เกาะเต่า

พิกัด: 10°05′44″N 99°50′25″E / 10.09556°N 99.84028°E / 10.09556; 99.84028
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เต่า
ทัศนียภาพโดยรวมของเกาะเต่า
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งอ่าวไทย
พิกัด10°05′44″N 99°50′25″E / 10.09556°N 99.84028°E / 10.09556; 99.84028
กลุ่มเกาะกลุ่มเกาะเต่า
พื้นที่18.572 ตารางกิโลเมตร (7.171 ตารางไมล์)
ระดับสูงสุด374 ม. (1227 ฟุต)
การปกครอง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อำเภอเกาะพะงัน
ตำบลเกาะเต่า
เมืองใหญ่สุดเกาะเต่า
ข้อมูลอื่น ๆ
เขตเวลา
รหัสไปรษณีย์84360
รหัสภูมิศาสตร์840503
ทะเบียนรถสุราษฎร์ธานี

เกาะเต่า เป็นเกาะในอ่าวไทย อยู่ในตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะมีรูปร่างโค้งเว้าเหมือนกับเมล็ดถั่ว เกาะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะพะงัน ห่างประมาณ 45 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 21 ตารางกิโลเมตร และมีผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะเต่าประมาณ 12,000 คน โดยมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานที่เกาะเต่ากว่า 5,000 คนที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นเกือบสองเท่าของคนไทยในทะเบียนราษฎร กว่า 2,189 คน โดยที่เหลือเป็นประชากรแฝง [ข้อมูลใน พ.ศ. 2560] นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงมีเกาะนางยวนซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตะวันตกเฉียงเหนือ มีสันทรายเชื่อมต่อกับเกาะเต่าในลักษณะเหมือนทะเลแหวก เป็นแหล่งดำน้ำชมปะการัง

ประวัติ[แก้]

สมัยรัชกาลที่ 5[แก้]

เกาะเต่าจุดชมวิว mango bay

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะเต่า พระองค์ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อไว้บนหินที่ แหลม จ.ป.ร. ทางใต้สุดของหาดทรายรี ปัจจุบันหินสลักและพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในสิ่งสักการะของคนเกาะเต่าและนักท่องเที่ยวชาวไทยทุกคน

สมัยเกาะเต่าเป็นคุกการเมือง[แก้]

ช่วงปี พ.ศ. 2486 – 2487 เกาะเต่าถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองคดี ‘กบฏบวรเดช’ ซึ่งถูกย้ายมาจากคุกบนเกาะตะรุเตา คุกตั้งอยู่ที่อ่าวแม่หาด มีอาณาเขตประมาณ 35 ไร่ โดยมีนักโทษการเมือง 54 คน นักโทษทั่วไปอีก 50 คน และผู้คุม 15 คน ตามคำบอกเล่าของนักโทษที่เคยถูกคุมขัง เกาะเต่าคือเกาะนรกที่ล้อมรอบด้วยฉลาม ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ชีวิตเต็มไปด้วยความอดอยากแร้นแค้นและโรคภัยไข้เจ็บโดยเฉพาะไข้จับสั่น

นักโทษคนนึงได้กล่าวไว้ว่า :

“ความสุขเดียวของแต่ละวัน คือ การได้เฝ้าดูพระอาทิตย์ตกลงสู่ทะเล มันช่างสวยงามจับใจ ทะเลเปลี่ยนเป็นสีม่วงชมพูตัดกับท้องฟ้าสีคราม” ในปี พ.ศ. 2487 นักโทษได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้ถูกส่งตัวกลับบ้าน ปล่อยให้เกาะเต่ากลับมารกร้าง ไร้ผู้คนอยู่อาศัยอีกครั้ง

สมัยผู้บุกเบิกรุ่นแรก[แก้]

