือส่งไปอยู่ที่เวียงจันทน์ น่าน เชียงใหม่ และนครลำปาง

ความดีความชอบในครั้งนี้ เจ้ากาวิละได้รับสถาปนาเป็น พระเจ้าเชียงใหม่ มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช หลังจากตีเมืองเชียงแสนได้แล้ว กองทัพของล้านนาไทย ประกอบด้วย เชียงใหม่ นครลำปาง แพร่ เมืองเถิน น่าน รวมทัพกองทัพจากล้านช้างได้แก่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ได้ร่วมกันยกไปตีเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ้ง เมืองเชียงแขง ตลอดจนบรรดาหัวเมืองต่าง ๆ แถบไทยใหญ่ ลื้อ เขิน เข้ามาเป็นข้าขอบขัณสีมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ราชอาณาจักรไทยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางใหญ่ไพศาล

นับแต่เมืองเชียงลาบ ไปสุดเมืองเชียงแขง เมืองล้า เมืองพง เมืองมาง เมืองภูคา เมืองเทิง เมืองเลน ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองน่าน ในฐานนะหัวเมืองขึ้น หลังจากเมืองน่านได้ปกครองหัวเมืองลื้อต่าง ๆ ดังจารึกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“...เจ้าผู้ครองนครเมืองน่านจัดการเขตแดน ทำสงครามยุทธนาการมีชัยจับตัวเจ้าเมืองเชียงแขง ณ ที่บ้านยู้ เมืองหลวย ได้กวาดคนครอบครัวลงมาไว้ยังนคร-เมืองน่าน...และยังได้กวาดครอบครัวในหัวเมืองขึ้นเมืองเชียงแขงที่ใกล้เคียง คือ เมืองแฮะ เมืองหลวย เมืองวะ เมืองขัน เมืองเชียงขาง เมืองสิง เมืองนัง เมืองกาง เมืองลอง เมือง-ลาบ มาไว้ที่เมืองน่านด้วย...”

ครั้นต่อมาอีกไม่นานแล้วจึงได้มีหนังสือโองการเจ้าฟ้าแห่งเมืองนครน่าน ไปแจ้งยังเจ้าฟ้าไทลื้อหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อเดินทางมายังหอคำหลวงนครน่าน เพื่อรับฟังข้อกฎหมายปกครองนครน่าน ดังจารึกหลักคำ เรื่องอาณาจักรหลักคำน่าน (กฎหมายปกครองนครน่าน) ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งดังนี้....

ครั้นเถิงเดือนยี่ออก ๑ ค่ำ มีเจ้าพระยาอุปราชาหอหน้าเป็นประธาน และเจ้าพระยาราชบุตร เจ้าพระยาศรีสองเมือง เจ้าพระยาสุริยพงษ์ เจ้าพระยาวังซ้าย เจ้าพระยาวังขวา เจ้าพระยาอริยวงษา เจ้าพระยาเทิง เจ้าพระยาเมืองราชา เจ้าพระเมืองแก้ว เจ้าพระเมืองน้อย เจ้าพระวิไชยราชา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเลน เจ้าราชวงษ์เมืองเลน เจ้าเมืองหลวง เจ้าเมืองเชียงลาบ เจ้าเมืองภูคา เจ้าเมืองล้ำ แลขัติยราชวงษา ท้าวพญาเสนาอามาตย์ราชเสวกผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลพร้อมกันเอาเนื้อความปรึกษาตั้งราชอาชญานั้นขึ้นกราบหลอง๗ เถิงราชสำนักเราเป็นเจ้าแล้ว จึงได้พร้อมกันตั้งพระราชอาชญาไว้หื้อเป็นอาณาจักรหลักคำ ไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านายท้าวขุนลูกหลานไพร่ไทยทั้งหลายอย่ากระทำกรรมอันบ่ดีสืบต่อไปภายหน้าว่าตั้งแต่ศักราช ๑๒๑๔ ตัวปีเต่าไจ้เดือนยี่ ออก ๑ ค่ำ วันพุธนี้ไป ภายหน้าห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายได้สมคบกันกระทำกรรมบ่ดี ......

ในโองการเจ้าฟ้าแห่งเมืองนครน่านนั้น ได้ระบุแค่เจ้าเมือง แต่ไม่ได้บอกพระนามของเจ้าเมืองแต่ละเมือง

จนถึงราวๆปี พ.ศ. 2350 เจ้าฟ้ามหาขนานดวงแสง (รู้จักกันว่าเจ้ามหาขนาน) ซึ่งขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง ก็เอาผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองยองใหม่ มีการรวมเอาเมืองพะยาก พะแลว เมืองไร เชียงลาบ เข้ากับเมืองยองขึ้นกับเมืองเชียงตุงด้วย เมืองเชียงลาบจึงขึ้นกับเมืองยองตั้งแต่นั้นมา

ปีพ.ศ. 2353 เจ้าสุมนเทวราชก็ได้ทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญสืบต่อมา และได้ยกกองทัพไปตีเมืองล้า เมืองพง เมืองเชียงแขง เมืองหลวงภูคา ได้ครัวมาไว้เมืองน่าน 6,000 คน

