เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งของบราซิล

เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: voting machine) เป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมมือกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ

ประวัติ[แก้]

การลงคะแนนเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อทดสอบหลักการของเสียงข้างมาก (Majority Rule) การลงคะแนนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบอกว่าเสียงข้างมากตัดสินตกลงใจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลหรือการปฏิบัติไปตามที่ตกลงใจนั้น ๆ การลงคะแนนอาจทำโดยเปิดเผย หรือโดยการลงคะแนนแบบลับ การลงคะแนนแบบเปิดเผยที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไป ตัวอย่าง เช่น การยกมือ การแยกกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกัน ออกเป็นกลุ่ม ส่วนการลงคะแนนแบบลับ ตัวอย่าง เช่น การหย่อนบัตรเลือกตั้ง หากสืบสาวราวเรื่องของการลงคะแนน (Voting) หรือการลงคะแนนเสียง (Vote Casting) แล้วจะพบว่าการลงคะแนนเสียงในสมัยแรก ๆ ในสมัยโรมันกระทำโดยการนำก้อนหิน หรือเศษกระเบื้องเล็ก ๆ มาหย่อนลงภาชนะเพื่อนับจำนวน ในเวลาต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีกระดาษและหมึกพิมพ์ขึ้น จึงได้มีการนำกระดาษมาใช้ทำบัตรลงคะแนน หรือบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้ในการลงคะแนนขึ้น

ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ได้การนำเครื่องมือหรือเครื่องกลมาช่วยในการลงคะแนน เข้าใจว่าเครื่องลงคะแนนเครื่องแรก ๆ น่าจะเป็นแบบบัตรเจาะรู (Punch Card) ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องลงคะแนนโดยอาศัยกลไกแมคานิกส์เป็นเครื่องลงคะแนนแบบคันโยก (Lver Machine) ซึ่งเคยมีบันทึกไว้ว่าแม้แต่โธมัส อัลวา เอดิสัน ก็ยังเคยประดิษฐ์เครื่องลงคะแนน

ประเภทเครื่องลงคะแนน[แก้]

เครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง แบ่งได้หลายประเภท เช่น

  1. เครื่องนับบัตรเลือกตั้ง เช่น เครื่องนับธนบัตร เครื่องนับบัตรแบบเจาะรู เครื่องนับบัตรแบบ Optical Scan
  2. เครื่องลงคะแนนแบบจักรกล เช่น เครื่องลงคะแนนแบบคันโยก (Lever machine)
  3. เครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องลงคะแนนแบบ Direct Record Equipment :DRE เครื่องลงคะแนนแบบจอสัมผัส (Touch Screen)

เครื่องลงคะแนนของไทย[แก้]

เกิดขึ้นโดยความริเริ่มของ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไปดูงานที่ประเทศอินเดียและกลับมาตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าและวิศวกรของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเห็นชอบลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2546 เพื่อผลิตเครื่องต้นแบบเครื่องแรกขึ้นในประเทศไทย และได้ทดสอบใช้งานเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบรุ่นแรก ในการเลือกตั้งจริงควบคู่ไปกับการลงคะแนนโดยบัตรเลือกตั้งของสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 หลังจากนั้น ได้มีการส่งมอบเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบ รุ่นที่สองให้กับสำนักงานคณะกรรมการากรเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ผลิตเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งรุ่นที่สามโดยปรับปรุงต่อเนื่องจากเครื่องรุ่นที่สองอีกจำนวน 100 ชุด เพื่อแจกจ่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ทดลองใช้ ซึ่งมีประชาชนได้ทดลองใช้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600,000 คน และต่อมาได้มีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ในการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการลงคะแนนออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.....

องค์ประกอบของเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งไทย[แก้]

เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งประกอบด้วย 2 ส่วน

  1. ส่วนลงคะแนน (Ballot Unit:BU)
  2. ส่วนรวมคะแนน (Counting Unit :CU)
  3. ส่วนประมวลผล (Processing Unit:PU) รุ่นที่สี่ ตาม ร่างกฎหมาย ที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้ผ่านรัฐสภาจะมีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการประมวลผลคะแนนที่ต้องนับรวม ณ ที่นับคะแนนแห่งเดียว