อรชุน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อรชุน
อรชุน
รูปปั้นอรชุนในถนนสายหนึ่งที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
คู่สมรสพระนางเทราปตี
นางจิตรางคทา
นางนาคอุลูปี
เจ้าหญิงสุภัทรา
บุตรศรุตเสน (เกิดจากพระนางเทราปตี)
อภิมันยุ (เกิดจากเจ้าหญิงสุภัทรา)
อิราวัต (เกิดจากนางนาคอุลูปี)
พภรุวาหนะ (เกิดจากนางจิตรางคทา)
ญาติกรรณะ(พี่ชาย)
ยุธิษฐิระ(พี่ชาย)
ภีมะ(พี่ชาย)
นกุล(น้องชาย)
สหเทพ(น้องชาย)

อรชุน (เทวนาครี : अर्जुन) เป็นหนึ่งในตัวละครเอกในมหากาพย์มหาภารตะ ชื่อนี้หมายถึง สว่าง ส่องแสง ขาว หรือ เงิน อรชุนเป็นนักยิงธนูที่มีฝีมือสูงส่ง ไม่มีใครเทียบได้ เป็นพี่น้องคนที่สามในบรรดาปาณฑพทั้งห้า เป็นลูกของนางกุนตี ภรรยาคนแรกของปาณฑุ และเป็นคนเดียวในพี่น้องปาณฑพที่ได้รับพรและอาวุธวิเศษจากเทพเจ้ามากที่สุดด้วย

ชื่อต่าง ๆ ของอรชุน[แก้]

ชื่อ อรชุน แปลว่า ผู้สวมเครื่องทรงและอาภรณ์สีขาว นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ อีก ได้แก่

  • ผาลคุน (फाल्गुन) ผาลฺคุน แปลว่า ผู้เกิดในดวงที่ตรงกับดาว อุตตระผลคุนี
  • ชิษณุ (जिष्णु ชิษฺณุ) แปลว่า ผู้ได้รับชัยชนะ
  • กิรีฏิน (किरीटिन् กิรีฏินฺ) แปลว่า ผู้สวมมงกุฎกิรีฏิ ที่ได้รับมาจากพระอินทร์
  • เศวตวาหนะ (श्वेतवाहन เศฺวตวาหน) แปลว่า ผู้ทรงรถม้าสีขาว ที่ได้รับมาจากพระอินทร์
  • พีภัตสุ (बीभत्सु พีภตฺสุ) แปลว่า ผู้ต่อสู้อย่างเป็นธรรม
  • วิชัย (विजय วิชย) แปลว่า ผู้ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่
  • ปารถะ (पार्थ ปารฺถ) แปลว่า บุตรของนางปฤถา (ชื่อเก่าของพระนางกุนตี)
  • สัพยสาจิน (सव्यसाचिन् สวฺยสาจินฺ สวฺยสาจิ) แปลว่า ผู้มากด้วยรัศมี
  • ธนัญชัย (धनञ्जय ธนญฺชย) แปลว่า ผู้นำความรุ่งเรือง
  • คุฑาเกศ (गुडाकेश คุฑาเกศ) แปลว่า ผู้สามารถควบคุมการนอนหลับของตนได้
  • กปิธวัช (कपिध्वज กปิธฺวช) แปลว่า ผู้มีธงรูปลิง (หนุมาน)
  • ปรันตปะ (परन्तप ปรนฺตป) แปลว่า ผู้มุ่งมั่นในการสังหารศัตรู
  • คาณฑีวะธร (गाण्डीवधर คาณฺฑีวธร) หรือ คาณฑีวะธารี (गाण्डीवधारी คาณฺฑีวธารี) แปลว่า ผู้ถือคันธนูคาณฑีวะ ที่ได้รับมาจากพระอัคนี
  • มัธยปาณฑพ (मध्यपाण्डव มธฺยปาณฺฑว) แปลว่า ปาณฑพคนกลาง

ของวิเศษของอรชุน[แก้]

