อำเภอท่ามะกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอท่ามะกา
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Tha Maka
วัดพระแท่นดงรัง
วัดพระแท่นดงรัง
คำขวัญ: 
ประตูเมืองสู่เมืองกาญจน์ พุทธสถานพระแท่น
พงตึกแคว้นอารยธรรม ย่านอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย
แผนที่จังหวัดกาญจนบุรี เน้นอำเภอท่ามะกา
แผนที่จังหวัดกาญจนบุรี เน้นอำเภอท่ามะกา
พิกัด: 13°55′15″N 99°45′56″E / 13.92083°N 99.76556°E / 13.92083; 99.76556
ประเทศ ไทย
จังหวัดกาญจนบุรี
พื้นที่
 • ทั้งหมด340.8 ตร.กม. (131.6 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด132,892 คน
 • ความหนาแน่น389.94 คน/ตร.กม. (1,009.9 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 71120,
71130 (เฉพาะตำบลดอนชะเอม ท่าเรือ พระแท่น แสนตอ อุโลกสี่หมื่น ตะคร้ำเอน และหนองลาน),
70190 (เฉพาะตำบลสนามแย้)
รหัสภูมิศาสตร์7105
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอท่ามะกา หมู่ที่ 2 ถนนแสงชูโต ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี 71120
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ท่ามะกา เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอท่ามะกาเป็นอำเภอที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 97 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี 30 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่การปกครองข้างเคียงต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์[แก้]

จากการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ ชื่อ สถิต เลิศวิชัย ได้บันทึกไว้ว่าอำเภอท่ามะกานั้น เดิมชื่อ อำเภอลาดบัวขาว ตั้งขี้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยเอาพื้นที่เขตตำบลท่าผา ตำบลธรรมเสน และตำบลลาดบัวขาวรวมกันตั้งเป็น "อำเภอลาดบัวขาว" ในสมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี (ขณะนี้ที่ตั้งของอำเภอลาดบัวขาวเดิม เป็นที่ตั้งของวัดลาดบัวขาว อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี อยู่ตรงข้ามวัดโกสินารายณ์ คนละฝั่งของแม่น้ำแม่กลองในปัจจุบัน)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 หรือรัตนโกสินทรศก 124 ทางราชการได้ย้ายที่ตั้งที่ว่าการอำเภอลาดบัวขาวมาตั้งใหม่ที่ตำบลพงตึก และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอจากอำเภอลาดบัวขาวเป็น อำเภอพระแท่น ทั้งนี้เพราะในเขตอำเภอมีปูชนียสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา คือ "พระแท่นดงรัง" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไปของชาวพุทธ

ในปี พ.ศ. 2453 สมัยขุนศรีสรนาสน์นิคมหรือมหาจันทร์ ปุญสิริเป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพระแท่นจากตำบลพงตึกมาตั้งใหม่ที่หมู่บ้าน "ถ้ำมะกา" ทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง โดยซื้อที่ดินของขุนอารักษ์อรุณกิจ จำนวน 10 ไร่ 20 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท และที่ดินของนายชื่น จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา เป็นเงิน 120 บาท รวมเป็นเนื้อที่ของอำเภอ 12 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ใช้เป็นที่สร้างที่ว่าการอำเภอพระแท่นหลังใหม่ เนื่องจากที่ท่าน้ำหน้าอำเภอมีต้นมะกาต้นใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2460 สมัยขุนรามบุรีรักษ์ (แอร่ม สุนทรศารทูล) เป็นนายอำเภอ จึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่จากอำเภอพระแท่นเป็น อำเภอท่ามะกา ซึ่งยังคงขึ้นอยู่ท้องที่จังหวัดราชบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2480 จึงได้โอนมาขึ้นอยู่กับท้องที่จังหวัดกาญจนบุรีจนถึงปัจจุบัน

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอท่ามะกาแบ่งเขตการปกครองออกตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 เป็น 17 ตำบล 154 หมู่บ้าน ได้แก่