ปี พ.ศ. 2385 เจ้าเมืองเชียงแข็งได้อพยพผู้คนไปขอพึ่งเจ้าเมืองเชียงตุงมหาขนานเนื่องจาก เจ้าเมืองน่านกวาดคนลื้อเชียงแขง เมืองพง มาอยู่เมืองน่าน ทำให้ผู้คนเหลือน้อยลง และบ้านเมืองก็แห้งแล้ง ทำนาไม่ได้ผล เจ้าฟ้ามหาขนานให้เจ้าเมืองเชียงแข็งปั้งเมืองอยู่ที่บ้านยู้เขตเมืองยอง เรียกว่า เมืองหลวยใต้ ดังนั้นเมืองเชียงลาบซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของเมืองหลวยใต้ก็กลายเป็นอาณาเขตของเมืองเชียงแขงไปด้วย

ต่อมาเจ้าสรีหน่อเมืองเชียงแขงย้ายเมืองไปตั้งอยู่ที่เมืองสิงห์ (เมืองสิงห์ในประเทศลาวปัจจุบัน) เรียกชื่อว่า เมืองเชียงแขง เหมือนเดิม เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงซึ่งเป็นหลานก็จะเอาเมืองหลวยใต้คืนแต่สุดท้ายตกลงกันว่าให้ขึ้นกับเมืองเชียงแขงตามเดิม เมืองเชียงลาบจึงยังคงรวมกับเมืองเชียงแขง

ต่อมาเมื่อ รัชกาลที่ 5 ของสยาม ทราบว่าเจ้าเมืองเชียงแขงย้ายเมืองมาตั้งที่เมืองสิงห์ก็มีพระบรมราชโองการให้เจ้าเมืองน่านคือ พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เจ้าหลวงสุริยะ (ต่อมาเป็นพระเจ้าน่าน) ให้ไปบอกว่าที่นั่นเป็นเขตของสยามเพราะตอนนั้นลาวทั้งหมดจนถึงสิบสองพันนาบางส่วนคืออูใต้อูเหนือ และสิบสองจุไท เมืองถง เมืองไล (ปัจจุบันคือเดียนเบียนฟูและเมืองไลเจาในประเทศเวียดนาม) ทั้งหมดนี้เป็นอาณาเขตของสยาม

ดังนั้นเจ้าเมืองเชียงแขงจึงส่งบรรณาการลงมาถวาย ต่อมาเมื่ออังกฤษทราบเรื่องก็ส่งคนลงมาบ้าน เมืองเชียงแขงก็ต้องทำตาม พอฝรั่งเศสมาอีก เชียงแขงก็ต้องส่งบรรณาการอีก แต่เมื่อสยามทราบข่าวว่าอังกฤษก็ยกกองทัพขึ้นไปรักษาไว้ตามเขตแดนหลวงพระบาง ต่อมาเกิดกรณีพิพาทเรื่องพระยอดเมืองขวาง จนสยามต้องทำสนธิสัญญายกลาวฝั่งที่เป็นประเทศลาวปัจจุบันให้กับฝรั่งเศสไป

ในปี พ.ศ. 2436 แต่เมืองเชียงแขงยังคงเป็นเมืองอิสระ ไม่ขึ้นกับเมืองน่าน อังกฤษ หรือฝรั่งเศส และสนธิสัญญาระบุ ให้ยามถอนทหารออกจากดินแดนฝรั่งเศส 25 กม. ซึ่งถือว่าเมืองน่านไม่มีอำนาจเหนือเชียงแขง

ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ลาวแล้วก็รุกคืบไปทางเหนือจะเอาเชียงแขง แต่อังกฤษได้ส่งคนมาเจรจากับฝรั่งเศสก่อน ในปี พ.ศ. 2439 และสุดท้ายตกลงว่าจะแบ่งเมืองคนละครึ่ง เอาน้ำโขงเป็นเกณฑ์การแบ่งคือฝั่งที่อยู่ติดกับลาวให้ฝรั่งเศส ฝั่งที่อยู่ในเขตเชียงตุงให้อังกฤษ ดังนั้นเมืองเชียงลาบซึ่งอยู่ทางฝั่งเชียงตุงก็ตกเป็นของอังกฤษไป เมื่อพม่าได้รับเอกราช เชียงลาบจึงอยู่ในประเทศพม่านับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเมืองเชียงลาบติดน้ำโขงจึงเป็นเมืองท่าสำหรับจอดเรือสินค้า

ตอนที่อังกฤษฝรั่งเศสแบ่งเมืองเชียงแขงกันนี่เอง เมืองเชียงแขงฝั่งลาวจึงนิยมเรียกว่า เมืองสิงห์ตามความเข้าใจของฝรั่งเศส ปัจจุบันเราจึงไม่รู้จักเมืองเชียงแขง ซึ่งจริงๆแล้วเมืองนี้ปรากฏในพื้นเมืองล้านนาทุกฉบับ ดร.ชาวเยอรมันผู้หนึ่งได้สนใจเมืองนี้มาก ปัจจุบันได้พบเมืองเชียงแขงอยู่บริเวณหมู่บ้านเล็กๆริมแม่น้ำโขงชื่อว่าบ้านเชียงแขง มีเจดีย์ทรงล้านนาเหมือนเชียงแสนอยู่ทั่วไป หากใครได้อ่านตำนานเมืองเชียงแขงจะพบว่าชาวเชียงแขงได้สะท้อนความขมขื่นใจออกมาในประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเขา ในตำนานกล่าวว่า ชาติที่ข่มเหงรังแกเขามี 3 ชาติ คือ สยาม ฝรั่งเศส และอังกฤษ ...