  • คันธนูคาณฑีวะ ได้รับมาจากพระอัคนี
  • มงกุฎกิรีฏิ ราชรถสีขาว (เศวตวาหนะ) ศรอินทรศาสตร์ วัชระ และสังข์เทวทัตต์ ได้รับมาจากพระอินทร์
  • ศรปาศุปัต ได้รับมาจากพระศิวะ
  • ศรพรหมาสตร์ ศรพรหมเศียร ศรอาคเนยาสตร์ ศรวรุณาสตร์ ศรวายวยาสตร์ ศรตวัษตาร์ ศรอัญชลิกะ ฯลฯ ได้รับถ่ายทอดมาจากโทรณาจารย์

การเกิด[แก้]

อรชุนเป็นลูกของพระอินทร์ที่ประทานมาให้นางกุนตีเพราะท้าวปาณฑุต้องคำสาป จึงไม่สามารถมีลูกได้ มีพี่ 2 คนคือ ยุธิษฐิระกับภีมะ และมีน้องอีก 2 คน คือ นกุลกับสหเทพ อรชุนเป็นคนรูปงามมีฝีมือในการรบและพรสวรค์ในการยิงธนูมากที่สุด

ชีวิตวัยเด็กและการเรียน[แก้]

หลังจากท้าวปาณฑุตาย ก็ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงหัสตินาปุระ กลุ่มพี่น้องปาณฑพถูกกลั้นแกล้งหลายต่อหลายอย่างจากทุรโยธน์ และกลุ่มพี่น้องเการพ เพราะไม่ต้องการให้ยุธิษฐิระพี่คนโตของฝ่ายปาณฑพขึ้นครองราชย์ต่อจากท้าวธฤตราษฎร์ อรชุน และพี่น้องเข้าศึกษาในราชสำนักกับกฤปาจารย์ หลังจากนั้นก็ไปศึกษาต่อกับโทรณาจารย์ อรชุนใฝ่เรียนมากโดยเฉพาะวิชาธนู เขาแอบมาฝึกกับโทรณาจารย์และอัศวัตถามาในช่วงเวลาพักกลางวัน และยังมาฝึกยิงธนูในเวลากลางคืน จนสามารถยิงธนูในความมืดได้

การแต่งงานกับพระนางเทราปที[แก้]

