อิซาเบลลา (มิเล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อิซาเบลลา
ศิลปินจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
ปีค.ศ. 1849
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่หอศิลป์วอล์กเกอร์, ลิเวอร์พูล

อิซาเบลลา หรือ ลอเรนโซและอิซาเบลลา (อังกฤษ: Isabella หรือ Lorenzo and Isabella) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยจอห์น เอเวอเรตต์ มิเล จิตรกรสมัยกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลชาวอังกฤษ

จอห์น เอเวอเรตต์ มิเลเขียนภาพ "อิซาเบลลา" เสร็จในปี ค.ศ. 1849 เป็นงานเขียนแรกในแบบ "ก่อนราฟาเอล" ที่เขียนไม่นานหลังจากการก่อตั้งของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอลในปีก่อนหน้านั้น ภาพตั้งแสดงครั้งแรกที่ราชสถาบันศิลปะ ในปี ค.ศ. 1849 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์วอล์กเกอร์ เมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร

หัวเรื่อง[แก้]

ภาพเขียนเป็นฉากจากโคลงของจอห์น คีตส์ "อิซาเบลลา หรือกระถางใบโหระพา" (Isabella, or the Pot of Basil) ที่เป็นโคลงที่มาจากเรื่องใน "ตำนานสิบราตรี" ที่เขียนโดยโจวันนี บอกกัชโช ที่เป็นเรื่องของสตรีสาวชื่ออิซาเบลลาผู้ได้รับการหมั้นหมายกับพ่อค้าผู้มีฐานะ แต่อิซาเบลลาไปตกหลุมรักลอเรนโซผู้เป็นลูกจ้างของครอบครัว เมื่อครอบครัวทราบเข้าก็จัดการสังหารลอเรนโซแล้วนำร่างไปฝัง เมื่ออิซาเบลลารู้ความก็ไปขุดหัวของลอเรนโซมาฝังไว้ในกระถางใบโหระพาด้วยความโศรกเศร้า เหตุการณ์ในภาพเกิดขึ้นในขณะที่พี่น้องมองเห็นว่าอิซาเบลลาและลอเรนโซมีความรู้สึกต่อกัน จึงคิดที่จะทำการฆาตกรรมลอเรนโซ เพื่อจะเปิดทางให้อิซาเบลลาได้แต่งงานกับขุนนางผู้มีฐานะที่หมั้นหมายไว้ ในภาพลอเรนโซยื่นส้มเลือด (Blood orange) ให้แก่อิซาเบลลาที่ใส่เสื้อสีเทานั่งอยู่ทางด้านขวาของภาพ ส้มเลือดเป็นส้มที่มีเนื้อสีเหมือนเลือด ที่เป็นสัญลักษณ์ของคอของผู้ที่เพิ่งถูกตัด ซึ่งเป็นสัญญาณของชะตากรรมของลอเรนโซที่จะมาถึง พี่ชายคนหนึ่งยื่นเท้าไปเตะหมาขณะที่กำลังแกะลูกนัต

มิเลและศิลปินร่วมกลุ่มวิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ต่างก็เขียนภาพจากโคลงบทเดียวกันแต่มิเลเท่านั้นที่เขียนทั้งภาพ ภาพทั้งสองบิดเบือนทัศนมิติและการวางท่าที่เป็นมุมของศิลปะยุคกลางซึ่งเป็นลักษณะการเขียนของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล[1] นอกจากนั้นมิเลยังได้รับอิทธิพลจากการวางภาพในภาพเยาะเย้ยสังคมชุด "แต่งงานคลุมถุงชน" (Marriage à-la-mode) โดย วิลเลียม โฮการ์ท (William Hogarth) ที่เขียนก่อนหน้านั้น

องค์ประกอบและความหมาย[แก้]

การวางภาพเป็นการจงใจที่จะบิดเบือนทัศนมิติ โดยการทำให้ทางขวาของภาพยาวขึ้นและทำให้ตัวแบบทางด้านนั้นแบน ตามทฤษฎีของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล มิเลเกือบจะกำจัดค่าต่างสี (chiaroscuro) ออกเกือบหมดและเพิ่มความรุนแรงของสีและโทนสีที่เห็นได้จากเสื้อทูนิคสีดำราบกับผ้าสีขาวจัดบนแขนที่ร่างด้านล่างที่ใส่ถุงสีเหลืองแทบจะกลืนไปกับฉากหลัง

นอกจากนั้นมิเลยังให้ความสำคัญในการเขียนรายละเอียดของผู้อยู่ในภาพอย่างละเอียดเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนแบบก่อนราฟาเอลอีกอย่างหนึ่ง ฐานม้านั่งของอิซาเบลลามีรอยแกะเป็นภาพคนคุกเข่าและอักษร "PRB" ซึ่งเป็นอักษรย่อของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล

กลางภาพเป็นที่เป็นพี่ชายที่พาลจะเตะหมาบนเก้าอี้ที่เอียงกะเท่เร่ซึ่งทำให้ลดความสมดุลของภาพโดยความจงใจ เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ดูสับสนที่นั่งอยู่รอบโต๊ะ ทั้งสองอย่างเป็นการสร้างบรรยากาศที่สื่อความหมายของภาพถึงเหตุการณ์ร้ายที่จะเกิดขึ้น

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]