หน่วยมวลอะตอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

หน่วยมวลอะตอม (อังกฤษ: unified atomic mass unit u) หรือ ดัลตัน (dalton Da) เป็นหน่วยที่ใช้ในการวัดมวลของอะตอม และ โมเลกุล โดยคำจำกัดความแล้วกำหนดให้เท่า 1 หน่วยมวลอะตอม เท่ากับ 1/12 ของมวลของ อะตอม 1 อะตอมของคาร์บอน-12

1 u = 1/NA กรัม = 1/ (1000 NA) กิโลกรัม    (โดยที่ NA คือ เลขอาโวกาโดร (Avogadro's number)
1 u ≈ 1.66053886 x 10-24 g

สัญลักษณ์ของหน่วยนี้คือ amu ย่อมาจาก atomic mass unit ยังมีใช้ในงานตีพิมพ์เก่า ๆ โดยทั่วไปหน่วยมวลอะตอมนี้จะเขียนโดยไม่มีหน่วยกำกับ ในบทความวิชาการทาง biochemistry และ molecular biology นั้นจะใช้หน่วย ดัลตัน ย่อ "Da" เนื่องจากโปรตีน นั้นเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจึงมีการใช้หน่วย กิโลดัลตัน หรือ "kDa" เท่ากับ 1000 ดัลตัน

ประวัติ[แก้]

นักเคมีชื่อ จอห์น ดัลตัน (John Dalton) เป็นบุคคลแรกที่นำเสนอการใช้หน่วยสัมพัทธ์ โดยเปรียบเทียบกับ 1 อะตอมของH ต่อมาฟรานซิส แอสตัน (Francis Aston) ผู้คิดค้นเครื่อง mass spectrometer ได้เปลี่ยนมาใช้ 1/16 ของมวลของอะตอมของ ออกซิเจน-16

ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1961 นั้น 1 หน่วยมวลอะตอมในทางฟิสิกส์นั้นจะใช้หมายถึง 1/16 ของมวลอะตอมของ ออกซิเจน-16 1 อะตอม ในขณะที่ 1 หน่วยมวลอะตอมในทางเคมีนั้นจะหมายถึง 1/16 ของค่าเฉลี่ยมวลของอะตอมออกซิเจน (คิดเฉลี่ยจากปริมาณของทุก ไอโซโทป ในธรรมชาติ) ซึ่งค่าทั่งสองดังกล่าวข้างต้นจะมีค่าต่ำกว่าค่า 1 หน่วยมวลอะตอมมาตรฐานในปัจจุบันเล็กน้อย ค่าในปัจจุบันนี้เป็นค่าที่ยอมรับเป็นค่ามาตรฐานโดย International Union of Pure and Applied Physics ในปี ค.ศ. 1960 และโดย the International Union of Pure and Applied Chemistry ในปี ค.ศ. 1961