หลังจากพวกปาณฑพหนีออกจากลักษาคฤหะ ก็ออกบวชเป็นฤๅษี วันหนึ่งฤๅษีวยาสมาบอกว่า พระนางเทราปที ลูกสาวของท้าวทรุปัทกำลังกระทำพิธีสยุมพรเลือกคู่ จึงอยากให้พี่น้องปาณฑพไปร่วมงานนั้นด้วย เมื่อถึงในงานได้พบพวกของทุรโยธน์ แต่เนื่องจากเหล่าปาณฑพบวชเป็นฤๅษี จึงไม่มีใครจำได้ วิธีการเลือกคู่ของพระนางเทราปทีนั้นก็คือให้เจ้าชายแต่ละเมืองยกธนูทองของพระศิวะ ซึ่งหนักเท่าภูเขาพันลูก ที่วางอยู่กลางสนามประลองขึ้น แล้วยิงให้ถูกตาของปลาปลอมที่ติดอยู่บนยอดเสา แต่ให้เล็งโดยใช้เงาจากในน้ำเท่านั้น ซึ่งอรชุนเท่านั้นที่ทำได้ และก็เป็นจริงดั่งว่าเพราะไม่มีเจ้าชายจากแคว้นใดเลยที่ยกได้ จนเมื่อมาถึงกรรณะ กรรณะสามารถยกธนูนั้นขึ้นได้อย่างง่าย ๆ แต่พระนางเทราปทีไม่ต้องการสยุมพรกับกรรณะเพราะว่ากรรณะเป็นวรรณะศูทรซึ่งนับเป็นวรรณะต่ำกว่า เมื่อเจ้าชายที่เหลือไม่สามารถยกได้ ก็เป็นโอกาสของพวกฤๅษี อรชุนที่ปลอมตัวมาจึงเข้าไปยก ปรากฏว่า อรชุนสามารถยกและยิงได้ถูกเป้าอีกด้วย เป็นเหตุให้พวกทุรโยธน์ไม่ยอมจึงเกิดการต่อสู้เพื่อแย่งพระนางเทราปทีขึ้น กรรณะอยากรู้ถึงฝีมือพราหมณ์ผู้นั้นจึงได้ดวลธนูกับอรชุน ส่วนที่เหลือเข้าไปสู้กับภีมะ แต่ก็ไม่มีใครต้านทานภีมะได้จนถึงท้าวศัลยะ ผู้เป็นพระมาตุลา เจ้าแห่งมวยปล้ำ เขาได้สู้กับภีมะอย่างสูสี จนทุรโยธน์เริ่มสงสัยว่าพราหมณ์เหล่านี้อาจจะเป็นปาณฑพที่รอดตายปลอมตัวมา สุดท้ายท้าวทรุปัทได้สั่งให้หยุดการต่อสู้กัน พวกปาณฑพจึงพาพระนางเทราปทีกลับที่พัก เมื่อถึงที่พักพระนางกุนตีที่เป็นมารดานึกว่าพวกเขาไปหาอาหารกันมา จึงบอกว่าวันนี้ได้อะไรมาให้แบ่งกันให้ครบ ๆ จะได้ไม่ต้องมาแย่งกัน แต่พอมารู้อีกทีก็ต้องตกใจเพราะพวกเขาได้ตัวพระนางเทราปทีมา แต่พวกยุธิษฐิระก็ตกลงว่าจะให้นางเทราปทีอยู่กับพวกปาณฑพทั้ง 5 คน ๆ ละปี โดยปีแรกจะอยู่กับยุธิษฐิระก่อนปีถัดมาถึงอยู่กับภีมะและก็ไล่ไปเรี่อย ๆ จนถึงสหเทพแล้วก็วนกลับมาที่ยุธิษฐิระใหม่ หากระหว่างที่นางเทราปทีอยู่กับสามีคนใดแล้วมีอีกคนเข้าไปยุ่งก็จะต้องเนรเทศตัวเองออกแล้วไปอยู่ป่าเป็นเวลา 12 ปี เมื่อภีษมะรู้ว่าพวกปาณฑพยังมีชีวิตอยู่จึงได้ไปพาให้กลับมาอยู่ที่กรุงหัสตินาปุระอย่างเดิม และเพื่อยุติปัญหาก็ได้ให้พวกปาณฑพไปสร้างเมืองอีกเมืองนึงอยู่ที่นอกอาณาเขตของกรุงหัสตินาปุระ ในดินแดนตอนเหนือที่ชื่อว่า ขาณฑวะปรัสถ์

การเผาป่าขาณฑวะปรัสถ์และการสร้างกรุงอินทรปรัสถ์[แก้]

พระอัคนี เกิดอาการประชวรขึ้น จึงไปพบพระพรหม พระพรหมจึงบอกว่า ในป่าขาณฑวะปรัสถ์มีพืชและสมุนไพรมาก ให้พระอัคนีเผาป่าเพื่อกินสมุนไพร แต่ในป่านั้นมีพญานาคชื่อ ตักษกะ ซึ่งเป็นสหายกับพระอินทร์ และ มายาสูร ผู้ช่วยของพระวิศวกรรม อาศัยอยู่ เมื่อพระอัคนีเผาป่าพระอินทร์จะส่งฝนลงมาดับไฟ พระอัคนีขอร้องให้พระกฤษณะและอรชุนช่วยตนในการเผาป่า โดยพระอัคนีได้มอบคันธนูคาณฑีวะ ให้อรชุน มอบจักรสุทรรศน์ และคทาเกาโมทกี ให้พระกฤษณะ อรชุนและพระกฤษณะรบกับพระอินทร์และกองทัพเทวดา รบกับตักษกะและกองทัพนาค รบกับมายาสูรและกองทัพอสูร แต่ทั้งสามกองทัพต่างพ่ายแพ้ พระอัคนีเผาป่าขาณฑวะปรัสถ์จนราบ ตักษกะนาคราชต้องหนีออกจากป่าไป ส่วนมายาสูรยอมแพ้มาขอพึ่งพาพระกฤษณะ เพราะกลัวจะถูกพระอัคนีเผา ส่วนพระอินทร์นั้นก็ยกย่องในฝีมือของอรชุน ผู้เป็นบุตร และได้บัญชาให้พระวิศวกรรมสร้างเมืองให้พวกปาณฑพชื่อว่า อินทรปรัสถ์ ส่วนมายาสูรได้สร้างพระราชวังให้พวกปาณฑพชื่อว่า มายาสภา