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอท่ามะกาประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 21 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเรือทั้งตำบลและบางส่วนของตำบลตะคร้ำเอน
  • เทศบาลตำบลลูกแก ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลดอนขมิ้น
  • เทศบาลตำบลท่ามะกา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่ามะกา
  • เทศบาลตำบลท่าไม้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าไม้ทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลพระแท่น ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพระแท่น
  • เทศบาลตำบลหวายเหนียว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลหวายเหนียว
  • เทศบาลตำบลดอนขมิ้น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนขมิ้น (นอกเขตเทศบาลตำบลลูกแก)
  • เทศบาลตำบลหนองลาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองลานทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลพระแท่นลำพระยา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพระแท่น (นอกเขตเทศบาลตำบลพระแท่น)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพงตึก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพงตึกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลยางม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยางม่วงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดอนชะเอม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดอนชะเอมทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลตะคร้ำเอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลตะคร้ำเอน (นอกเขตเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่ามะกา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่ามะกา (นอกเขตเทศบาลตำบลท่ามะกา)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโคกตะบอง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกตะบองทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลอุโลกสี่หมื่น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอุโลกสี่หมื่นทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเขาสามสิบหาบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเขาสามสิบหาบทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหวายเหนียว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหวายเหนียว (นอกเขตเทศบาลตำบลหวายเหนียว)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแสนตอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแสนตอทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสนามแย้ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสนามแย้ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าเสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าเสาทั้งตำบล

สภาพเศรษฐกิจ[แก้]

ประชากรมีอาชีพทางเกษตรเป็นหลัก มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อปี

การเกษตรกรรม[แก้]

พื้นที่ทางเกษตรกรรมของอำเภอท่ามะกา มีทั้งสิ้น 134,482 ไร่ พืชทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ อ้อย 75,055 ไร่ ข้าว 44,177 ไร่ ไม้ผล 3,595 ไร่ พืชผัก 1,643 ไร่

การอุตสาหกรรม[แก้]

ประชากรประมาณร้อยละ 10 ประกอบอาชีพอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากเขตพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่มาก โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาล มีจำนวน 6 โรงงาน และยังมีโรงงานผลไม้กระป๋อง โรงงานไม้อัด โรงงานฟอกย้อม โรงงานน้ำตาลทรายแดง โรงงานผลิตปุ๋ย โรงงานวุ้นเส้น ฯลฯ

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

อำเภอท่ามะกา มีโบราณสถานและปูชนียสถานที่สำคัญ ได้แก่

พระแท่นดงรัง เป็นปูชนียสถานที่ชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลพระแท่น ห่างจากที่ทำการอำเภอประมาณ 16 กิโลเมตร มีแท่นศิลาซึ่งถือเป็นที่บรรทมของพระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน ทุกปีเมื่อถึงวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ประมาณเดือนมีนาคม จะมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมานมัสการพระแท่นดงรังเป็นประจำทุกปี

โบราณสถานพงตึก ตั้งอยู่ใกล้กับวัดดงสัก หมู่ที่ 4 ตำบลพงตึก ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 6 กิโลเมตร พงตึกเป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี มีอายุประมาณ 1,000-2,000 ปี วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และบางส่วนยังเก็บรักษาไว้ที่วัดดงสัก

การคมนาคม[แก้]

การคมนาคม มีถนนติดต่อและขนส่งสินค้าในอำเภอและระหว่างอำเภอได้อย่างสะดวก เส้นทางคมนาคมที่สำคัญดังนี้

