อำเภอของประเทศอินโดนีเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำเภอ หรือ กาบูปาเต็น (อินโดนีเซีย: kabupaten; ดัตช์: regentschap) เป็นหน่วยการบริหารระดับที่สองของประเทศอินโดนีเซียรองลงมาจากจังหวัด ชื่อในภาษาอินโดนีเซีย กาบูปาเต็น บางครั้งสามารถแปลได้ว่า "เทศบาล" อำเภอและนครของประเทศอินโดนีเซียจะแบ่งย่อยลงไปอีกเป็นตำบล ซึ่งมีชื่อเรียกสองชื่อได้แก่ เกอจามาตัน (อินโดนีเซีย: kecamatan) และ ดิซตริก (อินโดนีเซีย: distrik) คำว่า ดิซตริก จะใช้เฉพาะในพื้นที่นิวกินีตะวันตก[1][2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

นายอำเภอชาวชวาในชุดเต็มยศ ประมาณ ค.ศ. 1900

ในภาษาอังกฤษ อำเภอของประเทศอินโดนีเซียจะเรียกว่า regency ซึ่งมีที่มาจากสมัยอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ โดยอำเภอในสมัยนั้นปกครองโดยนายอำเภอหรือ บูปาตี (อินโดนีเซีย: bupati) และมีชื่อเรียกว่า เรอเคนต์สคัป (ดัตช์: regentschap) หรือ กาบูปาเต็น (ชวา: kabupaten) ชื่อ กาบูปาเต็น ในภาษาชวาได้แพร่เข้ามาในภาษาอินโดนีเซียและใช้ในภาษาอินโดนีเซียจนถึงปัจจุบัน[3] ชื่อตำแหน่ง บูปาตี มีมาตั้งแต่ก่อนเนเธอร์แลนด์จะเข้าปกครองอินโดนีเซีย[4] และเมื่อเนเธอร์แลนด์ได้เข้าครองอินโดนีเซียและล้มล้างราชวงศ์เดิม บูปาตี ก็ยังคงได้รับการรักษาไว้[5][6][7] ชื่อตำแหน่ง บูปาตี นั้นมาจากภาษาสันสกฤต ภูมิปติ (สันสกฤต: भूमिपति) ซึ่งหมายถึงเจ้าผู้ครองนคร[8] และปรากฏเป็นชื่อตำแหน่งที่เข้าร่วมพระราชพิธีแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์บนจารึกเตอลากาบาตูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย[8][9]

สมัยอาณานิคมเนเธอร์แลนด์[แก้]

แม้ว่าชื่อตำแหน่ง บูปาตี จะส่อว่าผู้ปกครองท้องถิ่นจะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชนพื้นถิ่นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว บูปาตี จะรับคำสั่งจากขุนนางชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม[10][11][12] อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่าง บูปาตี กับตัวแทนของเนเธอร์แลนด์จะค่อนข้างก้ำกึ่งกัน รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีอำนาจทางกฎหมายและทางการทหารในอินโดนีเซีย (หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันออก) แต่ขุนนางตัวแทนของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะมีฐานะเป็นเพียงที่ปรึกษาให้กับ บูปาตี เท่านั้น[13]

ยุคหลังซูฮาร์โต[แก้]

หลังจากที่ซูฮาร์โตประกาศลาออกจากตำแหน่ง ได้มีการเคลื่อนไหวที่จะกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางเข้าสู่ระดับท้องถิ่นที่เรียกว่า เปอเมอการัน (อินโดนีเซีย: pemekaran) กฎหมายสำคัญหลายฉบับเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นถูกประกาศใช้ใน ค.ศ. 1999 จำนวนอำเภอและนครในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจากประมาณ 300 ในช่วงปลาย ค.ศ. 1998 เป็น 514 ใน ค.ศ. 2014 ซึ่งทำให้เป็นที่ถกเถียงในยุคปัจจุบันว่าอาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป รัฐบาลระดับสูงมองว่าควรชะลอหรือหยุดแบ่งเขตอำเภอหรือนครเพิ่ม ในขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นสนับสนุนให้มีเขตอำเภอหรือนครใหม่เพิ่มขึ้น[14] มีรายงานวิจัยว่าการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ระดับท้องถิ่นช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของแต่ละภูมิภาคได้[15]

