อภิธานศัพท์ศาสนาอิสลาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นี่คือคำศัพท์เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

[แก้]

กะอฺบะหฺ (อาหรับ แปลว่า ลูกบาศก์) หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในมัสยิดอัลฮะรอม มหานครมักกะหฺ ซาอุดีอาระเบีย อันเป็นจุดศูนย์รวมของมุสลิมทั่วโลก เมื่อจะประกอบพิธีฮัจญ์ หรือต้องผินหน้าไปสู่เมื่อต้องการนมาซ

กิตาบ (อาหรับ แปลว่า หนังสือ) หมายถึง หนังสือเรียนศาสนาอิสลาม

กิบละหฺ, กิบลัต (อาหรับ แปลว่า ชุมทิศ) หมายถึง ทิศทางอันเป็นที่ตั้งของกะอฺบะหฺ ซึ่งมุสลิมหันหน้าเข้าหาเวลาละหมาด

กุรอาน, อัลกุรอาน หรือ อัลกุรอานุลกะรีม (อาหรับ แปลว่า การรวบรวม หรือการอ่าน) หมายถึงคัมภีร์ของอิสลามซึ่งถือว่าเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต เป็นคัมภีร์ที่อัลลอหฺที่ได้ทรงประทานให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เพื่อเป็นทางนำ แก่มนุษยชาติ

กุรบาน (อาหรับ แปลว่า การเข้าใกล้) ในอิสลามหมายถึง การเข้าใกล้ต่ออัลลอหฺด้วยการการเชือดสัตว์พลีต่อพระองค์ในวันอีดุลอัฎฮา

กุบูรฺ (อาหรับ) สุสาน

กุโบร์ สุสานมุสลิม ยืมจากภาษามลายู กุโบรฺ จาก กุโบรฺ จากภาษาอาหรับ ดู กุบูรฺ

กาฟิร (อาหรับ แปลว่า ผู้ปฏิเสธ ผู้ไม่ยอมรับ ผู้เนรคุณ) หมายถึงผู้ไม่ใช่มุสลิม หรือผู้ไม่ยอมรับสัจธรรมอิสลาม

กะลาม (อาหรับ) คำพูด

กะลิมะหฺ (อาหรับ) คำ

กะลิมะหฺ อัชชะฮาดะหฺ (อาหรับ แปลว่า คำสักขีพยาน) คือประโยค อัชหะดุ อัลลา อิลาหะ อิลลัลลอหฺ วะอัชฮะดุ อันนา มุฮัมมะดุร รอซูลุลลอหฺ "ข้าปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอหฺ และข้าปฏิญาณว่ามุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์" เป็นคำแรกที่ผู้จะรับนับถือศาสนาอิสลามต้องกล่าว

[แก้]

คอฏีบ (อาหรับ) ผู้บรรยายธรรมตักเตือนมุสลิม ก่อนการละหมาดวันศุกร์

คอเต็บ (มลายู ยืมจากอาหรับ) ดู คอฏีบ

คอตัน (อาหรับ) การขริบหนังที่ปลายอวัยวะเพศชาย ดู สุหนัต

คอตัม (มลายู ยืมจากอาหรับ แปลว่า ปิดท้าย) หมายถึงการอ่านอัลกุรอานจนจบเล่ม

เคาะวาริจญ์ (อาหรับ แปลว่า บรรดาคนที่ออก) พวกของอิมามอะลีย์ที่ปฏิเสธการปกครองของอิมามอะลีย์ ออกมาตั้งพรรคและนิกายใหม่ ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออะลีย์

คุฏบะหฺ (อาหรับ) การบรรยายธรรมตักเตือนมุสลิม

คุฏบะห์ ญุมอะหฺ (อาหรับ) การบรรยายธรรมตักเตือนมุสลิม ก่อนการละหมาดวันศุกร์

คุฏบะห์ นิกาฮฺ (อาหรับ) การบรรยายธรรมตักเตือนมุสลิมคู่บ่าวสาวที่จะแต่งงาน

[แก้]

เชาวาล เดือนที่ 10 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม

[แก้]

ซอฮีฮฺ ดู ศอฮีฮฺ

ซอฮาบะหฺ ดู ศอฮาบะหฺ

ซอฮาบีย์ คือ สาวก (ชาย) ของนบีที่ได้พบเห็นท่านนบีมุฮำมัด (ศ) และตายในฐานะมุสลิม

ซอฮาบียะหฺ คือ สาวก (หญิง) ของนบีที่ได้พบเห็นท่านนบีมุฮำมัด (ศ) และตายในฐานะมุสลิม