ในปี พ.ศ. 2490 พี่น้องฝาแฝด ตาโอและตาเอื้อม ผู้บุกเบิกรุ่นแรกได้แล่นเรือใบมาจากเกาะสมุย เรือใบที่ใช้เป็นแบบโบราณ มีสองเสา ใบเรือทำจากใบมะพร้าวและผ้า พวกเขานำข้าวสารบรรทุกมากับเรือ เมื่อมาถึงเกาะเต่าได้เริ่มถางที่และหาเศษซากของคุกมาสร้างกระท่อมสำหรับพักอาศัยชั่วคราว ต่อมาพวกเขาได้พาครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือของหาดทรายรี หกปีหลังจากนั้นผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเกาะพะงันเริ่มย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเริ่มชีวิตใหม่ที่เกาะเต่าแห่งนี้ ชีวิตความเป็นอยู่บนเกาะเต่ายุคนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่าย ชาวบ้านทำมาหากินด้วยการหาปลา ทำสวนมะพร้าว ปลูกข้าว และทำสวนผลไม้ สมัยนั้นเกาะเต่ามีเต่าทะเลอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในฤดูวางไข่ของแต่ละปีบนชายหาดจะเต็มไปด้วยลูกเต่าที่เพิ่งเกิดใหม่จนทำให้หาดทรายกลายเป็นสีดำ

สมัยนักท่องเที่ยวยุคแรก[แก้]

ในปี พ.ศ. 2520 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มแรกได้เดินทางมาเกาะเต่าเพื่อดำน้ำสำรวจธรรมชาติใต้น้ำที่อุดมสมบรูณ์และไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน พวกเขาเดินทางมากับเรือประมงและเรือบรรทุกมะพร้าว ในปี พ.ศ. 2527 ที่พักแห่งแรกของเกาะเต่าได้ถูกสร้างขึ้นที่อ่าวเทียนออก มีชื่อว่า ‘นิยมบังกะโล’ ราคาห้องคืนละ 30 บาท ตั้งแต่นั้นมาเกาะเต่าเริ่มเปลี่ยนจากการทำประมงและเพาะปลูกมาเป็นการท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เกาะเต่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกและกิจกรรมการท่องเที่ยวมากมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาประมาณ 350,000 คนต่อปี

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

แผนที่เกาะเต่า

  • สวนหิน จปร.
  • แหลมตาโต๊ะ
  • อ่าวลึก
  • กองหินเขียว
  • เกาะกงทรายแดง
  • อ่าวโตนด
  • อ่าวโฉลก
  • อ่าวเทียน
  • แหลมเทียน
  • อ่างม่วง
  • อ่าวจุลเจือ
  • หาดทรายนวล
  • อ่าวจันทร์สม
  • อ่าวฉลาม
  • หาดทรายรี

เหตุฆ่านักท่องเที่ยว พ.ศ. 2557[แก้]

วันที่ 15 กันยายน 2557 พบศพชาวอังกฤษเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปี และฮันนาห์ วีเธอริดจ์ (Hannah Witheridge) วัย 23 ปีในสภาพกึ่งเปลือยพร้อมแผลลึกหลายแผลบนศพใกล้บังกะโลริมหาดบนเกาะเต่า ตำรวจเชื่อว่าทั้งสองถูกฆ่าด้วยจอบทำสวน พบว่า มิลเลอร์มีบาดแผลรุนแรงที่ศีรษะ ส่วนวีเธอริดจ์มีบาดแผลที่ใบหน้า[1] ต่อมาในวันที่ 22 กันยายน 2557 หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ กล่าวว่ามีตระกูลมาเฟียบนเกาะ คนท้องถิ่นเล่าว่า หาดทรายรีไม่ปลอดภัยในยามวิกาล โดยยกตัวอย่างผู้ขายใช้มีดปอกผลไม้ฟันลูกค้า การชักปืนระหว่างการพิพาทระหว่างคนท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังมีการจุดไฟเผาบาร์และโรงแรมเพื่อขจัดคู่แข่งด้วย และตำรวจมักหาสินบนจากชาวต่างชาติที่ถูกจับได้ว่าใช้ยาเสพติดบนเกาะ[2]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]