หมึกกระดอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หมึกกระดอง
หมึกกระดองไม่ทราบชนิด
หมึกกระดองขณะฝังตัวใต้ทราย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Cephalopoda
ชั้นย่อย: Coleoidea
อันดับใหญ่: Decapodiformes
อันดับ: Sepiida
Zittel, 1895[1]
อันดับย่อย และ วงศ์
ลิ้นทะเล

หมึกกระดอง เป็นมอลลัสคาประเภทหมึกอันดับหนึ่ง ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sepiida

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

คำว่า Sepiida หรือ sepia ในภาษาอังกฤษนั้น หมายถึง "สีซีเปีย" หรือสีน้ำตาลเข้ม อันหมายถึง หมึกของหมึกกระดองนั่นเอง ซึ่งในอดีตได้ในการนำหมึกของหมึกกระดองมาทำเป็นหมึกใช้สำหรับการเขียนหรือตีพิมพ์[2] [3]

ลักษณะ[แก้]

หมึกกระดอง นั้นมีรูปร่างคล้ายกับหมึกกล้วย แต่มีรูปร่างที่กลมป้อมกว่า อันเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ภายในโครงร่างภายในเป็นแผ่นหินปูนรูปกระสวยสอดอยู่กลางหลังเรียกว่า ลิ้นทะเล แผ่นหินปูนนี้มีช่องว่าง ภายในมีของเหลวและแก๊สบรรจุอยู่ ช่วยในการลอยตัวได้เป็นอย่างดี มีหนวดทั้งสิ้น 10 หนวดเหมือนกับหมึกกล้วย มีหนวดยาว 2 เส้นใช้สำหรับจับเหยื่อเช่นเดียวกับหมึกกล้วย แต่ปลายหนวดไม่ได้แผ่แบนออกกว้าง [3] และสามารถหดเข้าไปในกระเปาะได้[4]

โดยมากแล้ว หมึกกระดอง จะเป็นหมึกที่อาศัยอยู่เป็นคู่หรือตามลำพังตัวเดียว ไม่ได้อยู่รวมเป็นฝูงใหญ่เหมือนหมึกกล้วย และจะอาศัยอยู่ตามโพรงหินใต้น้ำใกล้กับพื้นน้ำ ว่ายน้ำด้วยการลอยตัวแล้วใช้แผ่นบางใสเหมือนครีบข้างลำตัวพลิ้วไปมา ผิดกับหมึกจำพวกอื่น ซึ่งครีบนี้จะไม่เชื่อมต่อกับตอนท้ายของลำตัว และมักเป็นหมึกที่ไม่เกรงกลัวมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักประดาน้ำและนักถ่ายภาพใต้น้ำ[5] รวมถึงบางครั้งจะนอนหรือฝังตัวอยู่ใต้ทรายหรือกรวดตามหน้าดินด้วย

หมึกกระดอง สามารถเปลี่ยนสีได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับหมึกจำพวกอื่น แต่การเปลี่ยนสีของหมึกกระดองจะต่างไปจากหมึกกล้วย คือ มักจะปรับสีสันบนลำตัวให้มีสีสันและลวดลายกลมกลืนเป็นสีน้ำตาลเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่อาศัยอยู่ ในขณะเดียวกันสีสันบนลำตัวก็สามารถจะปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ความรู้สึก เช่น ตอนที่กำลังเกี้ยวพาราสีกัน ก็จะปรับเปลี่ยนสีสันบนลำตัวไปตามอารมณ์ด้วย[5]

หมึกกระดองโดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 15-25 เซนติเมตร (5.9-9.8 นิ้ว) โดยชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ หมึกกระดองยักษ์ออสเตรเลีย มีความยาวลำตัวได้ถึง 50 เซนติเมตร (20 นิ้ว) และมีน้ำหนักมากกว่า 10.5 กิโลกรัม (23 นิ้ว) [6]

วงจรชีวิต[แก้]

