อูกโน (มิเล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อูกโน
ศิลปินจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
ปีค.ศ. 1852
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่งานสะสมส่วนบุคคล

อูกโนในวันเซนต์บาร์โทโลมิว ไม่ยอมป้องกันตัวเองโดยการติดตราโรมันคาทอลิก หรือ อูกโนในวันเซนต์บาร์โทโลมิว (อังกฤษ: A Huguenot, on St. Bartholomew's Day, Refusing to Shield Himself from Danger by Wearing the Roman Catholic Badge) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า อูกโน (A Huguenot) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษคนสำคัญที่เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1852 ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของงานสะสมส่วนบุคคล

"อูกโน" เป็นภาพของคู่หนุ่มสามที่กำลังจะลาจากกันขณะที่ฝ่ายหญิงดูเหมือนจะพยายามอ้อนวอนให้ฝ่ายชายผูกผ้าขาวที่แขนเพื่อแสดงว่าเป็นโรมันคาทอลิกเพื่อเลี่ยงการถูกทำร้าย แต่ฝ่ายชายพยายามดึงผ้าขาวออกด้วยมือและแขนข้างเดียวกับที่กอดหญิงสาว เหตุการณ์ในภาพนี้มีอิทธิพลมาจากเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์บาร์โทโลมิวที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1572 เมื่อชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ที่เรียกตนเองว่าอูกโนถูกสังหารไปเป็นจำนวนมากในปารีส ซึ่งนำไปสู่การกระทำเช่นเดียวกันทั่วไปในบริเวณอื่น ๆ ของฝรั่งเศส อูกโนบางคนหลบหนีจากการถูกทำร้ายโดยการผูกผ้าขาวที่แขนว่าเป็นโรมันคาทอลิก

เมื่อเริ่มวาดมิเลก็เพียงแต่จะวาดภาพคู่รัก แต่วิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ ศิลปินร่วมกลุ่มติว่าออกจะเป็นหัวเรื่องที่ดาด หลังจากที่ได้ชมอุปรากร "เลอูกโน" (Les Huguenots) โดยจาโกโม ไมเออร์เบร์ (Giacomo Meyerbeer) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสังหารหมู่แล้ว มิเลก็เปลี่ยนหัวข้อภาพให้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ว่า ในอุปรากรตัวละครวาเลนไทน์พยายามอ้อนวอนให้ราฟาเอลผูกผ้าขาวแต่ไม่สำเร็จ[1] การเลือกหัวข้อที่สนับสนุนฝ่ายโปรเตสแตนต์ก็มีความสำคัญต่อทัศนคติต่อกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล ผู้ก่อนหน้านั้นถูกโจมตีว่ามีความเห็นอกเห็นใจในขบวนการออกซฟอร์ด (Oxford Movement) และโรมันคาทอลิก[2]

ดอกไม้ที่เลือกใช้ในภาพอาจจะเป็นเพราะความสนใจในภาษาดอกไม้คือการใช้ดอกไม้ในการสื่อความหมายในสมัยวิกตอเรีย เช่นดอกแคนเตอร์บรีเบลล์สีน้ำเงินทางซ้ายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาและความแน่วแน่[1]

"อูกโน" ตั้งแสดงพร้อมกับภาพ "โอฟีเลีย" ที่ราชสถาบันศิลปะ ในปี ค.ศ. 1852 ช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อกลุ่มพรีราฟาเอลไลท์ ทอม เทย์เลอร์ (Tom Taylor) เขียนสรรเสริญเป็นอย่างดีในบทวิจารณ์ในนิตยสาร "พันช์" (Punch) ภาพได้รับการแกะเป็นภาพพิมพ์ซึ่งกลายเป็นงานชิ้นแรกที่มิเลประสบความสำเร็จและได้รับความนิยม ซึ่งทำให้มิเลไปสร้างงานเขียนในหัวข้อที่คล้ายคลึงกันต่อมาอีกหลายภาพ

อ้างอิง[แก้]

  1. Alastair Grieve, The Pre-Raphaelite Brotherhood and the Anglican High Church, "The Burlington Magazine", Vol. 111, No. 794 (May, 1969), pp. 292+294-295

ดูเพิ่ม[แก้]