การเนรเทศตนเอง 12 ปี[แก้]

ก่อนจะเริ่มพิธีราชสูยะ ท้าวธฤตราษฎร์ได้ส่งวัวแสนตัวให้เป็นบรรณาการ ศกุนิได้วางแผนให้ตักษกะนาคราชมาขโมยวัวแสนตัวไป เพื่อแก้แค้นอรชุน เหล่าทหารที่ต้อนวัวมา ได้มาบอกอรชุนว่าวัวถูกขโมยไป อรชุนจึงไปหยิบอาวุธในตำหนักของยุธิษฐิระแต่ระหว่างนั้นพระนางเทราปตีกำลังเล่นสกาอยู่กับยุธิษฐิระ เมื่ออรชุนไปชิงวัวคืนมาได้อรชุนก็ต้องเนรเทศตัวเองตามที่สัญญาไว้ ทั้งๆ ที่อรชุนไม่จำเป็นต้องเนรเทศตัวเองก็ตาม การเนรเทศตัวเองครั้งนี้อรชุนได้ออกผนวชเป็นฤๅษี และเข้าสู่ติรฐายาตรา(การจาริกแสวงบุญ) โดยการนำของเทวฤๅษีนารัทมุนี

การแต่งงานกับนางจิตรางคทา[แก้]

อรชุนออกจาริกบุญโดยเริ่มจาก อินทรปรัสถ์ ไปยังกลิงคะ ไปยังอาศรมฤๅษีอคัสตยะ อาศรมฤๅษีวศิษฐ์ อาศรมฤๅษีภฤคุ จนกระทั่งเดินทางมาถึงเมืองมณีปุระ ท้าวจิตรวาหนะ เชิญฤๅษีอรชุนเข้ามาพำนักในพระราชวัง และให้บุตรี คือ นางจิตรางคทา คอยปรนนิบัติดูแล นางเกิดตกหลุมรักอรชุน พระราชาก็ทรงยอมให้แต่ง แต่อรชุนอยู่ที่นั่นได้ไม่นานก็ต้องออกจาริกต่อ นางจิตรางคทาตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตร ชื่อ พภรุวาหนะ

การแต่งงานกับนางนาคอุลูปี[แก้]

หลังออกจากมณีปุระ อรชุนเดินทางต่อไปจนถึงแม่น้ำคงคา อรชุนลงไปสรงน้ำ และถูกนางนาคอุลูปี รัดขาและลากลงไปในแม่น้ำคงคา นางได้สมสู่กับอรชุน จนตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชื่อ อิราวัต

อรชุนและสุภัทรา

การแต่งงานกับเจ้าหญิงสุภัทรา[แก้]

หลังออกจากเมืองบาดาล อรชุนเดินทางต่อไปที่แคว้นเกรละ และเดินทางต่อไปจนถึงทวารกา พระกฤษณะต้องการให้อรชุนแต่งงานกับสุภัทรา จึงเชิญอรชุนเข้าไปในพระราชวัง สุภัทราตกหลุมรักอรชุนทันทีที่แรกเห็น กฤษณะบอกให้อรชุนลักพาตัวสุภัทราเพื่อแต่งงาน อรชุนอยู่กับสุภัทราที่ทวารกา เมื่อหมดการเนรเทศก็เดินทางกลับอินทรปรัสถ์ สุภัทราตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรชื่อ อภิมันยุ