สำหรับในล้านนา เจ้าเมืองน่านนามว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ผู้เป็นบิดาของพระเจ้าน่านสุริยพงศ์ผริตเดชก็มีมารดาเป็นลื้อเชียงแขงเช่นกัน

ภาษา ศาสนาและความเชื่อ[แก้]

สำเนียงภาษาชาวลื้อเมืองเชียงลาบ เป็นสำเนียงภาษาเดียวกับภาษาเชียงรุ่ง เหมือนกับภาษาชาวไทยอง (ลื้อเมืองยอง)

ตัวอักษรของชาวไทลื้อคล้ายกับภาษาของชาวไทเขิน ซึ่งต่างจากอักษรล้านนา ชาวไทลื้อเมืองเชียงลาบนับถือพุทธศาสนา และนับถือผีบรรพบุรุษและผีต่าง ๆ

การนับถือพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา นับถือนิกายเถรวาท ประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมการนับถือผีของชาวเชียงลาบ

ชาวเมืองเชียงลาบในประเทศไทย[แก้]

หลังจากเหตุการณ์ ปี พ.ศ. 2347 เมืองเชียงลาบแตก ไพร่พลและชาวเมืองบางส่วนถูกกวาดต้อนมาที่เมืองน่าน ครั้นเมื่อพญาอัตถวรปัญโญ ได้เดินทางมาถึงเมืองน่าน ได้เกิดนองหลวงที่เมืองย่าง และเมืองยม ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแสนปั๋น เจ้าเมืองย่าง ได้สิ้นชีวิต เจ้าอัตถวรปัญเจ้าจึงได้เดินทางมาตรวจสภาพความเสียหาย พร้อมกับโปรดให้ชาวเมืองเชียงลาบ เมืองยอง และเมืองยู้ ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำย่างเขตเมืองยม เพื่อฟื้นฟูสภาพความเสียหาย อีกทั้งครั้งนั้นท่านได้แต่งตั้งแสนจิณขึ้นปกครองเมืองย่าง

ส่วนชาวไทลื้อเมืองเชียงลาบนั้นได้ตั้งบ้านเรือนริมน้ำบั่ว โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านน้ำบั่วป่ากล้วย ปัจจุบันคือ บ้านลอมกลาง ขึ้นการปกครองกับบ้านเชียงยืน โดยมีหลวงแสนปัญญาเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเชียงยืน ทำหน้าที่ปกครอง บ้านน้ำบั่วป่ากล้วย บ้านน้ำบั่ววัด บ้านเชียงยืน

ประเพณีของชาวลื้อเมืองเชียงลาบ[แก้]

  • ป๋างสี่ป๋างแปด ตรงกับเดือนสี่ และเดือนแปด ตามปฏิทินไทลื้อ คือพิธีบวชสรวงดวงวิญญาณของเจ้าหลวงเชียงลาบ และพระนางมหาเตวีเจ้า และเหล่าดวงวิญญานักรบโบราณ เสื้อบ้าน เสื้อเมืองเชียงลาบ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี ในช่วงเดือนสี่ และเดือนแปด ของชาวไทลื้อ (เป็นประเพณีที่ต้องทำทุกปี ห้ามเว้นโดยเด็ดขาด)
  • ประเพณีปี๋ใหม่ ตรงกับเดือนหกของชาวไทลื้อ คือวันสงกรานต์ของไทย พิธีที่ต่างกันจากชาวล้านนาทั่วไปคือ ชาวลื้อจะมีการฉลองโดยการทำพิธีบายสีสู่ขวัญคนเฒ่าคนแก่ทุกคน และจะต้องทำให้ครบทุกคนในหมู่บ้าน และทุกบ้านหากมีผู้สูงอายุต้องทำพิธี และต้องเชิญชาวบ้านมาร่วมงาน และจะมีการฆ่าไก่ เพื่อมาต้มสู่ขวัญและ นำมาเลี้ยงแขกทุกคนในบ้าน และต้องเลี้ยงจนแขกคนสุดท้ายกลับ

อ้างอิง[แก้]

  • จารึกพื้นเมืองเชียงแสน วัดป่าสัก จ.เชียงราย
  • จารึกชาวประวัติไทลื้อเมืองเชียงลาบ ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน
  • หนังสือคนยองย้ายแผ่นดิน

20°52′N 100°32′E / 20.867°N 100.533°E / 20.867; 100.533