อุเบกขา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อุเบกขา (ภาษาบาลี: อุเปกขา ภาษาสันสกฤต: อุเปกษา) แปลว่า ความวางเฉย ความวางใจ เป็นกลาง

อุเบกขา หมายถึง ความวางเฉยแบบวางใจเป็นกลางๆ โดยไม่เอนเอียงเข้าข้างเพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงและเพราะกลัว เช่นไม่เสียใจเมื่อคนที่ตนรักถึงความวิบัติ หรือไม่ดีใจเมื่อศัตรูถึงความวิบัติ มิใช่วางเฉยแบบไม่แยแสหรือไม่รู้ไม่ชี้ ทั้งๆ ที่สามารถช่วยเหลือได้เป็นต้น

ลักษณะของผู้มีอุเบกขา คือเป็นคนหนักแน่นมีสติอยู่เสมอ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ เป็นคนยุติธรรม ยึดหลักความเป็นผู้ใหญ่ รักษาความเป็นกลางไว้ได้มั่นคงไม่เอนเอียงเข้าข้าง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลถูกต้องคลองธรรม. และเป็นผู้วางเฉยได้เมื่อไม่อาจประพฤติเมตตา กรุณา หรือมุทิตาได้

อุเบกขา เป็นหลักปฏิบัติข้อ 4 ในหลัก พรหมวิหาร 4

อุเบกขา10ประเภท[แก้]

  1. ฉฬงฺคุเปกขา อุเบกขาประกอบด้วย องค์ 6 คือ การวางเฉยในอายตนะทั้ง 6
  2. พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา อุเบกขาในพรหมวิหาร
  3. โพชฺฌงฺคุเปกฺขา อุเบกขาในโพชฌงค์ คือ อุเบกขาในมานะ คือ วางเฉยไม่ตัดสิน ว่าสิ่งต่างๆนั้น ดีกว่า เลวกว่า แย่กว่า เสมอกัน ปราณีตกว่ากัน เป็นอุเบกขาซึ่งอิงวิราคะ อิงวิเวก
  4. วิริยุเปกฺขา อุเบกขาใน วิริยะ คือ ทางสายกลางในการทำความเพียร ไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป
  5. สงฺขารุเปกขา อุเบกขาในสังขาร คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5
  6. เวทนูเปกฺขา อุเบกขาในเวทนา ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข
  7. วิปสฺสนูเปกขา อุเบกขาในวิปัสสนา อันเกิดจากเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  8. ตตฺรมชูฌตฺตุเปกขา อุเบกขาในเจตสิก หรืออุเบกขา ที่ยังธรรมทั้งหลาย ที่เกิดพร้อมกันให้เป็นไปเสมอกัน
  9. ฌานุเปกฺขา อุเบกขาในฌาน
  10. ปาริสุทฺธุเปกฺขา อุเบกขาบริสุทธิ์จากข้าศึก คือมีสติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. หนังสือ วิสุทธิมรรค 1 / 84 - 89 / 473 - 179