พิธีราชสูยะ[แก้]

ยุธิษฐิระ ได้ให้อรชุนนำสาน์สไปยังอาณาจักรต่างๆทางตอนเหนือ ได้แก่ สวรรณปรัสถ์ ปราณปรัสถ์ เทวปรัสถ์ ปราคชโยติษะ ตรีครรตะ พาหลีกะ วิศวคัสวะ ไกเกยะ กัมโพช คันธาระ ฤษิกะ กิมปุรุษะ กิราตะ กินนร คนธรรพ์ ยักษะ จนไปถึงหิมาลัย ประสบความสำเร็จ

การเนรเทศ 13 ปี[แก้]

หลังจากยุธิษฐิระแพ้พนันสกา เหล่าพี่น้องปาณฑพได้ออกเดินป่า เป็นเวลา 13 ปี

พระศิวะมอบศรปาศุปัตให้อรชุน

การบำเพ็ญตบะเพื่อขอศรปาศุปัต[แก้]

อรชุนในระหว่างที่เดินป่าได้ปลีกตัวไปบำเพ็ญตบะเพื่อขอศรปาศุปัตจากพระศิวะ จนกระทั่งพระศิวะพอพระทัย ก็เสด็จลงมาแปลงร่างเป็นพรานป่า ในขณะที่อรชุนกำลังบำเพ็ญตบะ มีหมูป่าพุ่งมาจะทำร้ายอรชุน อรชุนได้ยิงธนูใส่ปากของหมูป่า แต่เมื่อไปดูปรากฏว่ามีธนูอยู่สองดอก และมีพรานป่าแสดงตัวว่าเป็นผู้ยิง อรชุนไม่ยอมจึงสู้กับพรานป่า แต่ไม่อาจสู้ได้ อรชุนจึงยอมแพ้ พรานป่าคืนร่างเป็นพระศิวะ และมอบศรปาศุปัตให้อรชุน และยังมีบัญชาให้เทพโลกบาลทั้งสี่ คือ ท้าวกุเวร พระวรุณ พระยม และพระอินทร์มามอบศาตราวุธและของวิเศษให้แก่อรชุน หลังจากนั้นพระอินทร์ได้พาอรชุนผู้เป็นบุตรไปท่องสวรรค์

การท่องสวรรค์ของอรชุน[แก้]

อรชุนมาถึงเมืองอมรวดี บนสวรรค์ พระอินทร์ได้ต้อนรับอรชุนด้วยนางอัปสรทั้งสี่ คือ นางรัมภา นางเมนกา นางติโลตมา นางอุรวศี พระอินทร์ได้มอบของวิเศษให้อรชุนมากมาย และให้อรชุนเที่ยวชมได้ทั้งสวรรค์ ระหว่างอยู่ในสวรรค์อรชุนได้เรียนวิชาดีดพิณ ตีกลอง และการเต้นรำ จากคนธรรพ์จิตรเสน

การปราบพวกนิวัตกวัจและพวกกาลเกยะ[แก้]

พระอินทร์ได้ขอร้องให้อรชุนปราบอสูรสองเผ่า คือ พวกนิวัตกวัจ และ พวกกาลเกยะ ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์มาก อรชุนได้ลงไปยังเมืองใต้บาดาลของพวกนิวัตกวัจและใช้ศรโมหิณีและศรมาธวะทำลายเมืองของพวกเขา และขึ้นไปยังเมืองหิรัญปุระ บนอากาศ ของพวกกาลเกยะ และใช้ศรรุทระทำลายเมืองหิรัญปุระจนราบคาบ

อรชุนต้องคำสาปนางอุรวศี[แก้]