ซะกาต (อาหรับ) แปลว่า การทำให้บริสุทธิ์ หมายถึง การบริจาคทานบังคับ เช่น 2.5% ของเงินทองที่เหลือจากการใช้

ซิยาเราะหฺ (อาหรับ แปลว่า การเยี่ยม) ในชีอะห์หมายถึงการเยี่ยมสุสาน หรือการรำลึกถึงบรรดาผู้บริสุทธิ์ทั้งสิบสี่ท่านด้วยการอ่านดุอาอฺให้

ซุลเกาะอฺดะหฺ (หรือ ซุลกิอฺดะหฺ) เดือนที่ 11 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม

ซุลฮิจญะหฺ เดือนที่ 12 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม

ซุนนะหฺ ภาษาอาหรับ แปลว่า แนวทาง ในวิชาฮะดีษ และ อุศูลุลฟิกหฺ หมายถึง คำพูด การกระทำ หรือการยอมรับของท่านนบีมุฮำมัด (ศ) ในวิชาฟิกหฺ คือ การเจริญรอยท่านนบี (ศ) ด้วยการปฏิบัติตามสิ่งที่ท่านนบี (ศ) เคยปฏิบัติ ซึ่งถือว่าหากทำแล้วจะได้รับผลบุญ แต่ถ้าละทิ้งก็ไม่เป็นบาปแต่ประการใด

ซุนนีย์ (อาหรับ) ผู้ที่ยึดถือแนวทางอะห์ลุซซุนนะห์

ซุฮูรฺ อาหารที่ต้องรับประทานก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เพื่อที่จะทำการถือศีลอด

[แก้]

ดะอฺวะหฺ (อาหรับ แปลว่า การเชิญชวน) หมายถึงเผยแพร่ศาสนา

ดะอฺวะห์ตับลีฆ (อาหรับ แปลว่า การเชิญการเผยแพร่) องค์กรอิสลามที่ก่อตั้งในอินเดีย มีเป้าหมายฟื้นฟูและเผยแพร่ศาสนาอิสลามทุกท้องถิ่นทั่วโลก

ดัจญาล (อาหรับ แปลว่า ผู้หลอกลวง) หมายถึงผู้หลอกลวงมนุษย์ตั้งตนเป็นศาสดาศาสนาจอมปลอม ดัจญาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะปรากฏในยุคสุดท้าย สามารถชุบชีวิตคนตาย แสดงปาฏิหาริย์และแสดงนรกสวรรค์ปลอมให้มนุษย์เห็น

ดาอิม (อาหรับ แปลว่า ถาวร) ดู นิกาฮฺ ดาอิม

ดาอี (อาหรับ แปลว่า ผู้เชิญชวน) หมายถึงผู้เชิญชวนสู่ศาสนาอิสลาม

ดุอาอ์ (อาหรับ แปลว่า การวิงวอน) การขอในสิ่งที่ต้องการจากอัลลอหฺ

[แก้]

ตัมมัต (มลายู) ยืมจากอาหรับ ตัมมัต (กริยา แปลว่า บริบูรณ์) หมายถึงการอ่านอัลกุรอานจบหนึ่งเล่ม

ตัฟซีร (อาหรับ) การอรรถาธิบายอัลกุรอาน

ตะวีล (อาหรับ) การตีความหมาย เช่นการตีความหมายอัลกุรอาน หรือการทำนายฝัน

เตาฮีด (อาหรับ) เอกภาพ

[แก้]

นบี (อาหรับ)แปลว่า ผู้พยากรณ์, ศาสดาพยากรณ์ คือ บุรุษที่อัลลอหฺทรงติดต่อด้วยเพื่อให้ทราบเรื่องศาสนาของพระองค์

นมาซ (ฟารซี) แปลว่าการวิงวอนขอพรจากอัลลอหฺที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติ วันละห้าเวลา คือเวลารุ่งอรุณก่อนตะวันขึ้น (ฟัจญ์ริ) เวลาหลังเที่ยง (ซุหฺริ (ดุหฺริ) และ อัศริ) เวลาหลังตะวันตกดิน (มัฆริบ และ อิชาอ์) การนมาซถือว่าเป็นการทำอิบาดะหฺที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่ง เป็นหลักอิสลามข้อหนึ่งซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติ ดู ศอลาต