สถิติ[แก้]

ใน ค.ศ. 2020 ประเทศอินโดนีเซียมี 416 อำเภอและ 98 นคร โดยเกาะสุมาตรามี 120 อำเภอ เกาะชวามี 85 อำเภอ หมู่เกาะซุนดาน้อยมี 37 อำเภอ เกาะบอร์เนียวมี 47 อำเภอ เกาะซูลาเวซีมี 70 อำเภอ หมู่เกาะโมลุกกะมี 17 อำเภอ และเกาะนิวกินีมี 40 อำเภอ[16]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Article 1.k, Undang-Undang Republik Indonesia Nomor 21 Tahun 2001 tentang Otonomi Khusus Bagi Provinsi Papua, 2001 (in Indonesian)
  2. Article 1.24, Undang-Undang Republik Indonesia Nomor 23 Tahun 2014 tentang Pemerintah Daerah, 2014 (in Indonesian)
  3. Indonesia Departemen Dalam Negeri (1985). Departemen Dalam Negeri, tugas, fungsi dan peranannya dalam pemerintah di Daerah (ภาษาอินโดนีเซีย). Departemen Dalam Negeri.
  4. Koesoemahatmadja, Djenal Hoesen (1978). Perkembangan fungsi dan struktur pamong praja ditinjau dari segi sejarah (ภาษาอินโดนีเซีย). Alumni.
  5. Suwarno, P. J. (1989). Sejarah birokrasi pemerintahan Indonesia dahulu dan sekarang (ภาษาอินโดนีเซีย). Penerbitan Universitas Atma Jaya Yogyakarta. ISBN 9789798109010.
  6. Raharjo, Supratikno; Munandar, Agus Aris (1998-01-01). Sejarah Kebudayaan Bali: Kajian Perkembangan dan Dampak Pariwisata (ภาษาอินโดนีเซีย). Direktorat Jenderal Kebudayaan.
  7. Poesponegoro, Marwati Djoened (1975). Sejarah nasional Indonesia: Jaman kebangkitan nasional dan masa akhir Hindia Belanda (ภาษาอินโดนีเซีย). Departemen Pendidikan dan Kebudayaan.
  8. 8.0 8.1 Setiawan, Irfan (2018-06-29). Handbook Pemerintahan Daerah (ภาษาอินโดนีเซีย). Wahana Resolusi. ISBN 9786025775185.
  9. Casparis, J.G., (1956), Prasasti Indonesia II: Selected Inscriptions from the 7th to the 9th Century A.D., Dinas Purbakala Republik Indonesia, Bandung: Masa Baru.
  10. Pakan, Djon (2002). Kembali ke jatidiri bangsa: Sumpah Pemuda Indonesia, Proklamasi 17 Agustus 1945, Pancasila, dan Undang-Undang Dasar 1945 : sejarah, filsafat, dan refleksi pemikiran kebangsaan (ภาษาอินโดนีเซีย). Millennium Publisher. ISBN 9789799437525.
  11. Adiwilaga, Rendy (2018-05-01). Kepemimpinan Pemerintahan Indonesia: Teori dan Prakteknya (ภาษาอินโดนีเซีย). ISBN 9786024751227.
  12. Pusat Studi Sunda (2004). Bupati di Priangan: dan kajian lainnya mengenai budaya Sunda (ภาษาอินโดนีเซีย). Pusat Studi Sunda.
  13. Hatmadji, Tri. Ragam Pusaka Budaya Banten (ภาษาอินโดนีเซีย). Direktorat Jenderal Kebudayaan. ISBN 9789799932402.
  14. Sitomorang, Yosua (9 June 2010). "Strategic Asia: When it comes to Regional Autonomy in Indonesia, Breaking Up Should be Harder to Do'". The Jakarta Globe. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-28.
  15. Siburian, Matondang Elsa (2020). "Fiscal decentralization and regional income inequality: evidence from Indonesia". Applied Economics Letters. 27 (17): 1383–6. doi:10.1080/13504851.2019.1683139.
  16. Putri, Arum Sutrisni (8 January 2020). "Jumlah Kabupaten dan Provinsi di Indonesia". KOMPAS.com (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ 14 July 2021.