วันหนึ่งระหว่างที่อรชุน อยู่ในตำหนักบนสวรรค์ นางอุรวศีได้เข้ามายังห้องของอรชุน และต้องการเสพสมกับอรชุน แต่อรชุนปฏิเสธเพราะนางอุรวศี เคยแต่งงานกับท้าวปุรูรพ ปฐมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของตน นางอุรวศีจึงสาปให้อรชุนกลายเป็นขันที ไปตลอดชีวิต แต่พระอินทร์ได้ขอให้นางผ่อนผันคำสาป นางจึงลดให้เหลือแค่ปีหนึ่ง อรชุนจึงต้องกลายเป็นขันทีหนึ่งปี นั่นคือในปีสุดท้ายของการเนรเทศ

การลี้ภัยในราชสำนักท้าววิราฎ[แก้]

อรชุน ในร่างขันที ใช้ชื่อว่า พฤหันนลา ปลอมตัวเป็นครูสอนดนตรีและการเต้นรำ ให้กับนางอุตตรา บุตรีของท้าววิราฎ

การขับรถม้าให้เจ้าชายอุตตระ[แก้]

ทุรโยธน์สืบทราบว่า พวกปาณฑพอาศัยอยู่กับท้าววิราฏ จึงยกทัพมาตีแคว้นมัตสยะ เจ้าชายอุตตระ อาสาออกไปต้านทัพแต่เพียงผู้เดียวโดยมีพฤหันนลา เป็นสารถีให้ เมื่อเจ้าชายอุตตระมาถึงสมรภูมิ ได้เห็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ของหัสตินาปุระก็เกิดความเกรงกลัว และสั่งให้พฤหันนลาขับรถม้าหนี พฤหันนลาพาเจ้าชายมายังป่าที่พวกตนซ่อนอาวุธศักดิ์สิทธิ์ไว้ และแสดงตัวว่าเป็นอรชุน อุตตระไม่เชื่อ จึงให้พฤหันนลาบอกชื่ออื่นๆของอรชุนมาอีกสิบชื่อ เมื่อกล่าวชื่อจนครบอุตตระก็เชื่อ และขอร้องให้อรชุนรบกับกองทัพหัสตินาปุระ อรชุนรบกับ ภีษมะ โทรณาจารย์ กฤปาจารย์ ทุรโยธน์ ทุหศาสัน กรรณะ อัศวัตถามา ศกุนิ และวิกรรณะ อรชุนแผลงศรปราโมหนะ ทำให้ทุกคนสลบไป อรชุนจึงให้อุตตระไปขโมยผ้าคลุมไหล่ของทุรโยธน์ ทุหศาสัน กรรณะ อัศวัตถามา และศกุนิ มาให้กับตนเพื่อเป็นการแก้แค้นการเปลื้องอาภรณ์พระนางเทราปทีในราชสภา เมื่อ 13 ปีก่อน

อภิมันยุแต่งงานกับนางอุตตรา[แก้]

หลังจากปาณฑพเปิดเผยตัว และเตรียมรวบรวมกองทัพอยู่ที่แคว้นมัตสยะ อภิมันยุได้เดินทางมาหาอรชุน และได้พบกับนางอุตตรา ก็เกิดตกหลุมรัก อรชุนจึงยอมให้อภิมันยุแต่งงานกับอุตตรา

สงครามทุ่งกุรุเกษตร[แก้]

พระกฤษณะแสดงรูปเป็นพระวิศวรูป

ภควัตคีตา[แก้]

ก่อนการรบอรชุนเกิดความลังเลใจไม่อยากจะรบ พระกฤษณะได้แสดงรูปเป็นพระวิศวรูป และเทศนาเรื่องภควัตคีตา อรชุนจึงยอมรับที่จะเข้าร่วมรบในสงคราม

บทบาทในสงครามทุ่งกุรุเกษตร[แก้]