วงจรชีวิตของหมึกกระดองนั้นไม่ยืนยาวเช่นเดียวกับหมึกประเภทอื่น โดยหมึกตัวเมียจะมีอายุราว 240 วัน หลังจากเติบโตเต็มที่ ผสมพันธุ์ และวางไข่ จากนั้นหมึกตัวเมียก็จะตายลง ในขณะที่หมึกตัวผู้จะมีอายุยาวนานกว่า การเกี้ยวพาราสีของหมึกกระดองนั้นจะเริ่มขึ้นจากหมึกตัวผู้และตัวเมียว่ายจับคู่คลอเคลียกัน โดยหมึกตัวเมียจะมองหาทำเลที่เหมาะกับการวางไข่ ซึ่งอาจจะเป็นโพรงหรือซอกหลืบปะการัง หรืออาจเป็นตามแผ่นกัลปังหาที่เรียงรายทับซ้อนกัน คล้ายเป็นที่กำบังอย่างดี หมึกตัวผู้และหมึกตัวเมียจะว่ายคลอเคลียเคียงคู่กันไปมาช้า ๆ คล้ายกับการเต้นลีลาศ สีสันและลวดลายบนลำตัวจะปรับเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วราวกับแสงนีออน เป็นการบ่งบอกอารมณ์ของทั้งคู่ เมื่อถึงการผสมพันธุ์ทั้งคู่จะว่ายน้ำหันหน้ามาแนบชิดกัน แล้วใช้หนวดโอบกอดสอดประสาน หมึกกระดองตัวผู้จะใช้หนวดยาวคู่พิเศษล้วงเอาถุงสเปิร์มในลำตัวสอดเข้าไปเก็บไว้ในลำตัวของหมึกกระดองตัวเมียเพื่อผสมกับไข่ ทั้งคู่จะจับคู่กันราว 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นหมึกตัวเมียจะเริ่มวางไข่ โดยใช้หนวดนำไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจากภายในออกมา ค่อย ๆ บรรจงยื่นไปวางติดไว้ในโพรงที่เตรียมไว้ทีละฟอง จำนวนไข่ที่วางครั้งหนึ่งอาจมีมากมายนับพันฟอง ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างทุ่มเทเป็นเวลายาวนานหลายวัน ในขณะที่หมึกตัวผู้ก็จะว่ายคลอเคลียไม่จากไปไหน เพื่อคอยป้องกันภัยให้ และป้องกันไม่ให้หมึกตัวผู้อื่น ๆ ที่ยังหาคู่ไม่ได้ มาก่อกวน[7]

ขณะที่หมึกกระดองตัวเมียหลังจากวางไข่แล้ว จะวนเวียนเฝ้าไข่อยู่แถวนั้น จนร่างกายอ่อนเพลียเรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงไปทีละน้อย ๆ น้ำหนักตัวจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ และตายลงไปในที่สุด โดยที่ไข่ของหมึกกระดองเมื่อฟักออกมา ลูกหมึกวัยอ่อนจะมีรูปร่างเหมือนกับหมึกกระดองวัยโตแต่มีขนาดเล็กกว่า และใช้ชีวิตเป็นแพลงก์ตอน โดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เช่นเดียวกับหมึกประเภทอื่น[7]

การประมง[แก้]

หมึกกระดอง เป็นหมึกประเภทหนึ่งที่นิยมรับประทาน จึงมีคุณค่าทางประมง สำหรับชาวประมงชาวไทยจะทำการจับหมึกหรือที่เรียกว่า "ไดหมึก" โดยจะเปิดไฟล่อหมึกจนคิดว่าหมึกมีพอแล้ว จึงเริ่มด้วยการกางอวน แหยักษ์ หรือมุ้ง ซึ่งจะกางไว้ด้านหนึ่งของเรือ ชาวประมงจะปิดไฟด้านที่ไม่ได้กางอวน เหลือไฟไว้เพียงด้านที่กางอวน ทั้งปลาและหมึกจะมารวมกันด้านนี้ ทิ้งไว้สัก 3-5 นาที ชาวประมงจะเร่งไดให้ไฟแรงขึ้น ก่อนจะหรี่ไฟลงจนเกือบดับ แล้วปล่อยอวน แหยักษ์ หรือมุ้งลงมาครอบ การไดหมึกจะทำได้ผลตอนช่วงเดือนมืด ปรกติจะอยู่ระหว่างแรม 4 ค่ำถึงขึ้น 8 ค่ำ เดือนหนึ่งทำได้ 22-24 วัน

การจับหมึกกระดองอีกวิธีหนึ่งที่ทำกันมาก คือการใช้ลอบหมึก ลอบหมึกจะถูกนำไปวางไว้บริเวณกองหินใต้น้ำ ซากเรือจม หรือตามเกาะ กะระดับน้ำลึกสัก 10-30 เมตร ชาวประมงจะทำการกู้ลอบทุกวัน ๆ ละ 1-2 ครั้ง[4]

การอนุกรมวิธาน[แก้]

ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานหมึกกระดองไว้แล้วมากกว่า 120 ชนิด

หมึกกระดองขนาดใหญ่กับนักประดาน้ำ
ภาพเคลื่อนไหวของหมึกกระดองในธรรมชาติ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก ITIS.gov
  2. sepia ใน ไทย
  3. 3.0 3.1 Phylum Mollusca โดย รศ.นันทพร จารุพันธ์
  4. 4.0 4.1 "หมึกกระดอง จากกรมประมง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-08. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.
  5. 5.0 5.1 หมึกกล้วย / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  6. Reid, A., P. Jereb, & C.F.E. Roper 2005. Family Sepiidae. In: P. Jereb & C.F.E. Roper, eds. Cephalopods of the world. An annotated and illustrated catalogue of species known to date. Volume 1. Chambered nautiluses and sepioids (Nautilidae, Sepiidae, Sepiolidae, Sepiadariidae, Idiosepiidae and Spirulidae). FAO Species Catalogue for Fishery Purposes. No. 4, Vol. 1. Rome, FAO. pp. 57–152.
  7. 7.0 7.1 "ท่องโลกใต้ทะเล รักในห้วงลึกของหมึกกระดอง โดย วินิจ รังผึ้ง จากนิตยสาร อสท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2013-03-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]