นะญาซะหฺ ดู นะญิส

นะญิส (อาหรับ) สิ่งสกปรกต่าง ๆ ในกฎบัญญัติอิสลามหมายถึงสิ่งสกปรกที่ห้ามรับประทาน หรือใช้สอย ตัวอย่างเช่นเลือด ปัสสาวะ เนื้อสุกร

นุบูวะห์ (อาหรับ) การเป็นศาสดาพยากรณ์

นัฟซุ (อาหรับ แปลว่า ร่างกาย จิตใจ ตัณหา) ใช้ในภาษาไทยและมลายู มีความหมายว่า ตัณหา

นิฟาซ, นิฟาส (อาหรับ) เลือดหลังคลอด สตรีที่ยังมีเลือดหลังคลอด ห้ามนมาซ หรือ ถือศีลอด

นิสฟู ชะอิบาน (อาหรับ) คืนวันเพ็ญแห่งเดือนชะอฺบาน เป็นวันเกิดของอิมามมะหฺดี

[แก้]

บะนี (อาหรับ) วงศ์วาน

บัยตุลลอหฺ (อาหรับ แปลว่า บ้านแห่งอัลลอหฺ) หมายถึง กะอฺบะหฺใน อัลมัสยิด อัลฮะรอม ในพระมหานครมักกะหฺ เป็นหลักของชุมทิศ ที่มุสลิมหันเข้าหาเมื่อนมาซ

บิลาล ชื่อสาวกศาสนทูต เป็นมุสลิมรุ่นแรก มีหน้าที่กล่าวคำอะซานเรียกผู้คนสู่การนมาซ เดิมเป็นทาส

บิลาล หรือ บิหล่าล (อาหรับ) ผู้ประกาศเรียกร้องมุสลิม สู่การนมาซเมื่อถึงเวลา เดิมเป็นชื่อของสาวกคนแรกที่ประกาศอะซาน มุอัซซิน ก็เรียก

[แก้]

ปอเนาะ (ยืมจากภาษามลายูกลาง ปนดก ยืมจากอาหรับ ฟุนดุก แปลว่า โรงแรม) โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่จัดเตรียมหอพักให้นักเรียนอาศัย

[แก้]

ฟัรดู ดู ฟัรฎ (อาหรับ การกำหนด การบังคับ) กฎบังคับ

ฟัรดูอัยนิ (อาหรับ) ข้อบังคับที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ในภาษาไทยเพี้ยนเป็น ฟัรดูอีน เช่น โรงเรียนฟัรดูอีน คือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่สอนวิชาภาคบังคับ เกี่ยวกับความเชื่อถือและการปฏิบัติ

ฟัรดูกิฟายะหฺ (อาหรับ) ข้อบังคับที่คนใดคนหนึ่งในชุมชนมุสลิมต้องปฏิบัติ เช่นการจัดการฝังศพผู้ตาย

ฟะกีหฺ (อาหรับ) นักนิติศาสตร์อิสลาม

ฟะรีเฎาะหฺ (อาหรับ) กฎข้อบังคับ

ฟิร่อก (อาหรับ พหูพจน์ของคำว่า ฟิรเกาะหฺ) กลุ่ม พวก

ฟิกหฺ (อาหรับ แปลว่า ความเข้าใจ) หมายถึงนิติศาสตร์ศาสนาอิสลาม

ฟุรูอฺ (อาหรับ) แขนง

ฟาฎิล (อาหรับ) ผู้มีเกียรติ

ฟาดีละห์ (อาหรับ) หญิงผู้สูงส่ง

[แก้]

มะมูม (อาหรับ) ผู้นมาซตามอิมาม

มะนีย์ (อาหรับ) น้ำอสุจิ

มะกอม (อาหรับ สถานที่ยืน) สถานที่อันเคยเป็นที่ยืน เช่น มะกอม อิบรอฮีม หรือสุสานของบุคคลสำคัญ

มุอัลลัฟ (อาหรับ) ผู้ที่พึ่งเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

มักรูหฺ (อาหรับ แปลว่า สิ่งที่น่ารังเกียจ) ในทางฟิกห์ หมายถึง สิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ หากละทิ้งจะได้รับผลบุญ แต่ถ้าหากปฏิบัติก็ไม่เป็นบาป