  • ทางรถยนต์
    • ถนนแสงชูโต (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323) เป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์คอนกรีต จากอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ผ่านอำเภอท่ามะกา ไปจังหวัดกาญจนบุรี
    • ถนนกำแพงแสน-พนมทวน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346) เริ่มจากอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผ่านอำเภอท่ามะกาในเขตตำบลหนองลาน ตำบลพระแท่น ตำบลอุโลกสี่หมื่น ไปยังอำเภอพนมทวน บรรจบกับถนนกาญจนบุรี-อู่ทอง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 324)
    • ถนนท่ามะกา-หนองตากยา (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3209) เริ่มจากตำบลท่ามะกา ผ่านตำบลหวายเหนียว ตำบลแสนตอ ไปเขตอำเภอท่าม่วง
    • ถนนท่าเรือ-พระแท่นดงรัง (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3081) ผ่านตำบลตะคร้ำเอน ไปเชื่อมกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 346 ในเขตตำบลพระแท่น
    • ถนนหวายเหนียว- หนองปลาหมอ (รพช.หมายเลข กจ.11023 ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ทช. กจ4029) เริ่มต้นจากตำบลหวายเหนียว ผ่านตำบลเขาสามสิบหาบ ตำบลโคกตะบอง ไปยัง หนองปลาหมอ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

นอกจากนั้น ยังมีทางหลวงท้องถิ่นติดต่อระหว่างตำบลและอำเภอใกล้เคียงครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ใช้สัญจรไปมาได้ตลอดปี

  • ทางรถไฟ มีทางรถไฟสายตะวันตกจากสถานีธนบุรี-สถานีน้ำตก โดยวิ่งผ่านตำบลดอนขมิ้น ตำบลท่าไม้ ตำบลท่ามะกา และเทศบาลเมืองท่าเรือพระแท่น

การให้บริการ[แก้]

การเดินทางในอำเภอท่ามะกา มีรถยนต์โดยสารประจำทางและรถไฟวิ่งให้บริการแก่ประชาชน ดังนี้คือ

  1. รถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี
  2. รถยนต์โดยสารประจำทาง ราชบุรี-กาญจนบุรี
  3. รถยนต์โดยสารประจำทาง บ้านโป่ง-กาญจนบุรี
  4. รถยนต์โดยสารประจำทาง ท่ามะกา-อำเภอด่านมะขามเตี้ย
  5. รถยนต์โดยสารประจำทาง ตลาดท่าเรือ-พระแท่น
  6. รถยนต์โดยสารประจำทาง บ้านห้วยกระบอก-ตลาดลูกแก
  7. รถไฟสายตะวันตกจากสถานีธนบุรี-สถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี

ทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

  • ทรัพยากรดิน ลักษณะดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย เหมาะสำหรับการปลูกข้าว และดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ต่าง ๆ
  • ทรัพยากรน้ำ

–แม่น้ำที่สำคัญ คือ แม่น้ำแม่กลอง ซึ่งไหลมาจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ผ่านตำบลตะคร้ำเอน ตำบลแสนตอ ตำบลท่ามะกา ตำบลหวายเหนียว ตำบลพงตึก ตำบลท่าไม้ ตำบลท่าเสา และตำบลดอนขมิ้น ซึ่งมีระยะที่ไหลผ่านอำเภอท่ามะกาประมาณ 15 กิโลเมตร

–คลองชลประทาน มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาให้บริการในเขตอำเภอท่ามะกา จำนวน 4 โครงการ คือ

  1. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่ามะกา รับผิดชอบส่งน้ำในท้องที่ตำบลแสนตอ ตำบลหวายเหนียว ตำบลพงตึก ตำบลท่าเสา ตำบลโคกตะบอง และตำบลเขาสามสิบหาบ
  2. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม รับผิดชอบส่งน้ำในท้องที่ตำบลตะคร้ำเอน ตำบลท่ามะกา ตำบลท่าไม้ ตำบลยางม่วง และตำบลดอนขมิ้น
  3. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากำแพงแสน รับผิดชอบส่งน้ำในท้องที่ตำบลท่าไม้ ตำบลดอนขมิ้น ตำบลสนามแย้ และตำบลยางม่วง
  4. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพนมทวน รับผิดชอบส่งน้ำในท้องที่ตำบลตะคร้ำเอน ตำบลอุโลกสี่หมื่น ตำบลหนองลาน และตำบลพระแท่น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]