ฮุยโฮ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮุยโฮ / 黄皓
ขันทีแห่งแห่งจ๊กก๊ก
เกิดไม่ทราบ
ถึงแก่กรรมไม่ทราบ
ชื่อภาษาจีน

ฮุยโฮ (ปรากฎตัวใน ค.ศ. 220 - ค.ศ. 263) เป็นขุนนางชาวจีนและเป็นขันทีซึ่งได้ถวายตัวรับใช้พระเจ้าเล่าเสี้ยน(ค.ศ. 223 - ค.ศ. 263) พระจักรพรรดิองค์ที่สองและองค์สุดท้ายของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เขาได้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเล่าเสี้ยนและมีอิทธิพลอย่างมาก เขาสามารถเลื่อนขั้นตำแหน่งให้แก่ผู้ที่ให้การสนับสนุนแก่เขาและลดขั้นตำแหน่งแก่ผู้ที่ต่อต้านเขา ซึ่งส่งผลเสียโดยรวมต่อการปกครองที่ดีของรัฐ เมื่อแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพจ๊กนามว่า เกียงอุย ได้พยายามเตือนจักรพรรดิว่าการรุกรานของวุยก๊กใกล้จะมาถึงแล้ว ฮุยโฮได้หว่านล้อมพระจักรพรรดิว่า การบุกครองดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น เป็นเหตุทำให้จ๊กก๊กไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการบุกครองจ๊กก๊กของวุยก๊ก ได้บีบบังคับให้พระจักรพรรดิยอมสวามิภักดิ์โดยไร้เงื่อนไขใน ค.ศ. 263

ช่วงชีวิต[แก้]

ฮุยโฮได้เข้าสู่พระราชวังจักรพรรดิจ๊กก๊กในช่วงทศวรรษที่ 220 ในฐานะขันทีที่ได้ถวายตัวรับใช้ต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน จักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก จนกลายเป็นที่โปรดปรานของพระองค์เพราะเขามีความฉลาดหลักแหลมและพูดจาที่เต็มไปด้วยประจบสอพลอ เมื่อใดก็ตามที่ฮุยโฮพยายามที่จะเข้าแทรกแซงงานราชการแผ่นดิน ตันอุ๋นซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลได้กราบทูลเตือนต่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนเกี่ยวกับอันตรายจากคำประจบสอพลอ และตักเตือนฮุยโฮว่าทำให้พระจักรพรรดิทรงเข้าพระทัยผิด ในขณะที่ตันอุ๋นยังมีชีวิตอยู่ เขาได้คอยตรวจสอบฮุยโฮและไม่ยอมให้เขาได้รับเลื่อนตำแหน่งนอกเหนือจากผู้ช่วยขุนนางประตูเหลือง (黃門丞)

ภายหลังจากการเสียชีวิตของตันอุ๋น ในราวเดือนธันวาคม ค.ศ. 246 เฉินจือได้เข้ามาแทนที่เขาในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและร่วมมือกับฮุยโฮเพื่อครอบงำราชสำนักและราชการแผ่นดิน พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงตำหนิติเตียนถึงตันอุ๋นที่ปฏิบัติต่อเขาอย่างดูถูกเหยียมหยาม มีความเชื่อกันว่าการที่พระองค์ทรงตรัสเช่นนี้มาจากการยุแยงส่งเสริมของฮุยโฮและเฉินจือ เมื่อเฉินจือได้เสียชีวิตใน ค.ศ. 258 ฮุยโฮได้กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในรัฐบาลกลางของจ๊กก๊กซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเซงโต๋ พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงเลื่อนตำแหน่งแก่ฮุยโฮเป็น ผู้เฝ้าถวายงานกลาง (中常侍) และ ผู้บัญชาการราชรถ (奉車都尉)

ฮุยโฮได้ใช้อำนาจไปในทางที่ผิดโดยส่งเสริมเหล่าข้าราชการที่ให้การสนับสนุนแก่เขาด้วยการเลื่อนขั้นตำแหน่งและผู้ที่ต่อต้านเขาจะถูกลดขั้นตำแหน่ง เมื่อหลัวเซียนได้ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับเขา ฮุยโฮจึงส่งหลัวเซียนออกจากเซงโต๋ไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการ(太守) จังหวัดปาต๋ง (巴東郡; บริเวณรอบอำเภอเฟิงเจีย, ฉงชิ่งในปัจจุบัน) เงียมอู(閻宇) สหายสนิทของฮุยโฮซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคปาต๋ง(巴東都督) ได้มอบหมายให้หลัวเชี่ยนเป็นผู้ช่วยของเขาอีกครั้ง ฮวนเกี๋ยน นายอำเภอใหญ่แห่งปรมาจารย์ด้านการเขียน(尚書令) ปฏิเสธที่จะติดต่อคบค้าสมาคมใด ๆ กับฮุยโฮ ฮุยโฮมีความรู้สึกไม่ชอบขับเจ้งซึ่งเป็นข้าราชการภายในที่คุ้นเคยด้วยการติดต่อคบค้าสมาคมกับฮุยโฮประมาณสามสิบปี แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำอันตรายกับขับเจ้ง แต่เขากลับไม่ยอมให้ขับเจ้งได้รับเลื่อนขั้นตำแหน่ง เล่าเอ๋ง พระราชอนุชาของพระเจ้าเล่าเสี้ยนมีความเกลียดชังต่อฮุยโฮ และไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเขาเลย ภายหลังจากที่ฮุยโฮขึ้นสู่อำนาจ เขาได้ทูลว่าร้ายเล่าเอ๋งต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าเล่าเสี้ยน ทำให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธที่จะพบกับเล่าเอ๋งเป็นเวลามากกว่าสิบปี