มับอัษ (อาหรับ แปลว่า กาลเวลา หรือ สถานที่ส่ง) การที่อัลลอหฺทรงได้ส่งมุฮัมมัดเป็นศาสนทูต

มัยยิต (อาหรับ) ศพ, ผู้ตาย ศอลาต มัยยิต การละหมาดให้แก่ศพมุสลิม

มัรยัม (อาหรับ จากฮิบรู) คือ มาเรีย ผู้เป็นมารดาศาสนทูตอีซา (เยซู)

มัสยิด (อาหรับ) ศูนย์รวมมุสลิมในชุมชนเพื่อทำการละหมาด ประชุม สอนหนังสือ หรืออื่น ๆ ในการทำกิจการที่ดี มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

มาซุ ญาวี, มาโซะ ญาวี (มลายู แปลว่า เข้าญาวี) หมายถึง การขลิบปลายหนังอวัยวะเพศชายเพื่อเข้าศาสนาของคนญาวี(มลายูมุสลิม)

มาซุ เมอลายู, มาโซะ มลายู (มลายู แปลว่า เข้ามลายู) หมายถึงการเข้ารีตของพวกมลายู นั่นคือ เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม

มิมบัร (อาหรับ) ธรรมาสน์ในมัสยิด ที่คอฏีบขึ้นยืนบรรยายธรรม ส่วนมากเป็นแท่นหรือพื้นยกระดับ

มุอัซซิน (อาหรับ) ผู้ประกาศเรียกร้องมุสลิม สู่การนมาซเมื่อถึงเวลา บิหล่าล หรือ บิลาล ก็เรียก

มุชฺริก (อาหรับ แปลว่า ผู้ตั้งภาคี) ในอิสลามหมายถึง ผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอหฺ เคารพบูชาสิ่งอื่นร่วมกับอัลลอหฺ

มุรีด (อาหรับ แปลว่า ผู้ต้องการ, ลูกศิษย์) ใช้ในภาษามลายูมีความหมายว่า นักเรียน ใช้ในวงการซูฟีย์ มีความหมายว่า ศิษย์

มุนาฟิก (อาหรับ แปลว่า คนสับปลับ) หมายถึง ผู้ที่แสดงตนเป็นมุสลิมแต่ซ่อนความปฏิเสธ หรือความสับปลับไว้ในใจ

มุอฺตะซิละหฺ (อาหรับ แปลว่า ชนผู้แยกตัว) สำนักปรัชญาหนึ่งในอิสลาม

มุอัลลิม (อาหรับ) ครู

มุฮัรร็อม (อาหรับ) เดือนแรกในปฏิทินอิสลาม

มูซา ศาสนทูตท่านหนึ่ง เป็นบุตรของอิมรอน ประสูติในอิยิปต์และเติบโตในวังของฟาโรห์ ในที่สุดได้ช่วยเหลือบะนีอิสรออีลให้พ้นจากการตกเป็นทาสของฟาโรห์

[แก้]

ยามีนะห์ (อาหรับ) ที่ถูกต้องและ เหมาะสม มีความสุข

ยารา  ผีเสื้อ เล็ก ๆ น้อย ๆ

ยาซัร (อาหรับ) ความมั่งคั่ง ความสะดวกสบาย ได้อย่างง่ายดาย

ยาซีน ตัวอักษร สอง เปิด Surah 36 ใน คัมภีร์อัลกุรอาน หนึ่งในชื่อที่ ผู้เผยพระวจนะ

ยาลอ แห ตาข่าย การทอดแห การกอบโกย การทำให้ได้ เปรียบเสมือนการทอดแห ให้ได้สิ่งนั้น (ปลา) มามากๆ

ยัซมิน ดอกไม้กลิ่นหอม มีสีขาว หรือ ดอกมะลิ

ยาวัร การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

[แก้]

รอมะฎอน เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน

รอชีด (อาหรับ) รอเสด , รอเศรษฐ์ แปลว่า ความเป็น ผู้นำที่ถูกต้องตามหลักศาสนา หรือ ผู้นำที่ประเสริฐยิ่ง

[แก้]

ละหมาด ดู นมาซ

ละอฺนัต หรือ ละอฺนะห (อาหรับ) การสาปแช่ง

ลาอิลาหะ อิลลัลลอหฺ มุฮัมมะดุร รอซูลุลลอหฺ (อาหรับ) คำปฏิญาณตนเพื่อเป็นมุสลิม มีความหมายว่า "ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอหฺ มุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอหฺ"

