อะมีเลีย แอร์ฮาร์ต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อะมีเลีย แมรี แอร์ฮาร์ต
เกิด24 กรกฎาคม พ.ศ. 2440
เสียชีวิต5 มกราคม พ.ศ. 2482 (41 ปี)
สัญชาติสหรัฐอเมริกา
มีชื่อเสียงจากสตรีคนแรกที่ขึ้นบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก
คู่สมรสจอร์จ พัทนัม
บุพการี
  • เอดวิน แอร์ฮาร์ต (บิดา)
  • เอมี แอร์ฮาร์ต (มารดา)

อะมีเลีย แมรี แอร์ฮาร์ต (อังกฤษ: Amelia Mary Earhart; 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 — หายสาบสูญ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2480; ทางการประกาศว่าเสียชีวิต 5 มกราคม พ.ศ. 2482) นักบินชาวอเมริกันและนักเขียน[1] เธอเป็นนักบินหญิงคนแรกที่บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก.[2] และสร้างสถิติมากมาย[3] เป็นหนึ่งในนักบินกลุ่มแรก ที่ส่งเสริมการบินพาณิชย์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์การบินของเธอ และมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง The Ninety-Nines องค์กรสำหรับนักบินหญิง[4]

พ.ศ. 2478 ได้บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากฮาวายสู่แคลิฟอร์เนีย อีกสองปีต่อมาอะมีเลียได้พยายามทำสถิติในการบินรอบโลก แต่ได้หายสาบสูญไปอย่างลึกลับ เหนือน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิก ในระหว่างทำการบินรอบโลกเมื่อปี พ.ศ. 2480


ชีวิตเมื่อเยาว์วัย[แก้]

อะมีเลีย แอร์ฮาร์ต เกิดที่เมืองแอตชิสัน รัฐแคนซัส ที่บ้านของอัลเฟรด โอตีสผู้เป็นปู่ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางและเป็นผู้ได้รับการนับหน้าถือตาในเมืองนี้ ปู่ของอะมีเลียไม่พอใจในตัวบุตรชายชื่อเอดวินซึ่งเป็นบิดาของเธอ กล่าวกันว่าการไม่ลงรอยกันแทบทุกเรื่อง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวของอะมีเลียแตกแยก และน่าจะมีผลต่อจิตใจในวัยเยาว์จนทำให้เธอกลายเป็น "ทอมบอย" เล่นซนอย่างเด็กผู้ชายและหันมาสนใจในการบินเมื่อเติบโตขึ้น

เมื่ออายุ 10 ขวบอะมีเลียได้เห็นเครื่องบินเป็นครั้งแรกที่รัฐไอโอวา แต่ก็ไม่สนใจเท่าใด ในปี พ.ศ. 2457 บิดาซึ่งได้งานดีเป็นผู้บริหารการรถไฟซึ่งทำให้ฐานะทางการเงินของครอบครัวดีขึ้นถูกให้ออกจากงาน เอมีผู้มารดาจึงพาอะมีเลียฝากเข้าเรียนชั้นมัธยมปีสุดท้ายที่ชิคาโกและเรียนจบในปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2461 เธอฝึกงานเป็นผู้ช่วยพยาบาลที่เมืองโทรอนโต แคนาดาที่ซึ่งพี่สาวอาศัยอยู่ แต่ปีต่อมาอะมีเลียก็เข้าเรียนเตรียมแพทย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและก็เลิกเรียนกลางคันเพื่อติดตามบิดาและมารดาไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย และที่เมืองลองบีชนั่นเองที่อะมีเลียและบิดาได้ไปชมการบินผาดโผนและขึ้นบินในวันรุ่งขึ้นเป็นเวลา 10 นาที

