สุภาว์ เทวกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา
เกิด7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต5 กันยายน พ.ศ. 2536 (65 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
นามปากกาสุภาว์ เทวกุล
รจนา, ศิระ ส., ส. สุภารัตน์
อาชีพนักเขียน
แนวเรื่องสั้น นวนิยาย บทละครโทรทัศน์
คู่สมรสหม่อมราชวงศ์ทัดเทพ เทวกุล
บุตร5 คน

สุภาว์ เทวกุลฯ เป็นนามปากกาของ สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา (7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 - 5 กันยายน พ.ศ. 2536) นักเขียนนวนิยาย และเรื่องสั้น เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมาคมติดต่อกันมาหลายปี และได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 6 ต่อจากครูแก้ว อัจฉริยะกุล ระหว่างปี พ.ศ. 2521 - 2525 จำนวน 2 สมัย

ประวัติ[แก้]

สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา เดิมชื่อ สุภาว์ ภูมิรัตน เกิดที่กรุงเทพ เป็นบุตรคนสุดท้องของหลวงประกาศโกศัยวิทย์ (เสริม ภูมิรัตน) กับนางพิศ ภูมิรัตน ศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนสตรีจุลนาค โรงเรียนราชินีบน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้าแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แต่ไม่ได้เรียน

สุภาว์เป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนราชินีอยู่ระยะหนึ่ง แล้วสมรสกับหม่อมราชวงศ์ทัดเทพ เทวกุล มีบุตรธิดา 5 คน คือ

  • หม่อมหลวงสุภรัตน์ เทวกุล
  • หม่อมหลวงภาว์รัตน์ จารุจินดา (สมรสกับพันโทสนิทพงศ์ จารุจินดา)
  • หม่อมหลวงกุลรัตน์ อึ้งอร่าม (สมรสกับนายอภิสิทธิ์ อึ้งอร่าม)
  • หม่อมหลวงเทพรัตน์ เทวกุล
  • หม่อมหลวงเบ็ญจารัตน์ โควินท์ทวีวัฒน์ [1]

โดยสามีเสียชีวิตตั้งแต่บุตรสาวคนโตอายุเพียง 10 ปี และบุตรสาวคนสุดท้องอายุเพียงสิบเดือน สุภาว์ต้องเลี้ยงดูลูกๆ ทั้งห้าคนตามลำพัง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินเพิ่มเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรธิดาทุกเดือน

สุภาว์ เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นครั้งแรก ตีพิมพ์ในนิตยสาร "โบว์แดง" รายสัปดาห์ และนิตยสาร "ศรีสัปดาห์" หลังจากสามีเสียชีวิต ได้เริ่มเขียนนวนิยายเป็นอาชีพ เริ่มตั้งแต่เรื่อง สะใภ้จ้าว และมีผลงานเรื่องสั้นกว่า 300 เรื่อง [2]

ในระยะหลัง สุภาว์หันมาเขียนบทละครโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษ ผู้บรรยายเรื่องการเขียนบท ให้กับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น บทละครเรื่อง "ประตูสีเทา" และ "ปริศนา"

นอกเหนือจากงานที่สมาคมนักเขียนแล้ว สุภาว์ เทวกุล ยังร่วมทำงานในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ [2]

สุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2536 อายุ 65 ปี ขณะที่นวนิยายเรื่องสุดท้าย ชื่อ "วันวารที่ผ่านไป" เพิ่งเผยแพร่ได้เพียงตอนเดียว ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งกองทุนชื่อ "กองทุนรางวัล สุภาว์ เทวกุล" เพื่อประกวดรางวัลวรรณกรรมดีเด่นประเภท นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละคร เป็นประจำทุกปี โดยพิธีมอบรางวัลกระทำในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของสุภาว์ เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2538

รายชื่อผลงาน[แก้]

  • ไม้แปลกป่า
  • แค่เอื้อม
  • ละอองเทศ
  • ไฟ
  • เยี่ยมวิมาน
  • มนุษย์
  • ไฟใต้น้ำ
  • บางส่วนของหัวใจ
  • รักต้องห้าม
  • หัวใจไม่มีประตู
  • ถนนชีวิต
  • สะใภ้จ้าว (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2545 และ 2558 ช่อง3)

อ้างอิง[แก้]

  1. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. เสี้ยวศตวรรษ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), พ.ศ. 2539. 263 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-89658-0-5
  2. 2.0 2.1 ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4