สะพานพิทยเสถียร

พิกัด: 13°43′55″N 100°30′55″E / 13.731850°N 100.515183°E / 13.731850; 100.515183
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สะพานพิทยเสถียร
สะพานพิทยเสถียรและอาคารชัยพัฒนศิลป์ ยามค่ำคืน
เส้นทางถนนเจริญกรุง
ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม
ที่ตั้งแขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง
แผนที่

สะพานพิทยเสถียร หรือสะพานเหล็กบน เป็นหนึ่งในสะพานที่สร้างข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในพื้นที่แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีประวัติและที่มาควบคู่ไปกับสะพานดำรงสถิต หรือที่นิยมเรียกว่าสะพานเหล็ก ที่ข้ามคลองโอ่งอ่าง ในเขตพระนคร สะพานพิทยเสถียรตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงช่วงที่มาจากเขตบางรัก ในช่วงที่ตัดกับถนนมหาพฤฒาราม ที่มุ่งหน้ามาจากถนนพระราม 4 ใกล้กับแยกไมตรีจิตต์

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อโปรดให้ประกาศบอกบุญผู้ที่มีจิตศรัทธา ให้ช่วยกันสร้างสะพานข้ามคูคลองในพระนครนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงค์ (ช่วง บุนนาค) ได้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กคู่กับสะพานดำรงสถิต เรียกว่า "สะพานเหล็กล่าง" (ในขณะที่สะพานดำรงสถิต เรียกว่า "สะพานเหล็กบน") พื้นสะพานข้างล่างมีล้อ และรางเหล็กสำหรับเปิดสะพานให้แยกจากกันได้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้กรมโยธาธิการสร้างใหม่ในพุทธศักราช 2442 เป็นสะพานโครงเหล็กเปิดได้เช่นเดียวกันกับสะพานดำรงสถิต พระราชทานนามว่า "สะพานพิทยเสถียร" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งมีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สร้างเสร็จในพุทธศักราช 2443 ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ปรับปรุงสะพานนี้ใหม่ ซึ่งคือสะพานที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ระบุว่า "คลองผดุงกรุงเกษมได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณริมคลองเป็นตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ และโรงสี มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาจอดอยู่ตามริมคลองเป็นระยะ ถัดไปจนถึงสะพานพิทยเสถียรมีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตในประเทศและมาจากประเทศจีน และมีโรงสี โรงน้ำแข็ง โกดังสินค้าต่าง ๆ ตั้งรายสองฟากคลองไปจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยา"[1]

สภาพสะพานเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสถาปัตยกรรมแบบเวนีเชียน มีคานล่างเป็นรูปโค้ง สะพานนี้มีลวดลายตกแต่งประณีตงดงามมาก โดยเฉพาะเสาลูกกรง เสาโคมไฟฟ้าทั้ง 8 ต้น ตลอดจนลายหัวสิงห์ที่ปลายรอดสะพาน ทั้งสะพานพิทยเสถียรและสะพานดำรงสถิต ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยกรมศิลปากรตั้งแต่พุทธศักราช 2518[2] [3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. (กรุงเทพฯ: กองจดหมายเหตุแห่งชาติกรมศิลปากร, 2525. จัดพิมพ์เนื่องในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี), 596, 612.
  2. "สะพานพิทยเสถียร". ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-30. สืบค้นเมื่อ 2018-01-16.
  3. "รู้ยังอยู่ไหนบ้าง! ๑๗ สะพานสวยงามสร้างสมัย ร.๔ ร.๕ ร.๖ ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน!!". ผู้จัดการออนไลน์. 2017-07-12. สืบค้นเมื่อ 2018-01-16.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°43′55″N 100°30′55″E / 13.731850°N 100.515183°E / 13.731850; 100.515183

สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษมในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานนี้จงสวัสดี
สะพานพิทยเสถียร
ท้ายน้ำ
สถานีสูบน้ำกรุงเกษม