ใน ค.ศ. 262 เกียงอุย ขุนพลจ๊กก๊กได้เขียนจดหมายถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนเพื่อเรียกร้องให้พระองค์ทรงประหารฮุยโห อย่างไรก็ตาม พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธโดยทรงกล่าวว่า ฮุยโฮเป็นเพียงบ่าวรับใช้ที่ทำธุระให้ และทรงดำรัสว่าอย่ามีความรู้สึกโกรธเคืองต่อฮุยโฮเลย เกียงอุยรู้ดีว่าฮุยโฮนั้นมีผู้สนับสนุนมากมายในราชสำนักและวิตกกังวลว่าเขาอาจจะไม่เป็นที่โปรดปราณของจักรพรรดิอีกต่อไป หากเขายังยืนกรานที่จะประหารชีวิตฮุยโฮให้ได้ ต่อมาพระเจ้าเล่าเสี้ยนรับสั่งให้ฮุยโฮกราบขอขมาเกียงอุย ต่อมาเกียงอุยได้หาข้ออ้างที่จะออกจากเซงโต๋และย้ายไปประจำการที่ค่ายทหารรักษาการณ์ที่อำเภอท่าจง(沓中; ตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอจูชู่, มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในเมืองหลงเส ในขณะเดียวกัน ฮุยโฮได้พยายามจะถอดถอนเกียงอุยออกจากตำแหน่งแม่ทัพคุมกองทัพและให้เงียมอู สหายคนสนิทของเขาเข้ามารับตำแหน่งนี้แทน เมื่อเกี่ยงอุยทราบเรื่องนี้เข้า เขายังคงอยู่ในท่าจงต่อไปและปฏิเสธที่จะกลับไปยังเซงโต๋เพราะเขารู้ดีว่า เขาจะปลอดภัยได้ เมื่ออยู่ในอำเภอท่าจง

ใน ค.ศ. 263 เกียงอุยได้รับข่าวว่า จงโฮย ขุนพลวุยก๊กซึ่งเป็นคู่ปรับของจ๊กก๊กกำลังระดมพลทหารเข้าสู่ภูมิภาคกวนจง ดูเหมือนจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการบุกครองจ๊กก๊ก เขาจึงเขียนจดหมายส่งไปยังพระเจ้าเล่าเสี้ยนเพื่อขอพระราชทานบรมราชานุญาตให้มีการวางแผนป้องกันการบุกครองที่กำลังจะเกิดขึ้น ฮุยโฮซึ่งเชื่อเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ได้ให้หมอผีทำนายอนาคต จากนั้นได้กราบทูลพระเจ้าเล่าเสี้ยนว่า หมอผีได้ทำนายว่ากองทัพวุยก๊กจะไม่เข้าโจมตีจ๊กก๊กแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำตามแผนของเกียงอุยเลย ต่อมาในปีนั้น เตงงาย ขุนพลวุยก๊กได้นำกองทหารของเขาเดินทางผ่านทางลัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขาที่แสนทุรกันดาร ข้ามแนวป้องกันของจ๊กก๊ก และเดินทางมาถึงนอกเมืองเซงโต๋ พระเจ้าเล่าเสี้ยนทรงยอมสวามิภักดิ์โดยไม่มีการต่อสู้ขัดขืน จึงทำให้จ๊กก๊กถึงคราวล่มสลาย ภายหลังจากการยอมสวามิภักดิ์ของพระเจ้าเล่าเสี้ยน เมื่อเตงงายทราบว่า ฮุยโฮ เป็นคนทรยศที่ทำให้จ๊กก๊กล่มสลายและต้องการที่จะประหารชิวิตเขา แต่ฮุยโฮได้ติดสินบนคนของเตงงายให้ปล่อยตัวและเขาก็หลบหนีไป ไม่มีใครรับรู้ถึงชะตากรรมของเขาอีกเลย

ในวรรณกรรมสามก๊ก[แก้]

ในตอนที่ 119 ของวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์เรื่อง สามก๊ก ในศตวรรษที่ 14 ฮุยโฮถูกประหารชีวิตและเอาไปประจานทั่วเมืองตามคำสั่งของสุมาเจียว ผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊ก เมื่อเขาได้ติดตามพระเจ้าเล่าเสี้ยนไปยังเมืองลกเอี๊ยง เมืองหลวงของวุยก๊ก