  • ในวันที่ 2 - 8 อรชุนรบกับภีษมะมาโดยตลอด ฝีมือต่างสูสีไม่อาจเอาชนะกันได้
  • ในวันที่ 9 พระกฤษณะจะขว้างจักรสุทรรศน์ใส่ภีษมะ แต่อรชุนห้ามไว้
  • ในวันที่ 10 อรชุนสังหารภีษมะ ด้วยความช่วยเหลือของศิขัณทิน
  • ในวันที่ 12 อรชุนสังหารท้าวภาคทัตต์
  • ในวันที่ 13 อรชุนสังหารสุศรรมา
  • ในวันที่ 14 อรชุนสังหารสุทักษิณ ท้าวศรุตายุธ ท้าววินทะ ท้าวอนุวินทะ และท้าวชัยทรัถ
  • ในวันที่ 17 อรชุนสังหารกรรณะ วฤษเสน ศัตรุญชัย และทวิปัต
  • ในคืนวันที่ 18 อรชุนแผลงศรพรหมาสตร์สู้กับศรพรหมเศียรของอัศวัตถามา

ชีวิตหลังสงคราม[แก้]

หลังจากสงครามสิ้นสุด ยุธิษฐิระขึ้นเป็นพระจักรพรรดิกรุงหัสตินาปุระ และได้ปราบดาภิเษกให้อรชุนครองกรุงอินทรปรัสถ์ อรชุนได้เผาทำลายราชรถเศวตวาหนะ เพราะว่าเขาไม่จำเป็นต้องใช้มันอีกแล้ว

พิธีอัศวเมธ[แก้]

หลายปีต่อมา ยุธิษฐิระทำพิธีอัศวเมธ ปล่อยม้าอัศวเมธออกไปยังอาณาจักรต่างๆ โดยมีอรชุนและวฤษเกตุลูกชายของกรรณะที่ถือกำเนิดหลังสิ้นสุดสงครามทุ่งกุรุเกษตรตามไปด้วย จนกระทั่งมาถึงเมืองมณีปุระ อรชุนได้พบกับพภรุวาหนะ ลูกชายที่เกิดจากนางจิตรางคทา แต่อรชุนจำไม่ได้จึงรบกับพภรุวาหนะ เขาสังหารวฤษเกตุ และสังหารอรชุนได้ด้วยลูกศรซึ่งได้รับมาจากพระแม่คงคา เพราะพระแม่คงคาแค้นอรชุนที่สังหารภีษมะ ผู้เป็นปู่ของตน จึงต้องการให้ลูกของเขาสังหารตัวเขาเอง ภีมะและพระกฤษณะต้องนำทัพมาช่วย นางนาคอุลูปี มเหสีอีกคนหนึ่งของอรชุน นำนาคมณีมาชุบชีวิตอรชุน ส่วนพระกฤษณะก็ชุบชีวิตวฤษเกตุ เมื่อทุกคนรู้ความจริงทั้งหมด ต่างก็ยุติสงคราม อรชุนดีใจมากที่ได้พบลูกของเขาอีกครั้ง อรชุน วฤษเกตุ ภีมะ และพระกฤษณะยกทัพกลับกรุงหัสตินาปุระ

ความตายของอรชุน[แก้]

36 ปีต่อมา ราชวงศ์ยาทพสูญสลาย พระพลรามและพระกฤษณะตาย อรชุนไปพาเจ้าหญิงลักษมณา บุตรีของทุรโยธน์ที่แต่งงานกับเจ้าชายสามพะ บุตรของพระกฤษณะ และมเหสีของพระกฤษณะ 16,108 นาง หนีมายังกรุงอินทรปรัสถ์ก่อนที่กรุงทวารกาจะจมทะเลในอีก 7 วันถัดมา ยุธิษฐิระสละราชบัลลังก์ ให้เจ้าชายปรีกษิต และเดินทางสู่เขาหิมาลัย อรชุนตกเขาตายระหว่างการเดินทางขึ้นเขาหิมาลัย ภีมะ ถามยุธิษฐิระว่า ทำไมอรชุนจึงขึ้นสวรรค์ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ยุธิษฐิระตอบว่า เพราะอรชุนหยิ่งยโสในความสามารถในการยิงธนูของเขา อรชุนจึงขึ้นสวรรค์ในขณะมีชีวิตอยู่ไม่ได้

อ้างอิง[แก้]

  • Hiltebeitel, Alf (1990). The ritual of battle: Krishna in the Mahābhārata. Albany, N.Y: State University of New York Press. ISBN 0-7914-0249-5. p61