อะมีเลีย แอร์ฮาร์ต เริ่มเรียนการบินครั้งแรกสนามบิน "คินเนอร์" เมืองลองบีชโดยครูการบินชื่อแอนิตา สนูก นักบินสตรีรุ่นบุกเบิก และหกเดือนต่อมาเธอก็ซื้อเครื่องบินปีกสองชั้นยี่ห้อ ""คิสเซลแอร์สเตอร์" ชั้นสีเหลืองเมื่อ วันที่ 22 ตุลาคม 2465 และตั้งชื่อว่า "แคนารี" หรือนกขมิ้นและทำการบินสูงได้ถึงระดับ 14,000 ฟุต (4.2 กิโลเมตร)ทำลายสถิติโลกสำหรับนักบินสตรี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 อะมีเลีย แอร์ฮาร์ตก็ได้รับใบอนุญาตการบินนานาชาติ

ชีวิตการบินและการแต่งงาน[แก้]

รายได้ในการบินสูงไม่มาก อะมีเลีย แอร์ฮาร์ต จึงได้ขาย "คะแนรี" แล้วซื้อรถยนต์เก๋งยี่ห้อ "คิสเซลโรดสเตอร์" ใหม่สีเหลืองแล้วขับพามารดาซึ่งเพิ่งหย่ากับบิดาไปอยู่ที่เมืองบอสตันเพราะได้งานทำที่นั่น เธอสมัครเป็นสมาชิกสมาคมการบินแห่งชาติสาขาบอสตัน อะมีเลียได้ลงทุนสร้างสนามบินเล็ก และเป็นตัวแทนขายเครื่องบินคิสเซลไปด้วย ในขณะเดียวกันก็เขียนบทความเกี่ยวกับการบินลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในท้องถิ่น อะมีเลียได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์ว่า เป็นนักบินสตรีที่ดีที่สุดในสหรัฐ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะนักบินที่มีประสบการสูง

เครื่องบินลอกฮีด เวกา 5 บี บินโดยอะมีเลีย แอร์ฮาร์ต จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์อากาศยานและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา

หลังจากชาลส์ ลินด์เบิร์ก บินเดี่ยวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2470 ได้มีสุภาพสตรีอเมริกันผู้มั่งคั่งคนหนึ่งชื่อ "แอมี เกสต์" ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษประกาศว่า จะทำสถิติเป็นสตรีคนแรกที่จะบินหรือโดยสารเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่เมื่อไตร่ตรองแล้วเห็นว่า มีอันตรายมากจึงเปลี่ยนใจประกาศตนเป็นผู้อุปถัมภ์โครงการแทน

อะมีเลีย แอร์ฮาร์ตได้รับการทาบทามให้เป็นผู้โดยสารบินรวมกับนักบินชายชื่อ วิลเมอร์ ชุลท์และผู้ช่วยนักบิน-ต้นหนชื่อหลุยส์ กอร์ดอน ทั้งสามคนได้บินออกจากชายฝั่งนิวฟาวด์แลนด์ด้วยเครื่องบิน ฟอกเกอร์ เอฟ 7 ไปถึงสนามบินเบอร์รีพอร์ทในประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2471 โดยใช้เวลาบิน 21 ชั่วโมง ในระหว่างบินอะมีเลียได้มีโอกาสขับและทำบันทึกปูมการบินซึ่งส่วนหนึ่งเขียนว่า "ใครก็แล้วแต่ที่พบซากเครื่องบินนี้ ได้โปรดทราบด้วยว่าเป็นเพราะฉันบินหลงในพายุไปหนึ่งชั่วโมง" ทั้งสามคนกลับมารับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยขบวนพาเหรดโปรยกระดาษเทปตามถนนในนครนิวยอร์ก ได้เข้าพบประธานาธิบดี "แคลวิน คูลิดจ์" ที่ทำเนียบขาว และโดยที่เธอมีรูปร่างละม้ายชาร์ล ลินเบิร์ก จึงได้รับสมญาว่า "เลดี ลินดี"