[แก้]

วะลีย์ (อาหรับ) ผู้ปกครอง

วาลี (อาหรับ) ผู้ปกครองเมือง

วาญิบ (อาหรับ) ที่บังคับ หมายถึง การปฏิบัติภาคบังคับในศาสนา

[แก้]

(ศ) หรือ (ศล) คือ อักษรย่อแทนประโยค "ศอลลัลลอหุ อะลัยฮิ วะอาลิฮี วะซัลลัม" (อัลลอหฺทรงประทานพรและความสันติแก่มุฮัมมัดและวงศ์วานของท่าน) ซึ่งใช้ต่อท้ายชื่อของท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ) เพื่อเป็นการให้เกียรติและยกย่องท่าน

ศอฟัร เดือนที่ 2 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม

ศอฮีฮฺ คือ สิ่งที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับ

ศอฮาบะหฺ คือ เหล่าผู้ที่มีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามในขณะที่ท่านนบีมุฮำมัด (ศ) มีชีวิตอยู่

ศอฮาบีย์ คือ บุรุษที่มีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามในขณะที่ท่านนบีมุฮำมัด (ศ) มีชีวิตอยู่

ศอฮาบียะหฺ คือ สตรีที่มีความศรัทธาต่อศาสนาอิสลามในขณะที่ท่านนบีมุฮำมัด (ศ) มีชีวิตอยู่

[แก้]

สุนัต การขริบหนังที่อวัยเพศชาย เป็นคำที่ยืมจากภาษามลายู ซูนัต ซึ่งมีความหมายเดียวกัน ยืมมาจากภาษาอาหรับ ซุนนะหฺ แปลว่า แนวทาง เข้าสุนัต ขริบหนังที่อวัยเพศชาย ยืมจากคำแรกของวลี มาซุก ญาวี (แปลว่า เข้าญาวี) ในภาษามลายู หมายถึง เข้า (ศาสนาของ) คนญาวี (มลายูมุสลิม) ด้วยการขลิบหนังอวัยวะเพศ

สุหนี่ ดู ซุนนีย์

[แก้]

อะมัล ใช้ในภาษามลายู หมายถึง การกระทำความดี หรือ การทำอิบาดะหฺ ยืมจากอาหรับ อะมัล แปลว่า การทำ

อะบีด (อาหรับ) ทาส

อะห์ลุซซุนนะห์ คือ ผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะฮ(แนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด)และยึดมั่นในสิ่งที่บรรดากลุ่มชนมุสลิมยุคแรก (บรรดาสาวกของท่านนบีและบรรดาตาบิอีน) และพวกเขารวมตัวกัน (เป็นกลุ่ม) บนพื้นฐานของซุนนะฮ

อะฮฺกาม (อาหรับ) พหูพจน์ของคำว่า ฮุกุม กฎบัญญัติศาสนาอิสลาม

อะบูบักร์ (อาหรับ) ชื่อของคอลีฟะฮฺ (ผู้นำ) ของโลกมุสลิมคนแรกหลังจากท่านร่อซูลได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่รักยิ่งในศาสนาอิสลาม และอยู่เคียงข้างท่านร่อซูลมาโดยตลอด จึงเป็นที่รักของมุสลิมทั่วโลก

อับดุ (อาหรับ) ทาส

อับดุลลอหฺ (อาหรับ) ทาสแห่งอัลลอหฺ เป็นชื่อของบิดาศาสนทูตมุฮัมมัด

อาซาน (อาหรับ) การเรียกร้อง การเชิญชวนสู่การนมาซ

อาบิด (อาหรับ แปลว่า ผู้บูชา ) หมายถึงมุสลิมผู้บูชาพระผู้เป็นเจ้า

อาลิม (อาหรับ แปลว่า ผู้รู้) หมายถึง ผู้รู้ในศาสนาอิสลาม

อามีน (อาหรับ) หมายถึง ขออัลลอฮฺทรงรับคำวิงวอน (ดุอาอฺ) ด้วยเถิด ใช้กล่าวหลังจากการวิงวอนขอดุอาอฺจากพระเจ้า และหลังจากการอ่านซูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺในขณะละหมาด

อนิส, อนิสา (อาหรับ) หมายถึง เด็กสาวผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล (ส่วนมากในไทยจะไม่ค่อยเห็นชื่อ อนิส มากนัก ส่วนมากจะเป็น นิสา- หรือ นิศา- เป็นส่วนใหญ่)

อิบาดะหฺ (อาหรับ) แปลว่า การบูชา คือการทำความเคารพภักดีต่ออัลลอหฺทุกรูปแบบ เช่น การนมาซ

อิมาน (อาหรับ) แปลว่า การศรัทธา ในอิสลามคือการศรัทธาต่ออัลลอหฺ

อิมาม, อิหม่าม (อาหรับ) แปลว่า ผู้นำ คือ ผู้นำในการทำละหมาด, ผู้นำในชุมชน, ผู้ที่มีความรู้และมีคุณธรรม, หรือผู้นำของชาวชีอะฮฺนั่นคืออิมาม 12 ท่าน

อิลมู (มลายู ยืมจาก อาหรับ : อิลมุ) วิทยาการ ความรู้

[แก้]

ฮัจญ์ (อาหรับ) การไปแสวงบุญที่นครมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้ที่ทำฮัจญ์แล้วเรียกว่า หัจญี (ที่ถูกต้องคือ ฮาจญ์)

ฮัจญะหฺ (อาหรับ : ฮาจญะหฺ) เป็นคำนำหน้าชื่อสตรีที่ไปประกอบพีธีฮัจญ์มาแล้ว เพื่อเป็นการให้เกียรติ

ฮันบะลีย์ หรือ ฮัมบะลีย์ (อาหรับ) ผู้ปฏิบัติตามสำนักนิติศาสตร์อิสลามของอะฮฺมัด บินฮันบัล

ฮะดียะหฺ (อาหรับ) ของขวัญ

ฮะนะฟีย์ (อาหรับ) ผู้ปฏิบัติตามสำนักนิติศาสตร์อิสลามของอะบูฮะนีฟะห์ นุอฺมาน บินษาบิต

ฮะดีษ (อาหรับ คำพูด) คำพูด การกระทำ และการยอมรับของศาสนทูตมุฮัมมัด นิยมแปลว่า พระวจนะของศาสนทูต

ฮะรอม (อาหรับ แปลว่า สิ่งต้องห้าม) สิ่งที่กฎบัญญัติศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้ทำ อาหารฮะรอม คืออาหารที่ผิดกับหลักศาสนาอิสลาม เช่นสุรา หรือเนื้อสุกร

ฮะลาล (อาหรับ แปลว่า สิ่งที่ถูกอนุมัติ) สิ่งที่กฎบัญญัติศาสนาอิสลามอนุมัติให้ทำ อาหารฮะลาล คืออาหารที่ไม่ผิดกับหลักศาสนาอิสลาม

ฮากิม (อาหรับ) ผู้ปกครองหรือผู้พิพากษา ฮากิม ชัรอีย์ คือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินคดีตามบทบัญญัติอิสลาม

ฮาฟิซ (อาหรับ ผู้รักษา) หมายถึงผู้ท่องจำอัลกุรอาน

ฮิจเราะหฺ, ฮิจเราะห์ (อาหรับ แปลว่า การอพยพ) หมายถึงการอพยพของศาสนทูตมุฮัมมัดจากมักกะหฺไปยังนครมะดีนะหฺ

ฮิดายะหฺ (อาหรับ) ทางนำสู่ศาสนาที่เที่ยงตรง

ฮิกมะหฺ (อาหรับ) วิจารณญาณในการทำสิ่งที่เหมาะสมกับกาลเทศะ

ฮุกุม (อาหรับ) กฎบัญญัติศาสนา

ฮุดูด (อาหรับ แปลว่า ขอบเขต) หมายถึงการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา

ฮุซัยนียะหฺ (อาหรับ) สถานที่ที่จัดทำพิธีรำลึกถึงอสัญกรรมของอิมามฮุเซน

ฮุดา (อาหรับ) ทางนำที่เที่ยงตรง

เฮฎ (อาหรับ) เลือดประจำเดือนของสตรี ช่วงที่มีเฮฎ ไม่อนุมัติให้สตรีทำการนมาซหรือถือศีลอด

เฮาซะหฺ (อาหรับ) สถาบันสอนศาสนาอิสลาม มีการจัดระบบคล้ายกับปอเนาะ

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]