หนึ่งในทีมสนับสนุนโครงการมีบุรุษผู้มีชื่อเสียงและเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์คือ "จอร์จ พัทนัม" ซึ่งได้ทำทุกอย่างให้อะมีเลียเป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการบินที่อะมีเลียเป็นผู้เขียนและการเป็น "พรีเซนเตอร์"ให้แก่สินค้ามากมายหลายชนิด ทำให้ทั้งสองสนิทสนมและตกลงแต่งงานกันเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 แต่อย่างไรก็ดี อะมีเลียถือว่าการแต่งงานคือการเป็นหุ้นส่วนกัน และได้เขียนจดหมายบอกให้พัทนัมได้ทราบว่า เธอจะให้เขามีอิสระไม่จำเป็นต้องมีใจซื่อตรงต่อเธอ และเธอก็จะถืออย่างเดียวกัน และในปีที่เธอแต่งงาน อะมีเลียได้ทำลายสถิติบินสูงของนักบินหญิงด้วยความสูง 5.613 กิโลเมตร

และแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 อะมีเลียได้บินเดี่ยวทับเส้นทางที่ลินเบิร์กได้ทำการบินเที่ยวประวัติศาสตร์ด้วยเครื่องบิน "ลอกฮีด เวกา" เครื่องยนต์เดียว แต่เนื่องจากพายุ สภาพน้ำแข็งและเครื่องยนต์ทำให้เธอจำต้องร่อนลงจอดบนทุ่งหญ้าใกล้เมืองลอนดอนเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือแทน แต่ก็นับเป็นการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

ความสำเร็จทำให้อะมีเลียได้รับกางเขนกล้าหาญ (Distinguished Flying Cross) จากรัฐสภาอเมริกัน ได้เหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลฝรั่งเศส ได้เหรียญทองของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติจากประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์

วันที่ 11 มกราคมอะมีเลีย เป็นคนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากฮาวายมาแคลิฟอร์เนีย บินเดี่ยวจากลอสแอนเจลิสถึงเม็กซิโกซิตีและบินกลับมาลงที่นิวเจอร์ซี อะมีเลียเป็นครองสถิติการบินต่างๆ เป็นจำนวนมาก และในปี พ.ศ. 2478 เธอได้เข้าร่วมงานสอนที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดิวเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านเส้นทางการประกอบอาชีพแก่นักศึกษาหญิงเมื่อจบการศึกษา

การบินรอบโลก[แก้]

อะมีเลีย แอร์ฮาร์ตได้รับเครื่องบิน "ลอกฮีด แอล-10อี อีเลกตรา" สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยเปอร์ดิวเมือเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2479 และได้เริ่มวางแผนการบินรอบโลก แม้จะไม่ใช่เป็นคนแรกแต่ก็เป็นการบินรอบโลกที่มีระยะทางไกลที่สุด (47,000 กิโลเมตร) โดยบินตามเส้นศูนย์สูตร แม้เครื่องอีเล็กตราจะได้ชื่อเป็น "ห้องทดลองบินได้" แต่การเตรียมทางด้านวิทยาศาสตร์กลับน้อยมาก ส่วนใหญ่เตรียมตามแนวของหนังสือเล่มต่อไปของอะมีเลีย "เฟรด นูแนน" แห่งลอสแอนเจลิส ได้รับเลือกเป็นต้นหนเนื่องจากมีประสบการณ์สูง และนูแนนเองรับงานก็เนื่องจากมีแผนที่จะตั้งโรงเรียนต้นหนการบินในฟลอริดา

ในวันเซนต์แพตริก พ.ศ. 2480 ทั้งสองได้ออกบินขาแรกจากโอกแลนด์ แคลิฟอร์เนียไปโฮโนลูลูและเริ่มบินต่อใน 3 วันต่อมาแต่ก็เกิดความเสียหายหนักควงบนพื้นเนื่องจากยางระเบิดขณะบินขึ้นทำให้ต้องส่งเครื่องกลับไปซ่อมแคลิฟอร์เนียและยกเลิกการเดินทาง เมื่อซ่อมเสร็จจึงเริ่มเดินทางใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ในครั้งนี้เปลี่ยนเป็นการบินไปทางตะวันออกโดยเริ่มต้นที่ไมอามี หลังลงจอดหลายแห่งตามทางในอเมริกาใต้ อัฟริกาและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองก็ได้มาถึงเมือง "แล" (Lae) นิวกินีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน

การเดินทางได้ผ่านมาแล้วรวม 35,000 กิโลเมตร ยังคงเหลืออีก 11,000 กิโลเมตรซึ่งเป็นการบินเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก และในเวลา 24.00 น.ตามเวลากรีนิช ทั้งสองได้บินขึ้นจากเมืองแลเพื่อตรงไปยังเกาะฮาวแลนด์ที่เป็นแผ่นดินราบยาว 2 กิโลเมตร กว้าง 500 เมตร สูง 3 เมตรจากระดับน้ำ อยู่ห่าง 4,113 กิโลเมตรไปทางตะวันออก

จากการรายงานตำแหน่งครั้งสุดท้ายของอะมีเลียแจ้งว่าอยู่เหนือเกาะนูกุมานู อยู่ห่างจากต้นทางประมาณ 1,300 กิโลเมตร เรือยามฝั่งชื่อ ไอทัสกา ได้รับหน้าที่ติดต่อวิทยุและควบคุมการบินลงเมื่อเครื่องบินของอะมีเลียเข้าถึงระยะติดต่อได้ แต่จากการติดต่อด้วยวิทยุมีปัญหาสับสนการนำทางโดยวิทยุจึงไม่บรรลุผล ในขณะนั้นก็ปรากฏว่ามีเมฆมากกระจายตัวทอดเงาลงบนทะเลดูคล้ายเกาะมากมายไปหมด แม้การติดต่อด้วยคำพูดของอะมีเลียกับเรือยามฝั่งที่บ่งบอกว่าได้มาถึงที่หมายแล้วและรู้ว่าพลาดเป้าไป 9 ไมล์ทะเล ก็ไม่ปรากฏตัวเครื่องบินให้เห็น การติดต่อได้ต่อเนื่องกระท่อนกระแท่นอยู่หลายชั่วโมงสัญญานจึงขาดหายไป มีผู้ได้รับสัญญาณของอีเลกตราที่หายไปได้รอบๆ แปซิฟิก

สหรัฐฯ ได้ใช้เงินถึง 4 ล้านเหรียญในการค้นหาอะมีเลียทั้งทางน้ำและทางอากาศ เป็นการค้นหาที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งยุคนั้น จนกระทั่งใน พ.ศ. 2483 จึงได้พบโครงกระดูกส่วนหนึ่งของสตรีผิวขาวซึ่งมีลักษณะตรงกับอะมีเลีย บนเกาะนิคุมาโรโร ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะฮาวแลนด์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปประมาณ 300 ไมล์ รวมทั้งพบรองเท้าสตรี กับเครื่องวัดระยะทางหาเส้นรุ้งและเส้นแวงซึ่งมีหมายเลขตรงกับที่นูแนนใช้ในบริเวณใกล้กับที่พบโครงกระดูกด้วย[5]

อ้างอิง[แก้]

  • Briand, Paul, Daughter of the Sky. New York: Duell, Sloan, Pearce, 1960.
  • Butler, Susan, East to the Dawn: The Life of Amelia Earhart. Reading MA: Addison-Wesley, 1997.
  • Devine, Thomas E., Eyewitness: The Amelia Earhart Incident. Frederick, CO: Renaissance House, 1987.
  • Goerner, Fred, The Search for Amelia Earhart. New York: Doubleday, 1966.
  • King, Thomas F.; Jacobson, Randall; Spading, Kenton; Burns, Karen Ramey; Amelia Earhart's Shoes. Lanham, MD: AltaMira Press, 2001. ISBN 0-7591-0130-2
  • Long, Elgen M., Amelia Earhart: The Mystery Solved. New York: Simon & Schuster, 1999.
  • Loomis, Vincent V., Amelia Earhart, the Final Story. New York: Random House, 1985.
  • Lovell, Mary S., The Sound of Wings. New York: St. Martin's Press, 1989.
  • Rich, Doris L., Amelia Earhart: A Biography. Washington DC: Smithsonian Institution Press, 1989.
  • Strippel, Dick., Amelia Earhart — The Myth and the Reality. New York: Exposition Press, 1972.

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Morey 1995, p. 11.
  2. Pearce 1988, p. 95.
  3. Oakes 1985.
  4. Lovell 1989, p. 152.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-24. สืบค้นเมื่อ 2013-07-20.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]